RocketTheme Joomla Templates
การค้นพบสาหร่ายสีแดงน้ำจืดแห่งลุ่มน้ำทองผาภูมิ PDF พิมพ์ อีเมล

สาหร่ายสีแดงเป็นสาหร่ายขนาดใหญ่ที่พบน้อยมากในน้ำจืด  สาหร่ายเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่จำเพาะ เช่น สารอาหารค่อนข้างต่ำ ปริมาณแสงน้อย อุณหภูมิของน้ำต่ำ ดังนั้นจึงมักพบสาหร่ายน้ำจืดสีแดงในบริเวณต้นน้ำ  และอีกประการหนึ่งการศึกษาสาหร่ายกลุ่มนี้ในประเทศไทยยังมีน้อยมาก

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่โครงการวิจัยเรื่องความหลากหลายของสาหร่ายขนาดใหญ่และไดอะตอมพื้นท้องน้ำ ในพื้นที่โครงการทองผาภูมิ 72 พรรษามหาราช อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ได้พบสาหร่ายสีแดงน้ำจืดเป็นจำนวนมากทั้งชนิดและปริมาณ โดยพบถึง 8 ชนิด และพบว่ามีถึง 5 ชนิด เป็นชนิดที่พบใหม่ (new record) และยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนในประเทศไทย

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ สาหร่ายสีแดงน้ำจืด Batrachospermum gelatinosum (Linnaeus) de Candolle ซึ่งพบเป็นจำนวนมากเหมือนป่าสาหร่ายสีแดง สาหร่ายดังกล่าวกระจายตัวครอบคลุมทั่วทั้งจุดเก็บตัวอย่างในลำธารบริเวณเขาจ๊อกต่อง พื้นที่อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ  ลักษณะสำคัญของสาหร่ายชนิดนี้คือ มีลักษณะเป็นพุ่มสีเขียวเข้ม ขนาดของแต่ละพุ่มประมาณ 0.1-0.2  เซนติเมตร เมื่อจับจะรู้สึกลื่นมือ และเมื่อนำมาศึกษาภายใต้กล้องจุลทรรศน์จะพบทัลลัสที่สวยงาม โดยมีลักษณะเป็นเส้นสายเล็กๆ ที่แตกแขนงได้ คล้ายลูกปัดเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบ นอกจากนี้สาหร่ายชนิดนี้ยังสามารถนำมาใช้ในการติดตามตรวจสอบน้ำที่มีคุณภาพดีได้อีกด้วย

 

พบสาหร่ายสีแดงน้ำจืดจำนวนมาก ในลำธารบริเวณเขาจ๊อกต่อง




สาหร่ายสีแดงน้ำจืด Batrachospermum gelatinosum (Linnaeus) de Candolle ภายใต้กล้องจุลทรรศน์

 


ข้อมูล/ภาพ : สุทธวรรณ สุพรรณ
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 85 บุคคลทั่วไป ออนไลน์