RocketTheme Joomla Templates
มีเธอจึงมีฉัน ปูน้ำเค็มกับป่าชายเลนที่ขนอม PDF พิมพ์ อีเมล

ป่าชายเลน เป็นสังคมพืชที่ขึ้นอยู่ตามบริเวณชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำหรืออ่าว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีระดับน้ำทะเลท่วมถึงในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด (Schimper, 1903 อ้างโดย สนิท, 2542) ความสำคัญของป่าชายเลนต่อมนุษย์มีทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือจากตัวต้นไม้เอง ที่ใช้ทำถ่าน, เครื่องเรือน, เครื่องมือประมง, สมุนไพร และอาหาร (เช่น ลูกลำแพน และน้ำตาลจาก) ส่วนทางอ้อมคือ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งอาจจะโตไปเป็นสัตว์เศรษฐกิจ หรือเป็นส่วนหนึ่งในระบบห่วงโซ่อาหารของสัตว์เศรษฐกิจ หรืออีกมุมหนึ่งคือ เป็นแหล่งอาศัย และหาอาหารของสัตว์น้ำเศรษฐกิจโดยตรง ที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน/ชาวประมงอย่างชัดเจนก็คือ ปูดำ (Scylla  olivacea) และ ปูแสม (หรือปูเค็ม: Episesarma spp.) ซึ่งอาศัยประจำอยู่เกือบจะถาวรในป่าชายลนทั้งในช่วงน้ำขึ้นและลง ส่วนพวกที่เข้ามาหากินชั่วคราวเฉพาะในช่วงที่น้ำทะเลขึ้นท่วมพื้นป่า คือพวกกุ้ง และปลา

ทุกป่าชายเลนต้องมีปู เป็นสิ่งที่ผู้เขียนสังเกตพบ น่าจะเป็นเพราะปูกับต้นไม้ในป่าชายเลนมีสัมพันธภาพที่ลึกซึ้ง เกื้อกูลกันเป็นอย่างดี “มีเธอจึงมีฉัน” ในเมื่อโครงการวิจัยที่ผู้เขียนทำอยู่ขณะนี้ อยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ก็เลยขอยกตัวอย่างที่ได้พบเห็นในพื้นที่นี้ ปูน้ำเค็มที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน นอกจากจะมีปูดำและปูแสม ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันในตลาดสดและร้านส้มตำแล้ว ลองมาดูกันว่ามีปูน้ำเค็มชนิดใดบ้าง อาศัยอยู่ในป่าชายเลนที่ อ.ขนอม เลือกไปที่ไม่ไกลจากตัวตลาด ซึ่งสะดวกดี คือที่ใกล้ๆ กับที่ทำการอุทยานฯ นี่เอง ป่าชายเลนของบริเวณนี้จะอยู่ติดกับริมคลองขนอม จากการเก็บตัวอย่าง สามารถรวบรวมได้แล้วถึง 14 ชนิด จาก 10 สกุล ใน 5 วงศ์ ดังนี้



Camptandriidae
-Paracleistostoma tweediei Tan & Humphreys*      -


Ocypodidae
-Uca forcipata (Adams & White)                          ปูก้ามดาบ/เปี้ยวโนราโนรา
-Uca perplexa (H. Milne Edwards)                        ปูก้ามดาบ/เปี้ยวโนรา
-Macrophthalmus pacificus Dana                         ปูก้ามหัก
-Ilyoplax orientalis (De Man)                                -
-Scopimera intermedia Balss                              ปูปั้นทราย

Grapsidae
-Metopograpsus latifrons (White)                         ปูแสมหิน

Sesarmidae
-Episesarma palawanense (Rathbun)                   ปูแสม/เปี้ยว
-Parasesarma lanchesteri (Tweedie)                    ปูแสม
-Parasesarma plicatum (Latreille)                        ปูแสมก้ามส้ม
-Perisesarma eumolpe (De Man)                         ปูแสม
-Perisesarma indiarum (De Man)                         ปูแสม

Varunidae
-Metaplax detipes (Heller)                                  ปูแสมฟัน
-Metaplax elegans De Man                                ปูแสมก้ามยาว

ที่ใส่เครื่องหมาย * ไว้นั้น คือ Paracleistostoma tweediei Tan & Humphreys 1995 ซึ่งเก็บตัวอย่างได้ในครั้งนี้นับเป็นปูที่เป็นรายงานการพบครั้งแรกของประเทศไทย (new record) โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นชนิดเดียวกับที่มีการบรรยายลักษณะครั้งแรกจากประเทศบรูไน และสิงคโปร์ (Tan & Humphrey, 1995) และจากนั้นก็ยังไม่มีรายงานการพบเพิ่มเติมที่ใดอย่างเป็นทางการ

ในรายชื่อนี้แม้ว่าจะไม่มีปูดำอยู่ แต่คิดว่ามีอาศัยอยู่แน่นอน เพราะมองไกลๆ เห็นคนล้วงปูขับรถไปจอดไว้ปากทางเข้าเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ก่อนเดินเข้าไปพร้อมตะขอเกี่ยวปูอันยาว แต่ถึงแม้ว่าในรายชื่อปูดังกล่าวจะไม่มีชนิดปูที่ชาวบ้านนำมาใช้ประโยชน์โดยตรง แต่สีสันในหลายชนิดก็สวยงาม เปรียบเป็นอัญมณีสีสดใสในผืนป่าชายเลนทีเดียว เช่น ปูก้ามดาบ หรือที่ชาวบ้านใน จ.นครศรีธรรมราช เรียกว่า ปูโนรา หรือ เปี้ยวโนรา สาเหตุที่เรียกอย่างนี้ก็เพราะ ชาวบ้านมองพฤติกรรมการโบกก้ามข้างใหญ่ของปูก้ามดาบ ว่าคล้ายกับท่ารำของการรำโนรานั่นเอง

ชนิดที่พบเป็นชนิดเด่นของที่นี่คือ Uca perplexa (H. Milne Edwards, 1837) ซึ่งในบางจังหวัดเรียกว่า เปี้ยวก้ามขาว ปูชนิดนี้จะอาศัยอยู่บริเวณพื้นเลนปนทรายของชายขอบป่าชายเลน ที่มีแสงสว่าง หรือค่อนข้างเปิดโล่ง ลักษณะสีของก้ามแต่ละตัว หรือแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน มีตั้งแต่สีส้ม เหลือง ชมพูอ่อนถึงเข้ม แต่บริเวณส่วนของก้ามหนีบจะเป็นสีขาวเหมือนๆ กัน ส่วนสีบนหลังมักจะเป็นลายสีขาวบนพื้นดำ และอาจจะมีสีแดงน้ำตาลเป็นลายปะปนอยู่บ้าง

ปูที่มีสีสันฉูดฉาดตัวต่อมาคือ ปูแสมชนิด Perisesarma indiarum (De Man, 1902) ซึ่งอาศัยปะปนกับ P. eumolpe (De Man, 1895) ที่มีสีสดสวยไม่แพ้กัน บริเวณที่พบจะอยู่ภายในป่าที่ร่มครึ้ม ที่ขอบหน้าของกระดองปู 2 ชนิดนี้จะมีสีฟ้า ขาว เขียว หรือเหลือง แล้วแต่ลักษณะของปูแต่ละตัว สีดังกล่าวจะเห็นเหมือนเป็นสีสะท้อนแสง อาจจะเป็นการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพแสงน้อยในป่า เพื่อให้ปูตัวอื่นๆ ได้มองเห็นตัวมันได้ในระยะไกล

ในการที่จะแยกชนิดของปู 2 ชนิดนี้ออกจากกัน หากจะแยกด้วยวิธีการมองสีสันก็สามารถทำได้ แต่ต้องตั้งใจสังเกตจริงๆ คือ ใน P. indiarum ที่ก้านตาจะมีสีพื้นเป็นสีส้ม อาจจะมีลายสีน้ำตาลอยู่ด้วย ที่เบ้าตาก็เป็นสีส้ม ส่วนของรยางค์ปากจะเห็นเป็นสีสัน เช่นสีฟ้า หรือสีส้ม บนกระดองหรือส่วนหลังและขา จะมีลายเป็นปื้นๆ สีฟ้าสว่างบนพื้นดำ ส่วนชนิด P. eumolpe ที่ก้านตาจะมีสีขาว หรือมีลายสีเขียวปนบ้าง ผสมกับลายสีดำ ส่วนของปากจะไม่มีสีสะดุดตา เป็นเพียงสีดำทึบ บนกระดองมีลายประสีเขียวอมเหลืองสว่าง บนพื้นดำอยู่ทั่วไป อาจมีลายประสีฟ้าบ้าง หรือไล่โทนสีของลายจากสีเหลืองที่ส่วนหน้าไปเป็นสีส้มในส่วนท้ายก็มี ส่วนลายบนขามักเป็นสีขาว แต่หากได้จับมาดู จะสังเกตเห็นความแตกต่างได้ง่ายมาก โดย P. indiarum จะมีแถวตุ่มบนขอบบนของนิ้วขนาดใหญ่ ส่วนท้องจะเป็นสีเทาธรรมดา ในขณะที่ P. eumolpe ตุ่มบนขอบนิ้วจะมีขนาดเล็กเป็นแถวเรียบกว่ามาก ส่วนท้องจะเป็นสีม่วงชัดเจน

อีกชนิดที่สวยน้อยกว่า แต่ก็ยังสีสดเห็นชัดเจนที่ขอบป่า คือปูแสมก้ามยาว Metaplax elegans De Man, 1888 จะมีสีส้มสว่างอยู่ที่ก้าม ตัดกับสีของกระดองที่เห็นเป็นสีม่วงเทา ทึบๆ ขอยกตัวอย่างไว้เพียง 4 ชนิดนี้แค่นี้นะครับ ไว้ถ้าใครมีโอกาสเดินเที่ยวชมป่าชายเลน ก็ลองเมียงมองตามพื้นดิน ดูเจ้าพวกนี้บ้างนะครับ สีสันแต่ละตัวที่แตกต่างกันมันชวนให้เพลินตาดีครับ

นอกจากปูน้ำเค็มในป่าชายเลนจะมีความงามที่เราสัมผัสได้ด้วยตาแล้ว ทุกชนิดล้วนมีหน้าที่สำคัญ ที่เป็นเหตุผลว่า ทำไม “มีเธอจึงมีฉัน” ที่ผู้เขียนเล่าไว้ในตอนต้น หน้าที่นั้นคือ การเป็นผู้หมุนเวียนสารอาหาร และเร่งอัตราการย่อยสลายของอินทรียสารให้กับป่าชายเลน (สมบัติ และสุริยัน, 2528) มันทำอย่างไรนะหรือครับ ก่อนอื่นขอแบ่งกลุ่มปูที่พบนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่กินอาหารได้หลากหลาย และกลุ่มที่กินอาหารแบบเลือกอินทรียสารจากดินตะกอน (Selective deposit feeder) (สนิท, 2542) กลุ่มแรกก็อย่างเช่น ปูแสม Episesarma spp. (หรือปูเค็มนั่นเอง), ปูแสมสกุล Perisesarma และปูแสมหิน Metpograpsus spp. เป็นต้น ส่วนกลุ่มหลังก็อย่างเช่นปูก้ามดาบ Uca spp. ปูปั้นทราย Scopimera spp. และ Paracleistostoma spp. เป็นต้น

เหตุการณ์จะเริ่มตั้งแต่ใบไม้ในป่าชายเลนร่วงหล่นลงบนพื้นป่า ปูกลุ่มแรกก็จะเข้าไปฉีกกิน หรือเอากลับไปบ่มไว้ในรู ให้จุลชีพช่วยย่อยสลายก่อนจะกิน จากนั้นอาหารจะผ่านกระเพาะและทางเดินอาหารออกมาในเวลารวดเร็ว การดูดซึมสารอาหารเข้าไปจึงทำได้เพียงเล็กน้อย ทำให้กลุ่มปูแสมเหล่านี้จึงต้องกินใบไม้ที่ร่วงหล่นแล้วนี้ในปริมาณมาก เพื่อให้ได้สารอาหารอย่างเพียงพอ (ในขณะที่หากมีซากสัตว์ หรือเหยื่อที่จับง่าย ปูจะเข้าไปจับกินทันที) ด้วยความเร็วจากประสิทธิภาพในการดูดซึมที่ต่ำนี่เอง จึงทำให้ปูกลุ่มนี้เป็นผู้เร่งอัตราการย่อยสลายตัวของอินทรียสารบนพื้นป่าชายเลน ซึ่งจะส่งต่อไปยังสัตว์บางชนิดที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากระบอก กุ้งทะเล หอยแมลงภู่ และหอยอีกหลายชนิด (สมบัติ และสุริยัน, 2528)

พวกกลุ่มที่สองที่เป็นพวกกินดินกินทราย ก็จะได้ประโยชน์จากมูลของพวกกลุ่มแรกตอนนี้เอง แม้แต่พวกกลุ่มแรกเองบางครั้งก็ยังต้องกลับมากินดินเข้าไปด้วย เพื่อจะนำอินทรียสารกลับเข้าไปใช้ แถมปูเล็กๆ เหล่านี้ยังเป็นอาหารสำคัญของปูที่ใหญ่โตกว่าอย่างปูดำอีก เมื่อปูทั้งหลายทั้งมวลนี้ขับถ่ายมูลออกมา ก็จะกลายเป็นปุ๋ย คืนแร่ธาตุกลับสู่ดิน และสู่ต้นไม้อย่างเป็นวัฏจักร แม้แต่รูที่ปูขุดชอนไชลงไปในดินเพื่ออาศัย ยังเป็นเส้นทางนำพาออกซิเจนเข้าสู่ชั้นดินเบื้องล่าง เพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรียสารให้กับจุลชีพซึ่งสร้างแร่ธาตุให้กับดินอีก แล้วแบบนี้จะไม่ให้เปรียบเทียบปูน้ำเค็มกับต้นไม้ ในป่าชายเลนว่า “มีเธอจึงมีฉัน” ได้อย่างไร

อ้างอิง
สนิท อักษรแก้ว. 2542. ป่าชายเลน...นิเวศวิทยาและการจัดการ. พิมพ์ครั้งที่ 3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, กรุงเทพฯ. 227 หน้า.
สมบัติ ภู่วชิรานนท์ และ สุริยัน เอี้ยนเล่ง. 2528. การศึกษาอัตราการกินใบไม้โกงกางใบเล็กของปูแสมบางชนิดและบทบาทสำคัญที่มีต่อระบบนิเวศน์ป่าชายเลนอ่าวน้ำบ่อ จังหวัดภูเก็ต. รายงานการประชุมวิชาการกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กันยายน 2528. หน้า 1-11.
Tan, C.G.S & Humphreys, A. 1995. Paracleistostoma tweediei, a new species of camptandriine
crab, from Singapore and Brunei mangroves (Crustacea: Decapoda: Brachyura: Ocypodidae). Raffles Bull. Zool. 43(1): 251-256.

ข้อมูล: เรืองฤทธิ์ พรหมดำ

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 257 บุคคลทั่วไป ออนไลน์