RocketTheme Joomla Templates
ประวัติความเป็นมาชุดโครงการ "ป่าเมฆ-เขานัน" PDF พิมพ์ อีเมล
         "ป่าเมฆ " หรือ "Cloud Forest " เป็นป่าที่มีเมฆหมอกปกคลุมตลอดทั้งปี  ก่อให้เกิดระบบนิเวศที่มีความพิเศษ พรรณไม้ที่พบจะมีความสูงไม่มากนัก ลำต้นปกคลุมด้วยพรรณไม้ขนาดเล็กที่ต้องการความชุ่มชื้นสูงอย่างหนาแน่น เช่น มอส เฟิร์น และลิเวอร์เวิร์ต ซึ่งมีความสามารถพิเศษในการดูดซับความชื้น แล้วค่อยๆ ปล่อยสู่ผืนป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ "ป่าเมฆ" จึงได้รับการบรรจุเป็นวาระสำคัญระดับโลกหรือ "Cloud Forest Agenda" โดยองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายองค์กร เพื่อสนับสนุนการจัดการ การอนุรักษ์และการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าเมฆ ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการเกิดสภาวะโลกร้อน (global warming) ที่เป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน  ป่าเมฆพบทั่วไปในพื้นที่ป่าใกล้แถบศูนย์สูตร  ในประเทศไทยพบเพียงไม่กี่แห่ง  จึงต้องเร่งศึกษาวิจัยเพื่อหาข้อมูลพื้นฐานในการบริหารจัดการและการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารอย่างยั่งยืน


       โครงการ BRT ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นดังกล่าว จึงได้พัฒนาชุดโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ขึ้นภายใต้ชื่อ "ชุดโครงการวิจัยป่าเมฆ" โดยเลือกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขานัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีระบบนิเวศป่าเมฆเป็นพื้นที่ศึกษา ชุดโครงการวิจัยดังกล่าวมีระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ 2549-2551)  เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างบูรณาการทั้งทางด้านชีวภาพและกายภาพ เพื่อสำรวจและประมวลองค์ความรู้พื้นฐานในระบบนิเวศป่าเมฆ รวมทั้งปัจจัยทางกายภาพต่างๆ เช่น ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ปริมาณความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน ข้อมูลดิน และน้ำ เป็นต้น เพื่ออธิบายการเกิดป่าเมฆและความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตในป่าเมฆ


       ชุดโครงการดังกล่าวนอกจากมีโครงการ BRT เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งแล้ว ยังได้สร้างหุ้นส่วนร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงบรรษัทหรือของธุรกิจ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกับโครงการ BRT ในการค้นหาความรู้เกี่ยวกับป่าเมฆ ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศท้องถิ่น (local climate change) และภูมิอากาศโลก (global climate change) เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้กำหนดนโยบายในการเฝ้าระวังและวางแนวทางในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์อย่างยั่งยืน

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 209 บุคคลทั่วไป ออนไลน์