RocketTheme Joomla Templates
เมือกกบต้านมะเร็ง PDF พิมพ์ อีเมล

ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของชนิดสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ทั้งกบ เขียด คางคก และอึ่งอ่าง มีทั้งชนิดที่หายากและชนิดที่รายงานการค้นพบครั้งแรก ซึ่งสัตว์กลุ่มนี้นอกจากจะมีประโยชน์ในด้านการเป็นอาหารมนุษย์และมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศแล้ว ล่าสุดยังมีการค้นพบว่าเมือกกบมีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์และแบคทีเรีย  รวมทั้งฆ่าเซลล์มะเร็งบางชนิดได้

ผศ.ดร.วิเชฏฐ์  คนซื่อ นักวิชาการหน่วยวิจัยสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน  ภาควิชาชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ต่อมเมือกกบมีความสามารถในการดักจับเชื้อโรคต่างๆ  และยังเป็นแหล่งสังเคราะห์สารเคมีหลายชนิดไว้ต่อสู้กับการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา  เพราะตามธรรมชาติของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในกลุ่มกบ  มีถิ่นอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลาย   และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในแหล่งน้ำที่มีความสกปรกและมีเชื้อโรคมากโดยไม่ได้ รับอันตราย  ดังนั้น  ในผิวหนังกบจึงหลั่งสารบางชนิดที่ต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์และทำลายแบคทีเรีย ได้ดี

เป็นโชคดีที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้สภาพแวดล้อมที่กบอาศัยอยู่มีความแตกต่างกัน เช่น  ในน้ำ  ในดิน  บนบก  และบนต้นไม้  ซึ่งจะทำให้ได้รับสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคเข้าไปในร่างกายแตกต่างกันด้วย   กบแต่ละชนิดก็จะสร้างสารต่อต้านเชื้อโรคต่างๆ  ซึ่งผลทดสอบในเบื้องต้นพบว่ามีสารต่อต้านจุลินทรีย์   สารบางชนิดในเมือกกบยังทำลายเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย   จากนี้ไปก็จะนำองค์ความรู้นี้ไปพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเป็นยารักษาโรคใน อนาคต  และมีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูง

ทั้งนี้ การนำกบมารับประทานแบบทั่วไปไม่สามารถช่วยรักษาโรคได้  แต่จะต้องนำความรู้หรือเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมขั้นสูงเข้ามาช่วย   เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในโปรตีนจากเมือกกบ ให้ร่างกายมนุษย์สามารถรับได้

ดร.ภัทรดร  ภิญโญพิชญ์  ภาควิชาชีววิทยา  คณะวิทยาศาสตร์  จุฬาฯ  ผู้วิจัยสายโปรตีนในเมือกกบ กล่าวว่า   กบแต่ละตัวจะมีสารคัดหลั่งหลายชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ จุลินทรีย์  และกำจัดเซลล์มะเร็งบางชนิดที่เพาะเลี้ยงขึ้นในห้องทดลอง ซึ่งในอนาคตจะผลิตสารสกัดดังกล่าวขึ้นมาเอง  โดยไม่ต้องสกัดสารจากเมือกกบโดยตรง  เพราะกบบางชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง  จึงต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อโคลนนิ่งสารในเมือกกบ  เพื่อนำไปใช้ในทดลองกับสัตว์และมนุษย์  ทั้งนี้  ผลทดสอบความเป็นพิษ  ปรากฏว่าสารสกัดมีพิษอยู่ในระดับต่ำมาก  และมีปัญหาดื้อยาน้อยกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะ


ข้อมูลจาก : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพุธที่ 5 สิงหาคม 2552

สนับสนุนงานวิจัยโดย : โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT)

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 47 บุคคลทั่วไป ออนไลน์