RocketTheme Joomla Templates
รายงานแมลงชีปะขาวพบครั้งแรกในประเทศไทย.....ที่ทองผาภูมิตะวันตก PDF พิมพ์ อีเมล

แมลงชีปะขาวจัดอยู่ในกลุ่มของแมลงอันดับอีฟีเมอรอปเทอรา (Ephemeroptera) เป็นกลุ่มแมลงน้ำที่พบอาศัยอยู่ทั้งแหล่งน้ำนิ่งและแหล่งน้ำไหล ใช้ชีวิตส่วนมากเป็นตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ ลักษณะเฉพาะของแมลงชีปะขาว คือ ระยะที่มีปีกมี 2 ระยะ คือ ตัวรองตัวเต็มวัย (subimago) ระยะนี้ปีกจะมีสีขุ่น ปกคลุมด้วยขนขนาดเล็ก กันน้ำได้ อวัยวะเพศยังเจริญไม่เต็มที่ จากนั้นจะลอกคราบอีกครั้งกลายเป็นตัวเต็มวัย (imago) ปีกใสเป็นเงา อวัยวะเพศเจริญเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวจะไม่กินอาหารเนื่องจากโครงสร้างของส่วนปากลดรูปไป ทำให้ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวมีอายุสั้น คือ มีอายุประมาณ 1-2 ชั่วโมง จนถึง 14 วัน ตัวเต็มวัยของแมลงชีปะขาวทำหน้าที่ผสมพันธุ์และวางไข่เท่านั้น จากนั้นจะตายไปในช่วงผสมพันธุ์ 

โดยทั่วไปตัวอ่อนแมลงชีปะขาวมีแนวโน้มอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำธาร ทะเลสาบ บ่อ หนอง บึงที่ไม่มีหรือมีการปนเปื้อนของมลพิษน้อย จัดเป็นกลุ่มที่มีความไวต่อมลพิษ ดังนั้นจึงมีการใช้ตัวอ่อนแมลงชีปะขาวเป็นดัชนีชีวภาพบ่งชี้คุณภาพน้ำ และนิยมใช้ร่วมกับตัวอ่อนแมลงสโตนฟลาย และตัวอ่อนแมลงหนอนปลอกน้ำในการประเมินคุณภาพน้ำทางชีวภาพ

จากการศึกษาความหลากหลายของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหน้าดินในลำธารอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบแมลงชีปะขาวที่ยังไม่มีรายงานมาก่อนในประเทศไทย (first record)  2 ชนิด คือ Prosopistoma sinense Tong & Dudgeon, 2000 จัดอยู่ในวงศ์ Prosopistomatidae และ Epeorus tiberius Braasch and Soldan, 1984 จัดอยู่ในวงศ์ Heptageniidae

 

แมลงชีปะขาววงศ์ Prosopistomatidae นี้มีขนาดเล็ก มีลักษณะคล้ายด้วงตัวเต็มวัย เนื่องจากแผ่นอกมีขนาดใหญ่คลุมส่วนท้อง และเหงือก และพบแพนหาง 3 เส้น ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นทรายและก้อนหินขนาดเล็ก

ส่วนแมลงชีปะขาวสกุล Epeorus เป็นแมลงชีปะขาววงศ์ Heptageniidae มีแพนหางเพียง 2 เส้น เนื่องจากแพนหางเส้นกลางลดรูปไป แมลงชีปะขาวสกุลนี้มีลักษณะเด่น คือ แผ่นเหงือกมีขนาดใหญ่และขอบแผ่นเหงือกมีหนามแหลมขนาดเล็กจำนวนมาก ช่วยในการเกาะกับก้อนหินเพื่อต้านกระแสน้ำที่ไหลแรง และชอบอาศัยอยู่ตามก้อนหินขนาดใหญ่หรือขนาดกลางบริเวณน้ำไหลแรง และมีคุณภาพดี แมลงชีปะขาวทั้งสองชนิดนี้มีความไวต่อมลพิษ พบเฉพาะลำธารในพื้นที่ป่าเท่านั้น จึงสามารถใช้เป็นดัชนีบ่งชี้คุณภาพน้ำได้

เรื่อง/ภาพ บุญเสฐียร  บุญสูง
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 246 บุคคลทั่วไป ออนไลน์