RocketTheme Joomla Templates
กิ้งกือตะเข็บ 4 ชนิดใหม่ของโลก PDF พิมพ์ อีเมล

นายณัฐดนัย ลิขิตตระการ และ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการสนับสนุนของโครงการ BRT พบกิ้งกือตะเข็บ 4 ชนิดใหม่ของโลก จากหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศไทย

กิ้งกือตะเข็บเป็นกิ้งกือขนาดเล็กที่มีปล้องเพียง 20 ปล้องเท่านั้น ไม่มีตา ใช้หนวดในการสัมผัส ด้านข้างลำตัวจะมีหนามเล็กยื่นออกมา 2 ข้างในทุกๆ ปล้อง เนื่องจากมีขนาดเล็กจึงทำให้กิ้งกือกลุ่มนี้มีความหลากหลายสูงมาก และมีจำนวนชนิดมากที่สุดในกลุ่มกิ้งกือ ประมาณ 50% ของกิ้งกือทั้งหมด โดยปกติจะอาศัยอยู่ในดิน และไม่เคลื่อนที่ไปไหนไกลจึงทำให้กิ้งกือตะเข็บเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (Endemic species)

จากการเก็บตัวอย่างกิ้งกือตะเข็บทั่วประเทศไทย เพื่อทำการศึกษาอนุกรมวิธานของกิ้งกือตะเข็บในประเทศไทย พบกิ้งกือตะเข็บ 4 ชนิดใหม่ของโลก ได้แก่ Orthomorpha enghoffi sp. n. พบที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดเลย ลำตัวสีดำ มีหนามด้านข้างสีครีม, Orthomorpha alutaria sp. n. พบที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ลำตัวสีดำ มีหนามด้านข้างสีส้มแดง, Orthomorpha parasericata sp. n. พบที่อำเภอคีรีรัตน์นิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลำตัวสีดำ มีหนามด้านข้างสีส้มเหลือบชมพู และ Orthomorpha asticta sp. n. พบที่เกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล และรัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย ลำตัวสีดำ หนามข้างลำตัวสีเหลือง การพบชนิดเดียวกันบนแผ่นดินที่รัฐปะลิด ประเทศมาเลเซีย และบนเกาะตะรุเตา สามารถใช้สนับสนุนข้อมูลทางธรณีวิทยาที่ว่าในอดีตพื้นที่บริเวณนี้เคยเชื่อมต่อเป็นแผ่นดินเดียวกัน และคาดว่ากิ้งกือกลุ่มที่พบบนเกาะตะรุเตาจะสามารถวิวัฒนาการจนกลายเป็นกิ้งกือตะเข็บชนิดใหม่ในอนาคต

Orthomorpha enghoffi sp. n.        Orthomorpha alutaria sp. n.

Orthomorpha parasericata sp. n. Orthomorpha asticta sp. n.

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 131 บุคคลทั่วไป ออนไลน์