โลมาสีชมพู พระเอกแห่งทะเลขนอม |
นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนทะเลขนอม จ.นครศรีธรรมราช ถ้าจะให้ได้ชื่อว่าไปถึงทะเลขนอมอย่างแท้จริง จะต้องไม่พลาดกิจกรรมชมโลมาสีชมพู ซึ่งเป็นโลมาประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ที่ทะเลแห่งนี้ และจะออกมาโชว์ตัวให้นักท่องเที่ยวได้ชมความน่ารักเกือบทุกวัน
โลมาสีชมพูมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย ที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ลองมาทำความรู้จักกับโลมาชนิดนี้ ก่อนที่จะมีโอกาสไปชมโลมาตัวเป็นๆ กันที่ทะเลขนอม
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโลมา โลมาไม่ใช่ปลา แต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เหมือนกับคน ลิง หมา แมว หมี หรือหนู แต่โลมามีวิวัฒนาการให้อาศัยอยู่ในน้ำ เหมือนกับ “วาฬ” โลมามีการปรับตัว โดยการพัฒนารูปร่างและอวัยวะต่างๆ ให้เหมาะกับการดำรงชีวิตอยู่ในน้ำ รูปร่าง โลมามีรูปร่างเพรียวเหมือนหัวจรวด ผิวหนังเรียบ ไม่มีขน และมีหางขนาดใหญ่ ช่วยให้ว่ายน้ำได้รวดเร็ว ระบบหายใจ โลมาเปลี่ยนช่องทางการหายใจ หรือ ย่อจมูกมาอยู่ด้านบนของหัว เพื่อให้สะดวกในการหายใจเมื่อโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ และให้ท่อหายใจหรือหลอดลมอยู่แยกกับช่องปาก เพื่อให้โลมากินอาหารใต้น้ำได้ ปอดมีขนาดเล็กกว่าคน แต่สามารถใช้ออกซิเจนในอากาศได้มากกว่า โลมาจึงสามารถอยู่ในน้ำได้นานกว่าคน และดำน้ำได้ลึกกว่าคน ผิวหนัง มีชั้นไขมันมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบก ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการช่วยลดอัตราการหายใจให้น้อยลง เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โลมาดำน้ำได้นาน สายตา โลมามีสายตาที่ดีสามารถมองเห็นได้ดีทั้งบนบกและในน้ำ มาถึงโลมาสีชมพู กันบ้างโลมาสีชมพูมีชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งว่า โลมาหลังโหนก และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sousa chinensis โลมาสีชมพูมีขนาดประมาณ 2.2-2.8 เมตร ตัวเมียจะเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย หนักประมาณ 150-230 กิโลกรัม ตัวอ่อนมีขนาดตัวประมาณ 1 เมตร อายุเฉลี่ยประมาณ 40 ปี มีสีหลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับอายุ หรือ ฝูง ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นสีเทาขาว สีดำ และ สีชมพู ตัวอ่อนจะมีสีเข้มกว่าตัวเต็มวัย ยิ่งแก่เท่าไหร่สีผิวจะยิ่งเป็นสีชมพูมากขึ้น บริเวณผิวด้านล่างจะเป็นจุดๆ และมีสีที่สว่างกว่าด้านบน
วัยเด็ก จะมีสีเทา วัยรุ่น เริ่มจะมีจุดสีเทาปนชมพูเกิดขึ้น วัยผู้ใหญ่ จะเป็นสีขาวออกชมพู และจุดสีเทาชมพูจะหายไป สีชมพูมาจากไหน
โลมาสีชมพูยิ่งมีอายุมากจะมีสีสว่างขึ้น จนถึงเป็นสีชมพู สีชมพูนี้ไม่ได้มาจากเซลเม็ดสี แต่มาจากสีของหลอดเลือดที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป
อาหาร
ชอบกิน ปลาเล็ก ปลาหมึก และสัตว์พวกกุ้ง เคย ปู เป็นต้น เมื่อออกหาอาหาร จะใช้สัญญาณเอคโค และออกล่าเป็นกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่รวมกลุ่ม แต่โลมาสีชมพูก็จะดุร้ายได้เหมือนกัน และจะต้องการแยกตัวเองออกไปพอสมควรจากตัวอื่นเมื่อต้องการหาอาหาร หรือต้องกินอาหาร
นอกจากที่ทะเลขนอมแล้ว เรายังสามารถชมความน่ารักของโลมาสีชมพูได้ที่ จ.จันทบุรี หรือที่บริเวณอ่าวฮ่องกง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีโลมาสีชมพูจำนวนมากที่สุด เกือบร้อยตัว ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่ไปชมโลมา ควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การชมอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่ให้อาหารโลมา เพราะการให้อาหารจะส่งผลต่อพฤติกรรมการหาอาหารของโลมา ทำให้โลมาไม่หาอาหารกินเอง นอกจากนี้ยังไม่ควรให้เรือนำชมเข้าใกล้โลมาจนเกินไป เพราะจะเป็นการรบกวนฝูงโลมาที่กำลังหาอาหาร
ยังมีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับโลมา และสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลขนอม หมู่เกาะทะเลใต้อีกมากมาย ซึ่งจะเก็บมาเล่าเป็นเกร็ดความรู้ให้ผู้อ่านในโอกาสต่อๆ ไปค่ะ
|