ความหลากหลายของสโตนฟลาย (Order Plecoptera) ในเขตป่าทองผาภูมิ |
สโตนฟลาย (Stoneflies) เป็นแมลงที่จัดอยู่ในอันดับ Plecoptera ตัวอ่อนของสโตนฟลายทุกระยะอาศัยอยู่ในน้ำไหลที่มีอุณหภูมิค่อนข้างเย็นและคุณภาพน้ำค่อนข้างดีจึงมีการใช้สโตนฟลายเป็นตัวบ่งชี้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำเช่นเดียวกันกับแมลงอีก 2 กลุ่มคือ อันดับ Ephemeroptera (ชีปะขาว) และ Trichoptera (แมลงหนอนปลอกน้ำ) เรียกรวมกันว่า EPT (Ephemeroptera Plecoptera Trichoptera) แต่เนื่องจากสโตนฟลายส่วนใหญ่จะมีความไวต่อสภาพแวดล้อมมากกว่าชีปะขาวและแมลงหนอนปลอกน้ำ ดังนั้นสโตนฟลายจึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญในการวัดคุณภาพน้ำโดยการใช้แมลงน้ำ นอกจากนี้ตัวอ่อนสโตนฟลายที่อาศัยอยู่ในน้ำยังมีความสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำตามธรรมชาติอีกด้วย จากการศึกษาสโตนฟลายในแหล่งน้ำไหลในเขตพื้นที่ทองผาภูมิตะวันตก พบตัวอ่อนสโตนฟลายทั้งหมด 3 วงศ์ 1 วงศ์ย่อย 8 สกุล 9 ชนิด เมื่อนำมาเปรียบเทียบความหลากชนิดระหว่างแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ถูกรบกวนกับแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนพบว่ามีความแตกต่างกันเล็กน้อย โดยสโตนฟลายที่พบในพื้นที่ที่ถูกรบกวนมี 7 ชนิด ในขณะที่พื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนพบ 8 ชนิด ชนิดที่พบเฉพาะพื้นที่ที่ถูกรบกวนคือ Amphinemura sp. และชนิดที่พบเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนคือ Phanoperla sp. และ Indonemoura sp. สรุปได้ว่า Amphinemura sp. เป็นชนิดที่มีความทนต่อมลภาวะในพื้นที่ที่ถูกรบกวนได้ ในขณะที่ Phanoperla sp. และ Indonemoura sp. มีความอ่อนไหวต่อมลภาวะและจำกัดแหล่งอาศัยอยู่เฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนเท่านั้น
Amphinemura sp.สโตนฟลายที่ทนต่อมลภาวะและพบเฉพาะในพื้นที่ที่ถูกรบกวนเท่านั้น
Phanoperla sp. (ซ้าย) Indonemoura sp.(ขวา) สโตนฟลายสองชนิดนี้มีความไวต่อมลภาวะและพบเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกรบกวนเท่านั้น
เรื่อง/ภาพ : จริยา จันทร์ไพแสง, จำนงจิต ผาสุข และ กรกต ดำรักษ์
ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
|