“หอยทะเลมีเปลือก” คุณอนันต์ใต้เปลือกอันสวยงาม |
ถ้าคุณได้มีโอกาสมาเดินเล่นชายทะเลในยามเช้า คุณอาจได้พบกับเด็กน้อยกำลังนั่งสาละวนขุดหาอะไรบางอย่างจากใต้พื้นทรายอยู่ และด้วยความขี้สงสัยของคุณก็จะได้พบคำตอบว่าข้างกายเด็กน้อยนั้นคือถุงที่เต็มไปด้วย หอยเสียบ Donax sp. จำนวนมากพอจะนำกลับไปฝากแม่เพื่อทำเป็นอาหารมื้อเย็นที่สุดแสนอร่อย โดยความจริงแล้ว สัตว์ในกลุ่มหอย (Mollusks) ที่พบได้ในเกือบทุกสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย (Habitats) ในโลกนี้ นับตั้งแต่ ยอดเขา ป่าดงดิบ ภายในถ้ำ แหล่งน้ำต่างๆ ตลอดจนถึงใต้ท้องทะเลลึกกว่า 3 กิโลเมตร ซึ่งพบมากเป็นอันดับสองรองจากสัตว์กลุ่มแมลงและมีจำนวนมากกว่า 100,000 ชนิดที่ยังมีชีวิตอยู่ สำหรับสัตว์กลุ่ม “หอยทะเลมีเปลือก” (Seashells) นั้นเราสามารถพบได้ทั่วไปตามบริเวณชายฝั่ง หาดหิน หาดทราย หาดโคลน ป่าชายเลน พื้นทะเล แนวปะการัง หรือแนวหญ้าทะเล มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากหอยทะเลเพื่อการบริโภคมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหอยที่พบตามธรรมชาติหรือโดยการเพาะเลี้ยง เชื่อกันว่าการเพาะเลี้ยงหอยนางรมเป็นรูปแบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เก่าแก่ที่สุดในโลกและมีมากว่าสองพันปีในประเทศจีน ในหลายประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลียมีการสนับสนุนให้มีการตั้งฟาร์มเลี้ยงหอยนางรมในบริเวณพื้นที่ปากแม่น้ำแห่งต่างๆ เพื่อผลิตหอยนางรมคุณภาพสูงและเป็นอาหารทะเลชั้นยอดที่มีราคาแพง โดยประโยชน์ทางอ้อมที่เกิดขึ้นคือการกำหนดควบคุมมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำ สภาพสิ่งแวดล้อมและประเภทกิจกรรมที่อนุญาตให้กระทำในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่รับน้ำใกล้เคียง นอกจากนี้หอยทะเลยังมีประโยชน์ตามธรรมชาติต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างมากมาย เช่น ในแนวปะการังจะมีหอยมือเสือ Tridacna gigas ที่สามารถปล่อยไข่กว่า 500 ล้านฟองต่อครั้งตอนช่วงฤดูผสมพันธุ์ ไข่ที่ถูกปล่อยจะล่องลอยไปตามมวลน้ำเป็นอาหารที่มีคุณค่าแก่สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ ซึ่งไข่ที่รับการผสมและโชคดีจริงๆ เท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เริ่มชีวิตใหม่เป็นพ่อแม่หอยมือเสือรุ่นต่อไปที่จะสืบต่อเผ่าพันธุ์ในทะเล และยังมี หอยสังข์แตร Charonia tritonis เป็นหอยทะเลฝาเดียวที่เป็นศัตรูตามธรรมชาติของ ดาวมงกุฎหนาม Acanthaster planci ศัตรูตัวฉกาจที่คอยกัดกินปะการัง เป็นต้น ด้วยความหลากชนิดและความสวยงามแปลกตาของเปลือกหอยที่มีความแตกต่างทั้งทางด้าน ขนาด รูปทรง และสีสัน ทำให้เป็นที่นิยมเก็บสะสมและมีราคาจนทำให้หอยทะเลหลายชนิดมีจำนวนลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบนิเวศโดยที่เราไม่รู้ตัว
เรื่อง: ภูสิต ห่อเพชร |