“ราทะเล” ผู้ย่อยสลายในความเค็ม |
เราคงคุ้นเคยกับราสีดำหรือราสีเขียวที่ขึ้นอยู่บนขนมปังและตามฝาผนังห้องน้ำ แม้กระทั่งพบเห็นดอกเห็ดขึ้นอยู่ทั่วไปในสวนหลังบ้าน เคยรู้บ้างไหมว่าในทะเลก็มีราด้วยเช่นกัน ราทะเล (Marine Fungi) จัดเป็น “ผู้ย่อยสลาย” ตัวสำคัญในระบบนิเวศทางทะเล เราพบรากลุ่มนี้บนซากใบ กิ่ง ฝัก และรากไม้ผุๆ ในป่าชายเลน รวมถึงพบตามสาหร่ายทะเล หญ้าทะเล หรือแม้กระทั่งบนเม็ดทรายบริเวณชายหาด รากลุ่มนี้สร้างเส้นใยและสืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยและไม่อาศัยเพศ แต่ส่วนใหญ่สร้างสปอร์แบบอาศัยเพศเรียกว่า “แอสโคสปอร์” (Ascospore) ซึ่งมีรูปร่างหลากหลายและแปลกตา มีส่วนน้อยที่สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยสร้าง “โคนิเดีย” (Conidia) เพื่อใช้แพร่พันธุ์ ราทะเลนอกจากทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายโดยตรงแล้ว ยังมีความสามารถพิเศษในการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพมากมายและยังสร้างสารที่มีโครงสร้างทางเคมีใหม่ๆ ที่อาจนำไปพัฒนาเป็นยาต้านจุลินทรีย์ในอนาคตได้อีกด้วย ในประเทศไทยมีรายงานพบราทะเลทั้งสิ้นกว่า 160 ชนิด ในจำนวนนี้พบเป็นชนิดใหม่ประมาณ 20 ชนิด ซึ่งจำนวนดังกล่าวมาจากการสำรวจทะเลในแถบชายฝั่งทั่วๆไป แต่ยังมีพื้นที่ในประเทศไทยอีกหลายแห่งที่รอการสำรวจและศึกษาอยู่ โดยเฉพาะตามบริเวณเกาะแก่งต่างๆในทะเล ทุกวันนี้ป่าชายเลนและระบบนิเวศทางทะเลกำลังถูกคุกคามมากขึ้น หากเราไม่เร่งรีบศึกษาและช่วยกันอนุรักษ์ระบบนิเวศ เราก็อาจจะต้องสูญเสียราทะเลที่มีประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน
แอสโคสปอร์ (Ascospore) รูปร่างแปลกตา มีรยางค์รอบตัว
เรื่องและภาพ : จริยา สากยโรจน์ |