RocketTheme Joomla Templates
ปล้องอ้อยตะวันออก ปลาที่พบได้ที่เดียว PDF พิมพ์ อีเมล
พืชและสัตว์บริเวณเขตร้อนเมื่อเปรียบเทียบกับเขตอบอุ่นแล้วถือว่ามีความหลากหลายสูงมาก โดยเฉพาะในปลาน้ำจืด แม่น้ำอะมซอนและคองโกมีปลามากกว่า 1,300 ชนิด แต่แม่น้ำมิสซิสซิปปีซึ่งอยู่ในทวีปอเมริกามีเพียง 190 ชนิดเท่านั้น ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนเช่นกัน จึงไม่แปลกใจเลยที่ประเทศไทยจะมีความหลากหลายของปลาเป็นอย่างมาก ในปัจจุบัน ทรัพยากรทางน้ำได้ถูกทำลายลงไปอย่างมาก ทำให้ที่อยู่อาศัยของปลาได้ถูกทำลายลงไปเช่นกัน ปลาบางชนิดสูญพันธุ์ บางชนิดลดปริมาณลงจนเป็นปลาที่พบได้ยาก และปลาที่อยู่ในสกุล Pangio ก็พบได้ยากอีกชนิดหนึ่ง

ปลาในสกุล Pangio ถูกพบครั้งแรกบริเวณลุ่มน้ำทางใต้ของประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย มีทั้งหมด 10 ชนิด ปลาในสกุลนี้มีขนาดเล็กถึงเล็กมาก มีขนาดของลำตัวที่ยาวถึงยาวมาก พฤติกรรมของแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปตามที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำนิ่งหรือน้ำไหลปานกลาง ในประเทศไทยในบริเวณพื้นที่ป่าพรุพบทั้งหมด 6 ชนิด และการสำรวจบริเวณพื้นที่เขตตะวันออก ในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด ได้พบปลาในสกุลนี้คือชนิด Pangio myersi หรือปล้องอ้อยตะวันออก ปลาชนิดนี้พบได้เฉพาะในภาคตะวันออกของประเทศไทยเท่านั้น

 

Pangio myersi คลองพลู ระยอง

ปล้องอ้อยตะวันออกสังเกตได้ง่าย ๆ จากสีสันบนลำตัว มีลายขวางประมาณ 8-11 ลาย สีดำสลับส้ม ปล้องอ้อยตะวันออกจะมีสีดำมากกว่าสีส้ม (ซึ่งต่างจากปล้องอ้อย (Pangio kuhlii) ที่จะมีสีส้มที่ชัดเจนกว่า) ที่ครีบหางมีสีดำหรือมีแถบสีคล้ำตามแนวก้านครีบหาง ขนาดใหญ่สุดประมาณ 10 เซนติเมตร พบได้ในแถบภาคตะวันออกของประเทศไทยเท่านั้น

ปลาปล้องอ้อยตะวันออกมีความสวยงามมาก ทำให้เกิดการจับไปเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันในการทำการสำรวจชนิดของปลาต่างๆ บริเวณภาคตะวันออกของประเทศไทย ได้พบปลาชนิดนี้น้อยมาก คาดว่าถ้าไม่เกิดการอนุรักษ์และเผยแพร่ปลาชนิดนี้ให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ จะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ขึ้นได้


ข้อมูล/ภาพ นางสาว เพียงใจ  ชนินทรภูมิ และ Prof. F.W.H. Beamish
ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา


 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 52 บุคคลทั่วไป ออนไลน์