RocketTheme Joomla Templates
“ทากเปลือย” สัตว์ทะเลตัวน้อยนิดที่มีความสำคัญยิ่ง PDF พิมพ์ อีเมล

“ทากเปลือย” หรือ “Nudibranch” จัดเป็นสัตว์ทะเลในกลุ่มหอยไม่มีเปลือกห่อหุ้ม  ส่วนมากดำรงชีวิตอยู่บริเวณพื้นท้องทะเล ซึ่งพบได้ทั้งในแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล บริเวณพื้นทราย ใต้ก้อนหิน ซากปะการัง หรืออื่นๆ  ทากเปลือยมี “cerata” ชูช่ออยู่บริเวณส่วนหลังของลำตัว โดยลักษณะที่แตกต่างกันของ cerata สามารถนำไปใช้ในการจำแนกกลุ่มหรือชนิดได้  บริเวณส่วนหัวของลำตัวมีอวัยวะรับสัมผัสที่เรียกว่า “rhinophores” ที่เป็นประสาทสัมผัสกลิ่นและรสในน้ำทะเลเพื่อใช้หาอาหาร รวมถึง การหาคู่  ซึ่ง rhinophores นี้มีรูปร่างหลากหลายเช่นกัน  ทากเปลือยมีหลายขนาด ขนาดเล็กตั้งแต่ 2 มิลลิเมตร ขึ้นไปจนกระทั่งถึง 30 เซนติเมตร  จัดเป็นสัตว์กินเนื้อที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังต่างๆ ทั้ง ฟองน้ำ ปะการังอ่อน ดอกไม้ทะเล ปากกาทะเล ไบรโอซัว เพรียงหัวหอม หรือ ไฮดรอยด์ เป็นต้น  การที่ทากเปลือยไม่มีเปลือกแข็งห่อหุ้มร่างกาย จึงใช้สีสันของลำตัวเลียนแบบสีของสัตว์ชนิดอื่น เช่น หนอนตัวแบน เพื่อการพรางตัวจากศัตรู  นอกจากนั้น ทากเปลือยยังสามารถสร้างสารทุติยภูมิซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพเก็บสะสมไว้ในร่างกาย เพื่อป้องกันตนเองจากผู้ล่าด้วย  สารชีวภาพที่สะสมในร่างกายส่วนใหญ่ได้รับมาจากอาหารตามธรรมชาติ  ซึ่งมีสารหลายชนิดที่ฤทธิ์ในการต้านเซลล์มะเร็ง เช่น สารในกลุ่ม renieramycins ที่สกัดได้จากทากเปลือย Jorunna funebris ที่กินฟองน้ำสีน้ำเงิน Xestospongia sp. เป็นอาหาร  ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ภาควิชาเภสัชเวช คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังดำเนินการศึกษา

จากการศึกษาความหลากหลายของทากเปลือย บริเวณเกาะแตน อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้  พบทากเปลือย ทั้งหมด 11 ชนิด จาก 7 ครอบครัว  ทากเปลือยกลุ่มเด่นที่พบบริเวณนี้ ได้แก่ ทากเปลือย Jorunna funebris และ ทากปุ่มชนิดต่างๆ ในครอบครัว Phyllidiidae

ถึงแม้ว่าทากเปลือยเป็นสัตว์ที่มีขนาดที่เล็กเมื่อเทียบกับสัตว์กลุ่มอื่นในแนวปะการัง  แต่ทากเปลือยก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศเช่นกัน  โดยทากเปลือยสามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศนั้นๆ ได้  ปัจจุบัน ทากเปลือยเป็นกลุ่มของสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังอีกกลุ่มหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญ จากการที่ทากเปลือยหลายชนิดสามารถผลิตสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพในการต้านเซลล์มะเร็งหลายชนิดได้ดังกล่าวข้างต้น  ทั้งยังเป็นสัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการศึกษาเกี่ยวกับสรีรวิทยาของสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง เนื่องจากความอ่อนนุ่มของลำตัว ซึ่งทำให้สามารถสังเกตอวัยวะภายในได้โดยง่าย

ทากเปลือย หรือ Nudibranch

บรรณานุกรม
ณรงค์พล  สิทธิทวีพัฒน์.  2544.  การศึกษาชนิดและการแพร่กระจายของทากเปลือยในแนวปะการังของประเทศไทย.  วิทยานิพนธ์.  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  250 หน้า.
นำพร  อินสิน, พงศ์พโยม  พหุลรัต, และ ลัดดา  เตชะวิริยะทวีสิน.  2548.  การวิเคราะห์ชนิดและปริมาณของสารกลุ่มบิสเตตราไฮโดรไอโซควิโนลีนแอลคาลอยด์จากทากเปลือย Jorunna funebris ด้วย HPLC.  โครงการปริญญานิพนธ์.  คณะเภสัชศาสตร์.  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  36 หน้า.
Coleman, N.  2001.  1001 Nudibranchs : Catalogue of Indo-Pacific Sea Slugs.  Agency Limited. Springwood, Australia.  144 pp.
Marshall, J.G. and R.C. Willan,  1999.  Nudibranchs of Heron Island, Great Barrier Reef.  Backhuys Publishers Leiden, Netherlands.  257 pp.
Suwanborirux, K. and S. Amnuoypol.  2003.  Chemistry of renieramycins Part 3 : Isolation and structure of stabilized renieramycin type derivatives possessing antitumor activity from Thai sponge Xestospongis sp., pretreated with potassium cyanind.  Journal of Natural Product, 66 : 1441-1446.
Thompson, T.E.  1976.  Biology of Opisthobranch Molluscs Volume 1.  The Ray Society, London. 207 pp.

เรื่องและภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุชนา  ชวนิชย์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 50 บุคคลทั่วไป ออนไลน์