RocketTheme Joomla Templates
“ดอกไม้ทะเลสีทอง” ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง PDF พิมพ์ อีเมล

            จากข่าวที่ปรากฏตามสื่อมวลชนต่างๆ ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ถึงเรื่องการพบ “ดอกไม้ทะเลสีทอง” ที่ถูกคลื่นซัดมาติดบริเวณชายฝั่งทะเล ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรีนั้น ทางสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาและศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้ติดตามและตรวจสอบข้อมูลพบว่า ดอกไม้ทะเลสีทองที่พบคือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกปะการังอ่อน (Soft corals) ในวงศ์ Alcyoniidae มีชื่อเรียกทั่วไปว่า “ปะการังอ่อนดอกเห็ด” Sarcophyton sp.

          ปะการังอ่อนชนิดนี้มีลักษณะคล้ายแผ่นหนัง มีความเหนียวแต่อ่อนนุ่ม เมื่อเต่งตัวจะมีลักษณะคล้ายดอกเห็ดขนาดใหญ่และมีตัวปะการังที่เรียกว่า “โพลิป” (Polyp) ยื่นออกมาจากเนื้อเยื่อส่วนบน แต่ละโพลิปจะมีหนวด 8 เส้น คอยจับแพลงก์ตอนในน้ำทะเลกินเป็นอาหาร ซึ่งจะพบปะการังอ่อนชนิดนี้แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ปกติจะพบเป็นแผ่นกระจายตัวอยู่ห่างๆ กัน ไม่พบขึ้นหนาแน่นเหมือนกับที่พบในบริเวณชายฝั่งทะเลค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า

         โดยปกติแล้วปะการังอ่อนชนิดนี้จะมีสีน้ำตาลทองถึงสีน้ำตาลเข้ม อันเนื่องมาจากสาหร่าย “ซูแซนเทลลี” (Zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการัง การดำรงชีวิตของสาหร่ายและปะการังเป็นแบบพึ่งพาอาศัยกัน (Symbiosis) โดยสาหร่ายจะทำการสังเคราะห์แสงได้ผลผลิตเป็นออกซิเจนส่งให้ปะการังนำไปใช้ในขบวนการต่างๆ ขณะเดียวกันของเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากปะการังจะส่งต่อให้สาหร่ายนำไปใช้ในขบวนการสังเคราะห์แสง การดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันระหว่างสาหร่ายและปะการังนี้ในสภาพปกติจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง ปะการังอ่อนจะไม่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ มันจะขับเอาสาหร่ายซูแซนเทลลีออกมาทำให้ตัวมันเองมีสีซีดจางลงจนค่อยๆ กลายเป็นสีขาวและจะตายในที่สุด ปรากฏการณ์เช่นนี้ เราเรียกว่า “ปะการังฟอกขาว” (Coral bleaching) แต่ถ้าสภาพแวดล้อมกลับมาดีขึ้น เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงจนอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต ปะการังอ่อนจะชักนำสาหร่ายซูแซนเทลลีกลับเข้ามาดำรงชีวิตอยู่ดังเดิม

         ปะการังอ่อนดอกเห็ดหรือที่เรียกกันว่า “ดอกไม้ทะเลสีทอง” ที่ถูกคลื่นซัดลอยมาติดบริเวณชายฝั่งทะเล ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้านี้ เป็นผลจากปะการังฟอกขาวเช่นกัน คาดว่าน่าจะเป็นผลต่อเนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญา (La Ni?a) และการที่มีน้ำทะเลลงจัด (Low tide) จนทำให้ปะการังโผล่พ้นน้ำเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งปะการังอ่อนดอกเห็ดที่ดำน้ำสำรวจพบในทะเลเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2549 ยังไม่อยู่ในระยะฟอกขาวโดยสมบูรณ์จะยังมีสีน้ำตาลทองอยู่ ในขณะที่ปะการังแข็งบางชนิดเกิดการฟอกขาวโดยสมบูรณ์ จึงได้แต่หวังว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นเหตุให้เกิดปะการังฟอกขาวนี้จะแปรเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และ “ดอกไม้ทะเลสีทอง” ของเราจะกลับมาสู่ชีวิตที่ปกติสุขตามเดิม
 

ปะการังอ่อนดอกเห็ด “ดอกไม้ทะเลสีทอง” Sarcophyton sp. ที่พบทั่วไป

 


ปะการังอ่อนดอกเห็ดกำลังฟอกขาวบางส่วน จากการสำรวจเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2549
ภาพ : อัญชลี จันทร์คง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยฝั่งตะวันออก

 
ปะการังช่องเหลี่ยม Favites sp. ที่พบในบริเวณเดียวกันฟอกขาวโดยสมบูรณ์ สำรวจเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2549
ภาพ : อัญชลี จันทร์คง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยฝั่งตะวันออก

เรื่อง : สุเมตต์ ปุจฉาการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 79 บุคคลทั่วไป ออนไลน์