RocketTheme Joomla Templates
“ทากเปลือย” หอยทะเลผู้ไร้เปลือก PDF พิมพ์ อีเมล

        ทากเปลือยหรือทากทะเล (Nudibranch) จัดอยู่ในกลุ่มของหอยที่ไม่มีเปลือกขนาดเล็ก อยู่ใน Order Nudibranchia โดยปกติทากเปลือยมีรูปร่างลักษณะที่หลากหลาย และมีสีสันสวยสดงดงาม จึงเป็นที่ดึงดูดสำหรับบรรดานักถ่ายภาพใต้น้ำ สีสันเหล่านี้บ่งบอกถึงความเป็นพิษที่สะสมอยู่ในตัวของมัน เนื่องจากทากเปลือยไม่มีโครงสร้างแข็งปกคลุมลำตัวที่อ่อนนิ่ม สารพิษที่สะสมอยู่นั้นจึงเป็นเสมือนเครื่องมือปกป้องจากการถูกล่าของสัตว์อื่น

        ทากเปลือยโดยทั่วไปมีอายุไม่เกินหนึ่งปี มีบางชนิดที่หลังจากวางไข่แล้วก็จะตายทันที ขนาดโตเต็มวัยมีตั้งแต่ขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตร จนถึงขนาด 23 เซนติเมตร อาหารของทากเปลือยแต่ละชนิดแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นพวกฟองน้ำ ไฮดรอยด์ สาหร่ายทะเล ดอกไม้ทะเล หรือแม้กระทั่งปะการัง โดยสามารถพบทากเปลือยได้ตั้งแต่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลงจนกระทั่งลึกลงไปถึง 1,000 เมตร นอกจากนั้นแล้วยังพบทากเปลือยได้ในระบบนิเวศอันหลากหลายๆ เช่น บริเวณป่าชายเลน หาดทราย หาดหิน แหล่งหญ้าทะเล แนวปะการัง และกลางทะเลลึก

        ทากเปลือยมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่ของอาหารในทะเล เช่น ช่วยควบคุมการกระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจำพวกไบรโอซัว (Bryozoa) ในทะเลได้ นอกจากนั้นแล้วในปัจจุบันพบว่าทากเปลือยบางชนิดสามารถสร้างสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทางทะเลซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพเป็น “สารต้านมะเร็ง” โดย ทากเปลือยโจรันนา Jorunna funebris ที่พบกระจายในน่านน้ำไทย ซึ่งกินฟองน้ำสีน้ำเงินเป็นอาหาร สามารถสร้างสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้ และในขณะนี้ภาควิชาเภสัชเวช คณะเภสัชศาสตร์ ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังดำเนินการศึกษาอยู่

ทากเปลือย

ทากเปลือยหรือทากทะเล (Nudibranch) ชนิดหนึ่งที่มีสีสัน
สะดุดตาเพื่อบอกผู้ล่าถึงพิษภัยในตัว

 

 

Jorunna funebris
ทากเปลือยโจรันนา Jorunna funebris ที่พบว่าสามารถสร้างสาร
ที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งกำลังกิน ฟองน้ำสีฟ้า Halichondria sp.

เรื่องและภาพ : สุชนา ชวนิชย์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 65 บุคคลทั่วไป ออนไลน์