RocketTheme Joomla Templates
“ไรน้ำ” อาหารสัตว์น้ำสายพันธุ์ใหม่ในห้วยเขย่ง PDF พิมพ์ อีเมล


ไรน้ำ (water flea) เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กกลุ่มหนึ่งที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ เมื่ออยู่เดี่ยวๆ มักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่หากอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก็จะสามารถมองเห็น มีลักษณะคล้ายลูกน้ำสีขาวใส ลอยเป็นแพอยู่ในแหล่งน้ำ  ไรน้ำมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากความสำคัญในระบบนิเวศแหล่งน้ำดังกล่าวแล้ว เรายังพบไรน้ำบางชนิดอาศัยอยู่เฉพาะในบางแหล่งน้ำเท่านั้น จึงมีการประยุกต์ใช้ไรน้ำบางชนิดเป็นตัวประเมินคุณภาพของแหล่งน้ำได้เบื้องต้นอีกด้วย 

ไรน้ำพบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำจืด ซึ่งจำนวนชนิดที่พบอาจแตกต่างกันในแต่ละแหล่งน้ำ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางกายภาพและเคมีของแหล่งน้ำนั้นๆ   จากการศึกษาลำน้ำห้วยเขย่ง ห้วยทึม ห้วยภู จนถึงปลายลำน้ำที่เชื่อมต่อกับเขื่อนเขาแหลม พบไรน้ำทั้งสิ้น 40 ชนิด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนิ่ง ได้แก่ หนองน้ำ สระ บึง และอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะบริเวณที่มีพืชน้ำหรือสาหร่ายขึ้นปกคลุมอย่างหนาแน่น  บริเวณที่พบไรน้ำมากที่สุดได้แก่ ปลายลำน้ำที่เชื่อมต่อกับเขื่อนเขาแหลม  พบหนาแน่นที่สุดในเดือนกันยายน และชนิดที่พบมาก คือ Ceriodaphnia cornuta, Diaphanosoma excisum, D. sarsi, และ Simocephalus mesorostris โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความหนาแน่นและการแพร่กระจายของไรน้ำในห้วยเขย่ง ได้แก่ ค่าการนำไฟฟ้า อัตราการไหลของน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง และอุณหภูมิ

จากการศึกษาข้างต้นสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการขยายผลทางเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดยการนำไรน้ำชนิดที่เหมาะสม ได้แก่ Diaphanosoma excisum และ Simocephalus mesorostris มาเพาะเลี้ยงเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนในตำบลห้วยเขย่ง เนื่องจากไรน้ำทั้งสองชนิดพบได้ชุกชุมและกระจายอยู่ทั่วไปในหลายแหล่งน้ำภายในห้วยเขย่ง ได้แก่ สระบัวบ้านไร่ป้า ห้วยทีโพสะทอรา ห้วยน้ำขุ่น ฝายปากลำปิล็อก ไร่วิฑูรย์ บ้านเตาถ่าน และปากแม่น้ำที่เชื่อมต่อกับเขื่อนเขาแหลม  ดังนั้นหากเกษตรกรในตำบลห้วยเขย่งต้องการลดต้นทุนการสั่งซื้ออาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนพวกลูกกุ้ง ลูกปลา หรือลูกอ๊อดแล้ว  ก็สามารถใช้ไรน้ำดังกล่าวมาเพาะเลี้ยงเป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนได้ เพราะนอกจากเกษตรกรสามารถหาแม่พันธุ์ไรน้ำได้ง่ายภายในท้องถิ่นแล้ว ขนาดลำตัวของไรน้ำทั้งสองชนิดยังโตกว่าไรน้ำชนิดอื่นๆ ที่พบในบริเวณเดียวกัน รวมทั้งขนาดใหญ่และพบง่ายกว่าไรแดงซึ่งมักนิยมเลี้ยงในท้องตลาด  จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และเป็นทางเลือกแรกๆ สำหรับเกษตรกรที่จะใช้ไรน้ำทั้งสองชนิดมาเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนทดแทนการใช้ไรแดงในพื้นที่ห้วยเขย่งอีกด้วย

ส่วนอาหารที่ใช้เลี้ยงไรน้ำ ได้แก่ สาหร่ายขนาดเล็กและแพลงก์ตอนพืช หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “น้ำเขียว” นั่นเอง นอกจากนี้สิ่งที่ต้องคำนึงระหว่างการเพาะเลี้ยงไรน้ำทั้งสองชนิดนี้คือ การควบคุมสภาวะแวดล้อมภายในแหล่งน้ำที่เพาะเลี้ยงให้มีสภาพใกล้เคียงกับธรรมชาติที่ไรน้ำทั้งสองชนิดอาศัยอยู่ให้มากที่สุด ได้แก่

Diaphanosoma excisum มักพบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีสภาพเป็นด่าง (pH 7.0-8.3) อุณหภูมิค่อนข้างสูง (29-31องศาเซลเซียส) และสภาพการนำไฟฟ้าปานกลาง (125-264 uS cm-1)
Simocephalus mesorostris มักพบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีสภาพเป็นกรด (pH 6.6-7.0) อุณหภูมิค่อนข้างต่ำ (26-29 องศาเซลเซียส) และสภาพการนำไฟฟ้าปานกลาง (125-264 uS cm-1)

เพราะหากลืมข้อจำกัดดังกล่าวแล้วอาจจะส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งด้านการเจริญเติบโตของไรน้ำไม่เต็มที่  ลำตัวไม่ได้ขนาด  ตลอดทั้งไรน้ำที่ได้มีความหนาแน่นต่ำ ปริมาณไม่เพียงพอสำหรับใช้เป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนได้

 

Diaphanosoma excisum                                           Simocephalus mesorostris

 

เรื่อง/ภาพ : พรรณี สอาดฤทธิ์
พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารี
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 56 บุคคลทั่วไป ออนไลน์