“แมลงหนอนปลอกน้ำ” การตรวจสอบคุณภาพน้ำเชิงชีวภาพ |
การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำเพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในสภาพที่มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแหล่งน้ำโดยตรง ทั้งนี้การตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการวัดค่าทางฟิสิกส์ เช่นความขุ่น-ใสของน้ำ หรือการวัดค่า COD BOD ซึ่งเป็นการวัดทางเคมี และยังมีการใช้ข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ การตรวจสอบคุณภาพน้ำในเชิงชีวภาพ ซึ่งสามารถสะท้อนคุณภาพโดยรวมของปัจจัยทุกชนิดในแหล่งน้ำได้เป็นอย่างดี การตรวจสอบคุณภาพน้ำในเชิงชีวภาพสามารถใช้สิ่งมีชีวิตเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แมลงน้ำ ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีจำนวนและชนิดมากที่สุด และเนื่องจากแมลงน้ำสามารถอยู่อาศัยได้ในแหล่งน้ำทุกรูปแบบ มีความทนทานต่อสภาวะมลพิษได้แตกต่างกัน เกาะอยู่กับที่หรือเคลื่อนที่ได้ไม่ไกลนัก ทำให้สามารถใช้ในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ได้ บางชนิดมีวัฎจักรชีวิตที่ยาวนาน ทำให้เห็นความแตกต่างของปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในช่วงเวลาที่ต่างกัน น.ส.เพ็ญศรี บรรลือ นักศึกษาปริญญาเอก ด้านความหลากหลายของแมลงหนอนปลอกน้ำ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การใช้แมลงน้ำในการประเมินคุณภาพน้ำนั้น จำเป็นจะต้องรู้ชนิดของแมลง การใช้แมลงหนอนปลอกน้ำตัวเต็มวัย ที่สามารถระบุชนิดได้จะทำให้ข้อมูลแม่นยำและเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการศึกษาแมลงหนอนปลอกน้ำในประเทศไทยถือว่ามีก้าวหน้ามาก เมื่อเทียบกับแมลงกลุ่มอื่นๆ โดยปัจจุบันสามารถจำแนกชนิดแมลงหนอนปลอกน้ำที่พบทั้งหมดในประเทศไทยได้ถึง 1,000 ชนิด กว่า 75% เป็นชนิดที่ค้นพบใหม่โดยสมาชิกในหน่วยวิจัยติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม นำโดย รศ.ดร.พรทิพย์ จันทรมงคล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังได้มีการรวบรวมข้อมูลแมลงหนอนปลอกน้ำในประเทศไทยเพื่อสร้างฐานข้อมูลให้สามารถนำไปใช้ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ได้ ด้าน น.ส. อรอุมา ศุภศรี นักศึกษาปริญญาโทด้านแมลงน้ำและคุณภาพน้ำ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สายวิชาวิทยาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ศึกษาการประยุกต์ใช้ตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำในการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำ แต่การใช้ตัวอ่อนยังมีอุปสรรคเนื่องจากไม่สามารถจำแนกชนิดของตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำได้ เพราะในช่วงตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของแมลงน้ำกลุ่มนี้มีลักษณะและถิ่นอาศัยแตกต่างกัน จึงได้ทำการศึกษาวิจัยความหลากชนิดของแมลงหนอนปลอกน้ำ ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ล่าสุดจากการเก็บตัวอย่างแมลงหนอนปลอกน้ำในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลองตอนบน และตอนล่าง ระหว่างเดือนกันยายน 2552 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบแมลงแมลงหนอนปลอกน้ำทั้งสิ้น 69 ชนิด จาก 12 วงศ์ 30 สกุล สามารถเชื่อมโยงตัวอ่อนที่ไม่รู้จักชนิดกับตัวเต็มวัยที่ทราบชนิดแล้ว 11 ชนิด ซึ่งเป็นการช่วยเติมเต็มองค์ความรู้เกี่ยวกับตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำ ที่ยังมีการศึกษาอยู่ไม่มากนักในประเทศไทย ไม่เพียงการเชื่อมโยงชนิดของตัวอ่อนกับตัวเต็มวัยเท่านั้น แต่การสำรวจเก็บตัวอย่างครั้งนี้ ยังพบความผิดปกติของสัณฐานวิทยาของกลุ่มเหงือกในตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำ โดยเกิดมีจุดดำขึ้นบนกลุ่มเหงือกและมีจำนวนเส้นเหงือกลดลง ทั้งนี้ ความผิดปกติดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับคุณภาพน้ำทางกายภาพและชีวภาพ เช่น ค่าการนำไฟฟ้า ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำ ค่าความเป็นด่างของน้ำ ปริมาณซัลเฟตที่ละลายอยู่ในน้ำ และปริมาณออร์โธฟอสเฟตที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งยังต้องมีการศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดลักษณะผิดปกติเหล่านี้ต่อไป” อรอุมา กล่าว องค์ความรู้ในเรื่องของความหลากหลายของแมลงกลุ่มนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจงานทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะได้มีการประมวลความรู้ในเรื่องของการใช้ข้อมูลทางชีวภาพร่วมกับข้อมูลทางกายภาพและเคมีในการประเมินคุณภาพน้ำ และถ้ามีการทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เราทราบข้อมูลทางด้านกายภาพ เคมีและชีวภาพของแหล่งน้ำที่เฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ในอนาคตอาจจะนำไปใช้เป็นนโยบายในการตัดสินคุณภาพน้ำผิวดินสำหรับประเทศไทยได้บ้าง
ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ แมลงหนอนปลอกน้ำ แมลงหนอนปลอกน้ำเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตสมบรูณ์ ประกอบด้วยไข่ ตัวอ่อน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ตัวอ่อน มีลักษณะคล้ายตัวหนอน บางพวกสร้างปลอกเพื่อพรางตัวและป้องกันอันตรายจากผู้ล่า โดยปลอกสร้างจากวัสดุที่แตกต่งกันไปแต่ละชนิด เช่น ก้อนหิน เศษใบไม้ เศษอินทรียวัตถุ กิ่งไม้ขนาดเล็ก บางพวกใช้เส้นไหมที่คล้ายๆ กับไหมของหนอนผีเสื้อ สร้างรังสำหรังอยู่อาศัยและตาข่ายสำหรับดักจับอาหารที่ถูกพัดพามากับกระแสน้ำ ตัวเต็มวัย มีปีก อาศัยอยู่บนบก บริเวณพืชริมฝั่ง มีลักษณะคล้ายกับผีเสื้อกลางคืนแต่ปากไม่ได้เป็นแบบหลอดดูด และไม่มีเกล็ดปกคลุมร่างกาย แมลงหนอนปลอกน้ำ นอกจากจะมีประโยชน์ในแง่เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำแล้ว และเป็นองค์ประกอบหลักและสำคัญในสายใยอาหารของระบบนิเวศลำธาร เป็นทั้งผู้ล่า และเหยื่อ เป็นอาหารของปลา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำลำธาร ตัวเต็มวัยของแมลงน้ำที่อาศัยอยู่ตามพืชริมฝั่ง เป็นอาหารให้แก่นก ค้างคาว และสัตว์กินแมลงอื่น ๆ
|
หอยนักล่าเป็นหอยทากบกมีกำเนิดบนโลกนี้มาราว 80-14... สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ | อังคาร, 30 พฤศจิกายน 2010 |
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Fibuloides khaonanensis Pinkaew,... สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ | ศุกร์, 24 กุมภาพันธ์ 2012 |
ชื่อวิทยาศาสตร์ Branchinella thailandensis Sanoam... สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ | พฤหัสบดี, 26 มกราคม 2012 |
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Orthomorpha communis Likhitrakar... สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ | พฤหัสบดี, 24 พฤษภาคม 2012 |
พี่มากขา...ไม่ใช่เสียงเรียกจากแม่นาคพระโขน... ความหลากหลายทางชีวภาพ | จันทร์, 25 พฤษภาคม 2009 |
ในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่ประมาณเดือนพฤษภาคม - ตุลาคม จะเ... ความหลากหลายทางชีวภาพ | จันทร์, 28 มิถุนายน 2010 |
จากการสำรวจเส้นทางหากินของนกชายเลน พบพื้นที่ชายฝั่... ความหลากหลายทางชีวภาพ | อาทิตย์, 11 กรกฏาคม 2010 |
พืชและสัตว์บริเวณเขตร้อนเมื่อเปรียบเทียบกับเขตอบอุ... ความหลากหลายทางชีวภาพ | ศุกร์, 27 พฤศจิกายน 2009 |
ความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดปริมา... ภาวะโลกร้อน | จันทร์, 5 เมษายน 2010 |
เชื่อหรือไม่ว่า สัตว์ป่าอย่างไก่ฟ้า ก็ได้รับผลกระท... ภาวะโลกร้อน | อังคาร, 15 มิถุนายน 2010 |
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมไ... ภาวะโลกร้อน | พฤหัสบดี, 27 พฤษภาคม 2010 |
ทีมวิจัยสาหร่ายทะเล และหญ้าทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานค... ภาวะโลกร้อน | อาทิตย์, 11 กรกฏาคม 2010 |