RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


ชวนน้องท่องป่า TK (Natural) Park PDF พิมพ์ อีเมล


ชวนน้องท่องป่า TK (Natural) Park ... ชมนิทรรศการค้นพบใหม่มหัศจรรย์แห่งชีวิต


         หากคุณเป็นคนที่สนใจเรื่องราวของสิ่งมีชีวิต ธรรมชาติ และความมหัศจรรย์ของชีวิต แต่ยังไม่มีเวลาไปท่องเที่ยวเปิดโลกกว้างตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ หรืออาจมีลูกหลานที่ยังอายุน้อยเกินกว่าจะพาไปเที่ยวป่าได้ ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ โครงการ BRT ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ยกป่ามาไว้กลางกรุง

         ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ลี้ลับและมีความมหัศจรรย์แห่งชีวิตที่น่าค้นหา  เริ่มตั้งแต่เมื่อ 3,500 ล้านปีก่อน จากจุดเล็กๆ ของสิ่งมีชีวิต สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวเป็นสิ่งมีชีวิตแรกที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อนได้กำเนิดขึ้นบนโลก วิวัฒนาการจนเกิดสิ่งมีชีวิตที่มีความซับซ้อนและความแตกต่างทางสายพันธุ์มากขึ้น ก่อกำเนิดเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปพรรณสัณฐานแตกต่างกันออกไปอย่างมากมาย   ที่มีการดำรงชีวิตอย่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน กลายเป็นห่วงโซ่อาหารขนาดใหญ่ เป็นระบบนิเวศที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงนำไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพบนโลกใบนี้ ที่ไม่สามารถแยกออกออกจากกันได้

          

 

ป่าจำลอง (TK Natural Park)         ประเทศไทยนับเป็นหนึ่งระบบนิเวศของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นแหล่งขุมทรัพย์ที่มีการกระจายสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ และระบบนิเวศหลายหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำการศึกษา และสิ่งมีชีวิตอีกมากมายที่ยังรอการค้นพบต่อไป

         เพื่อเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน และปลูกฝังให้เยาวชนได้เริ่มต้นการเป็นนักธรรมชาติวิทยาตัวน้อย โครงการ BRT จึงได้ร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้ นำผลการวิจัยของโครงการ BRT ตลอดจนสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจมาจัดเป็นนิทรรศการ ค้นพบใหม่มหัศจรรย์แห่งชีวิตขึ้น ที่อุทยานการเรียนรู้ ผ่านโปสเตอร์ความรู้ที่มีภาพสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศที่สวยงาม การจำลองระบบนิเวศป่าที่ซ้อนปริศนาความหลากหลายทางชีวภาพไว้ภายในป่า ในชื่อว่า TK (Natural) Park นอกจากนี้ในแต่ละสัปดาห์ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่น่าสนใจสำหรับเยาวชน วัยรุ่น และผู้ปกครอง ได้แก่
      • กิจกรรมรู้จักสิ่งมีชีวิต รู้จักความหลากหลายทางชีวภาพ
      • กิจกรรมเตรียมพร้อมสู่การเป็นนักธรรมชาติวิทยา
      • กิจกรรมรู้จักกิ้งกือ ขุมทรัพย์ทางชีวภาพแห่งใหม่ของคนไทย

      

      โดยนิทรรศการค้นพบใหม่มหัศจรรย์แห่งชีวิต จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ที่อุทยานการเรียนรู้ (TK park) และกิจกรรมที่น่าสนใจในวันเสาร์อาทิตย์ ที่ 2 และ 3 ของเดือน

 

 
กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก PDF พิมพ์ อีเมล

(ซ้าย) คุณรังสิมา ตัณฑเลขา (ขวา) ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหากิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก.. ขุมทรัพย์ชีวภาพแหล่งใหม่ของคนไทย
      

         ทีมวิจัยกิ้งกือไทยพบกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ของโลก 12 ชนิด จากภาคใต้ของประเทศไทย คาดอาจพบอีกมากกว่า 30 ชนิด สะท้อนถึงระบบนิเวศที่หลากหลายของประเทศไทย เผยจำนวนและความหลากหลายที่มากมายของกิ้งกือไทย ส่งผลโดยตรงต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศป่าไม้ เหตุเพราะกิ้งกือเป็นหนึ่งในผู้ย่อยสลายและสร้างสารอาหารในระบบนิเวศ วอนคนไทยอย่าทำลายสัตว์ผู้รักษาสมดุลของธรรมชาติชนิดนี้

          เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ร่วมกับอุทยานการเรียนรู้ จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว “กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก ขุมทรัพย์ชีวภาพแหล่งใหมของคนไทย” ณ อุทยานการเรียนรู้ (TK park) พร้อมเปิดตัวนิทรรศการ “ค้นพบใหม่...มหัศจรรย์แห่งชีวิต” ที่จะเปิดแสดงตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ที่อุทยานการเรียนรู้

           ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัยกิ้งกือไทย และนักวิจัยโครงการ BRT เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต ซึ่งกิ้งกือเป็นสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่งที่พบมากในประเทศไทย โดยกิ้งกือที่พบในประเทศไทยมีหลายแบบด้วยกัน เช่น กิ้งกือกระบอก เป็นกิ้งกือที่คนทั่วไปคุ้นเคย และพบบ่อยที่สุด กิ้งกือยักษ์ กิ้งกือมังกร กิ้งกือตะเข็บ กิ้งกือกระสุน กิ้งกือเหล็ก และกิ้งกือขน ซึ่งกิ้งกือแต่ละชนิดล้วนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ทั้งสิ้น เนื่องจากกิ้งกือจะกินซากพืช และลูกไม้ ผลไม้ที่เน่าเปื่อยเป็นอาหาร นั่นคือทำหน้าที่เป็นเทศบาลกำจัดขยะ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นสารอาหารกลับคืนสู่ระบบนิเวศ ช่วยให้กล้าไม้รวมถึงต้นไม้ในป่าเจริญเติบโตจนสามารถสร้างผลผลิตให้กับคนไทยมาช้านาน

         

         “โดยทั่วไปกิ้งกือเป็นสัตว์ที่ชอบอาศัยอยู่ในที่ชื้น เช่น ขุดรูอยู่ใต้ดิน อยู่ตามซอกหลืบถ้ำ หรือบางครั้งอาจพบกิ้งกืออยู่บนต้นไม้ ลักษณะที่อยู่อาศัยของกิ้งกือแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับลักษณะอาหารที่กิ้งกือแต่ละชนิดชอบกิน และที่อยู่อาศัยยังเป็นตัวกำหนดให้ลักษณะรูปร่างของกิ้งกือแตกต่างกันด้วย เช่น กิ้งกือที่ชอบกินเปลือกไม้ มักจะพบเกาะอยู่บนต้นไม้ ขาจึงมีลักษณะพิเศษสามารถเกาะและจิกไปบนต้นไม้ได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากกิ้งกือเป็นสัตว์ประเภทกินซาก จึงไม่จำเป็นต้องพัฒนาอวัยวะสำหรับการล่า เหมือนกับตะขาบ หรือ งู ดังนั้นกิ้งกือจึงไม่มีพิษ และไม่มีเขี้ยวสำหรับกัด แต่จะมีแผ่นฟันลักษณะคล้ายช้อนตักไอศครีม ซึ่งกัดแทะได้เฉพาะซากเท่านั้น กลไกการป้องกันตัวของกิ้งกือ คือการปล่อยสารเคมีออกมาจากร่างกาย เรียกว่าสารเบนโซควิโนน และบางชนิดจะปล่อยสารไซยาไนด์ แต่กลไกการป้องกันตัวเบื้องต้นของกิ้งกือที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด คือการขดตัวเป็นวง โดยให้ส่วนหัวอยู่ด้านใน ให้เปลือกแข็งของลำตัวทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกัน เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ากิ้งกือไม่มีกลไกที่จะทำร้ายคนได้เลย” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว 

        สำหรับการศึกษาวิจัยด้านกิ้งกือในประเทศไทยนั้น ค่อนข้างน้อยมาก อาจเพราะกิ้งกือเป็นสัตว์ที่อาศัยหลบซ่อนอยู่ตามพื้นดิน อีกทั้งยังมีลักษณะที่หลายคนไม่ชอบ จึงยังไม่มีนักวิจัยไทยทำวิจัยเรื่องกิ้งกือ โดยทีมวิจัยของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ถือเป็นทีมแรกที่มีการทำวิจัยกิ้งกือไทย ด้วยการสนับสนุนของโครงการ BRT และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ซึ่งการทำวิจัยในระยะแรกจะเป็นการเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์จำแนกสายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมาทีมวิจัยได้พบกิ้งกือชนิดใหม่ของโลกไปแล้ว 2 ชนิด เป็นกิ้งกือกระบอกชนิดใหม่ และกิ้งกือมังกรสีชมพู และในครั้งนี้ยังสามารถแยกสายพันธุ์กิ้งกือกระบอกได้เป็นชนิดใหม่ของโลก อีก 12 ชนิดด้วยกัน

        

        ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวว่า กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก เป็นสายพันธุ์ที่เก็บตัวอย่างได้จากทางภาคใต้ของประเทศไทยเกือบทั้งหมด ได้แก่ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล ภูเก็ต กระบี่ และมีหนึ่งชนิดที่ได้จากภาคกลาง กิ้งกือทั้ง 12 ชนิดที่พบใหม่นี้ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่มีชื่อเสียงทางด้านสัตววิทยา คือ ZOOTAXA และได้มีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทยแล้ว ได้แก่ กิ้งกือเหลืองเท้าส้ม กิ้งกือน้ำตาลหลังส้ม กิ้งกือเทาหลังแดง กิ้งกือเหลืองเท้าชมพู กิ่งกือน้ำตาลเท้าส้ม กิ้งกือปลอกน้ำตาลแดง กิ้งกือดำเท้าชมพู กิ้งกือปลอกเหลืองน้ำตาล กิ้งกือเหลืองดำ กิ้งกือน้ำตาลหลังเหลือง กิ้งกือฮอฟแมน และกิ้งกือดีมาง นอกจากนี้ ยังมีกิ้งกือที่คาดว่าจะเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกอีก 30 ชนิด ซึ่งหมายความว่าน่าจะมีกิ้งกือกระบอกในประเทศไทยรวมกันมากถึง 50 ชนิด

        “กิ้งกืออาจมีการระบาดบ่อยครั้งขึ้นในระยะนี้ เนื่องมาจากการขาดภาวะสมดุลต่างๆ อาทิมีการทำลายพื้นที่อาศัยของกิ้งกือ หรือการปรับแต่งพื้นที่ทำให้บ้านกิ้งกือถูกน้ำท่วม กิ้งกือต้องอพยพ ซึ่งอาจจะเข้าอยู่ในบ้านผู้คนได้ วิธีกำจัดควรกวาดรวบรวมแล้วนำไปใส่ในหลุมขยะประเภทซากพืช ผลไม้เน่าๆ โดยเฉพาะมะม่วง ขนุน ฯลฯ กิ้งกือจะกินของเสียเหล่านี้แล้วเปลี่ยนเป็นเม็ดสารอินทรีย์ที่พืชนำไปใช้เป็นอาหารได้ ก็คือปุ๋ยนั่นเอง” ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว

        ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีกิ้งกือจำนวนมากนั้น เท่ากับเรามีโรงงานผลิตปุ๋ยขนาดย่อม กระจายตัวกันอยู่ทั่วไป กิ้งกือคอยเปลี่ยนซากพืชเน่าเปื่อยให้กลายเป็นปุ๋ย ทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม หากเกษตรกรไม่ทำลายกิ้งกือ และปล่อยให้กิ้งกือได้ทำหน้าที่ของมัน จะสามารถผลิตปุ๋ยที่มีสารอาหาร สามารถทดแทนสัดส่วนการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมีให้กับเกษตรกรได้บางส่วน ซึ่งมูลของกิ้งกือที่กลายเป็นปุ๋ยเหล่านี้ เทียบได้กับขุมทรัพย์ชีวภาพของคนไทย

 
ผู้ส่งข่าว
งานประชาสัมพันธ์
โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT)

    

ข้อมูลประกอบ กิ้งกือกระบอก 12 ชนิดใหม่ของโลก

 

 
รับมือไรฝุ่นอย่างไร PDF พิมพ์ อีเมล

รับมือไรฝุ่นอย่างไร ก่อนสเปรย์กำจัดไรฝุ่นออกวางขาย

        แม้ขณะนี้สเปรย์กำจัดไรฝุ่น ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลงานการวิจัยของ ดร.อำมร อินทร์สังข์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  จะยังติดปัญหาทางเทคนิคจึงยังต้องทำการปรับปรุงสูตรของสเปรย์ และทำให้ยังไม่สามารถวางขายได้ แต่ก็ยังมีหลายท่านที่ให้ความสนใจ โทรศัพท์มาสอบถาม และหลายท่านประสบปัญหากับไรฝุ่นอย่างหนัก วันนี้ ดร.อำมร จึงได้ฝากเทคนิคการพิฆาตไรฝุ่นไว้สำหรับแก้ไขสถานการณ์ ก่อนจะมีสเปรย์ไรฝุ่นออกมาให้ใช้กัน
        1. ควรหมั่นทำความสะอาดที่นอนด้วยการดูดฝุ่น อากาศถ่ายเทสะดวก
        2. ซักเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนและหมั่นตากแดด

        ในกรณีที่ประสบปัญหาอย่างหนัก และการทำความสะอาดไม่สามารถฆ่าเจ้าไรฝุ่นตัวร้ายได้ ดร.อำมร ได้แนะนำสูตรสารสกัดกำจัดไรฝุ่นมาให้แก้ขัด ดังนี้
        1. นำกานพลูหรืออบเชย 200 กรัม (กานพลูจะให้กลิ่นที่ดีกว่า) มาตำหรือบดละเอียด
        2. นำไปแช่ในเอธานอล 800 มล. นาน 2 วัน คนวันละ 5-6 ครั้ง
        3. กรองเอาส่วนสารสกัดออกจะได้สารสกัดสีเหลือง
        4. บรรจุสารสกัดใส่ ฟอกกี้
        5. ปูกระดาษบนที่นอนแล้วฉีดพ่น (หากฉีดพ่นลงบนที่นอนโดยตรงสีจะเปื้อนที่นอนได้)
        6. ปิดทับด้วยผ้าห่มหนา และจะดีมากหากคลุมด้วยพลาสติกนาน 2-3 ชั่วโมง (ยิ่งนานยิ่งดี)
        7. เปิดผ้าคลุมหรือพลาสติกคลุม ให้อากาศถ่ายเทสะดวก

         นอกจากกำจัดไรฝุ่นแล้วสารสกัดนี้ยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและทำให้รู้สึกปลอดโปร่ง แต่ควรระวังเรื่องกลิ่นและสีในระยะแรกๆ

        สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ของไรฝุ่น ในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ส่วนใหญ่เป็นชนิดเดียวกัน ซึ่งมีด้วยกัน 3 ชนิด ในบ้านเราจะพบ ไรฝุ่น Dermatophagoides pteronyssinus และไรฝุ่นเขตร้อน Blomia tropicalis  ส่วนในอเมริกาและยุโรป จะพบ ไรฝุ่นอเมริกัน Dermatophagoides farinae และไรฝุ่นยุโรป Dermatophagoides pteronyssinus  โดยสเปรย์กำจัดไรฝุ่น และสูตรสารสกัดสามารถกำจัดได้ทุกชนิด

        หวังว่าทุกท่านคงจะได้นำสูตรสารสกัดไปใช้แก้ปัญหาไรฝุ่นไปก่อนที่สเปรย์ตัวจริงจะออกวางจำหน่ายนะคะ และหากมีข่าวคราวความคืบหน้าการจำหน่าย และสถานที่จำหน่ายจะแจ้งให้ทราบค่ะ

 
ประชุม“การบริหารจัดการการท่องเที่ยว” ต่อลมหายใจให้โลมาสีชมพู PDF พิมพ์ อีเมล

โลมาสีชมพูที่ขนอม

ประชุมเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการการท่องเที่ยว พื้นที่ขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ต่อลมหายใจให้โลมาสีชมพู

โลมาสีชมพูเป็นสัญลักษณ์ของทะเลขนอม จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของโลมา ทำให้โลมาประจำถิ่นเหล่านี้อาศัยอยู่ที่ทะเลขนอมแห่งนี้มานานไม่ต่ำกว่า 50 ปี แต่จากการทำประมงที่ไม่ถูกต้อง การใช้เรืออวนรุก อวนลาก ทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลลดน้อยลง และการท่องเที่ยวชมโลมาที่มีจำนวนเรือนำเที่ยวมากขึ้น ส่งผลต่อวิถีชีวิตของโลมาสีชมพู และทำให้โลมาสีชมพูลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จนอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

       โครงการ BRT ร่วมกับบริษัทโททาล อีแอนด์พี ประเทศไทย และมูลนิธิโททาล ฝรั่งเศส ได้สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยการประเมินจำนวนประชากรโลมาสีชมพู เพื่อให้ทราบจำนวนที่แน่นอนของโลมาในทะเลขนอม โดยนายสุวัฒน์ จุฑาพฤกษ์ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้ทำการศึกษา พบว่าปัจจุบันมีโลมาสีชมพูอาศัยอยู่ในทะเลขนอมจำนวน 50 ตัว เท่านั้น

คณะผู้บริหารโครงการ BRT ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกร่วมกับผู้นำชุมชน         เพื่อเป็นการคืนความรู้สู่ชุมชน และร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โครงการ BRT บริษัทโททาล อีแอนด์พี ประเทศไทย และมูลนิธิโททาล ฝรั่งเศส จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การบริหารจัดการเพื่อการท่องเที่ยว พื้นที่ขนอมหมู่เกาะทะเลใต้” ขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 2 มิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา ณ ต้นธารรีสอร์ท อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัย ชาวบ้านในชุมชน และหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านทรัพยากรชีวภาพ และข้อมูลที่สำคัญต่อการบริหารจัดการการท่องเที่ยว ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชุมชน ชมรม และกลุ่มต่างๆ ใน อ.ขนอม รวมไปถึงหน่วยงานราชการ อย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

         ทั้งนี้ จากการประชุมทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการสนับสนุนข้อมูลทางการวิจัย เช่น การจัดทำเอกสารความรู้ให้กับชุมชน และแบบสอบถามสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งจะบรรจุข้อมูลของโลมาทั้ง 50 ตัว โดยมีภาพครีบหลังของโลมา และชื่อของทุกตัว เพื่อเป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับการชมโลมา ชาวประมง และนักท่องเที่ยวจะได้มีส่วนช่วยสังเกต และเฝ้าระวังสถานการณ์ของโลมา นอกจากนี้ยังมีการหารือกันเพื่อวางแนวทุ่น สำหรับบอกเขตที่อยู่อาศัยของโลมา และป้องกันการรุกล้ำของเรือประมงอวนรุน อวนลาก โดยการดำเนินการเหล่านี้ถือเป็นความร่วมมือของ 4 ฝ่าย คือ ชุมชนชาวขนอม โครงการ BRT และโททาล
 
        ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ได้กล่าวในช่วงสุดท้ายของการประชุมว่า การวิจัยมีความสำคัญกับการอนุรักษ์  เพื่อให้ได้ข้อมูลสนับสนุนการอนุรักษ์ แต่เมื่อข้อมูลเหล่านี้ถูกคืนกลับให้ชุมชนรับทราบแล้ว หน้าที่สำคัญของชุมชนคือ  ต้องร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นของตน วันนี้เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานวิจัย หน่วยงานราชการ และภาคประชาชน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มีประโยชน์ และควรร่วมกันทำงานต่อไป

  ภาพบรรยากาศการประชุม

   นำเสนอข้อมูลโลมา นำเสนอข้อมูลโลมา ชาวบ้านมีส่วนร่วม

ดร.บำรุงศักดิ์ให้ข้อเสนอแนะ บรรยายเรื่องการวางแนวทุ่น ชมนิทรรศการ

 

  

 

 
มอสพืชจิ๋ว คุณค่าไม่จิ๋ว PDF พิมพ์ อีเมล
ข้าวตอกฤาษีนักวิจัย BRT เผยหลากประโยชน์ของพืชจิ๋ว...มอส ลิเวอร์เวิร์ต ฮอร์นเวิร์ต ในงานเสวนา "มอสพืชจิ๋ว คุณค่าไม่จิ๋ว" ระบุพืชกลุ่มมอสมีศักยภาพสูงในด้านสิ่งแวดล้อม และการส่งออก ลิเวอร์เวิร์ต ฮอร์นเวิร์ต มีคุณสมบัติทางยา สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลหากนำศักยภาพที่ซ่อนเร้นออกมาใช้ ชี้ไทยมีความหลากหลายของพืชจิ๋วสูง ควรเร่งทำการศึกษาก่อนต่างชาติเข้ามาฮุบผลประโยชน์ 
 

                วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "มอสพืชจิ๋ว คุณค่าไม่จิ๋ว" ขึ้นที่อาคารสวทช. ถนนพระราม 6 โดยได้เชิญนักวิจัยด้านพืชจิ๋ว และผู้ประกอบการด้านธุรกิจส่งออกมอส มาให้ความรู้เกี่ยวกับกลุ่มพืชจิ๋ว และประโยชน์มากมายที่ซ่อนเร้นอยู่

                ผศ.ดร.รสริน พลวัฒน์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พืชจิ๋ว หรือศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า พืชกลุ่มไบรโอไฟต์ มี 3 กลุ่ม คือ มอส (moss) ลิเวอร์เวิร์ต (liverwort) และฮอร์นเวิร์ต (hornwort) เป็นพืชกลุ่มแรกที่วิวัฒนาการจากน้ำขึ้นมาสู่บก จากหลักฐานฟอสซิลทำให้ทราบว่าพืชกลุ่มไบรโอไฟต์มีกำเนิดบนโลกนี้มากว่า 400 ล้านปี ในยุคที่บรรยากาศโลกยังไม่คงที่ มีทั้งก๊าซชนิดต่างๆ และความร้อนสูง ทำให้พืชกลุ่มนี้ต้องพัฒนากลไกพิเศษขึ้นเพื่อการอยู่รอด เช่น การเติบโตแบบไร้ทิศทางเพื่อให้สามารถขยายจำนวนออกไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด การมีโครงสร้างที่ดูดซับความชื้นและน้ำได้เร็ว เนื่องจากมีประกอบด้วยเซลล์เรียงซ้อนกันไม่มากนัก (ประมาณ 1-10 ชั้นเซลล์) และการสร้างโครงสร้างสืบพันธุ์ที่มีจำนวนมากทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ เป็นต้น

               ในระบบนิเวศป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นสูง ไบรโอไฟต์ทำหน้าที่เหมือนฟองน้ำคอยดูดซับความชุ่มชื้นให้กับผืนป่า โดยมอสมักอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ปกคลุมพื้นป่า ทำให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ในดินได้มาก ด้วยเหตุนี้จึงมีการนำมอสมาใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้มอสข้าวตอกฤาษี (Sphagnum moss) คลุมดินในกระถางต้นไม้ โดยจะเก็บกักน้ำไว้ในเซลล์ใบที่มีการเรียงตัวของเซลล์แบบพิเศษ ป้องกันการสูญเสียน้ำภายในดิน และจะไม่แย่งน้ำจากกระถางต้นไม้ทำให้ดินยังคงความชุ่มชื้นอยู่ได้นาน

                น.ส.กาญจนา วงค์กุณา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่าในแถบประเทศเมืองหนาวมีการนำมอสมาใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใช้เพื่อลดปัญหามลพิษและฝุ่นละออง มอสถูกนำมาปลูกแทนหญ้าที่บริเวณเกาะกลางถนน เนื่องจากเป็นพืชที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศแบบต่าง ๆ ได้ดี และช่วยกักเก็บความชื้นในอากาศทำให้อากาศไม่ร้อนอบอ้าวและลดปัญหาการกระจายของฝุ่นละออง นอกจากนี้ยังมีการนำไปใช้คลุมหลังคา และกำแพง เพื่อลดความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้าน ช่วยให้บ้านมีอุณหภูมิคงที่ และช่วยประหยัดการใช้พลังงานภายในบ้าน

                สำหรับในประเทศไทย มอสถูกนำมาใช้ในการจัดสวน หรือตกแต่งตู้ปลาบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายนัก แต่อย่างไรก็ดี ในประเทศไทยยังมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายมอสเพื่อใช้ตกแต่งสวนอยู่บ้างแม้จะไม่แพร่หลายนัก แต่ธุรกิจการจำหน่ายมอสก็มีศักยภาพในการสร้างรายได้ได้ปีละหลายล้านบาท ซึ่งข้อจำกัดของการจำหน่ายมอสขณะนี้คือยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์มอสได้ จึงคาดว่าหากมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์มอส จะช่วยให้การใช้ประโยชน์จากมอสในด้านสิ่งแวดล้อมแพร่หลายมากขึ้น

                ด้าน น.ส. สุนทรี กรโอชาเลิศ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า ลิเวอร์เวิร์ตเป็นไบรโอไฟต์อีกกลุ่มที่มีสำคัญ เพราะนอกจากจะมีความสามารถในการดูดซับน้ำ และความชุ่มชื้นแล้ว ลิเวอร์เวิร์ตยังมีโครงสร้างพิเศษที่แตกต่างจากไบรโอไฟต์กลุ่มอื่นๆ คือ มีหยดน้ำมัน (oil body) อยู่ภายในเซลล์ ซึ่งหยดน้ำมันของลิเวอร์เวิร์ตบางชนิดสามารถนำมาสกัดเป็นยาปฏิชีวนะได้

                "ในประเทศที่มีการศึกษาลิเวอร์เวิร์ตอย่างจริงจัง เช่น ประเทศญี่ปุ่น มีการศึกษาสารภายในโครงสร้างหยดน้ำมันของลิเวอร์เวิร์ต เพื่อหาสารที่มีฤทธิ์ antibiotic ด้านต่าง ๆ เช่น anti-microbial antifungal antipyretic เป็นต้น ซึ่งพบว่าสารดังกล่าวจะมีสรรพคุณในเชิงการแพทย์ และบางชนิดก็เป็นสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต ของเซลล์โรคร้ายแรงบางชนิดในการทดลอง เช่น เซลล์มะเร็ง เป็นต้น" น.ส.สุนทรี กล่าว

                 อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะมีความหลากหลายของพืชกลุ่มไบรโอไฟต์สูง แต่การศึกษายังมีไม่มากนัก โดยข้อมูลความหลากหลายของชนิดที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นการศึกษาโดยนักวิจัยต่างชาติที่ทำขึ้นมาเมื่อประมาณ 60-100 ปีมาแล้ว รายงานจำนวนไบรโอไฟต์ทั้งหมดในประเทศไทยประมาณ 1,000 ชนิด ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังมีข้อมูลด้านการกระจายพันธุ์และสถานภาพของพืชกลุ่มนี้ตลอดจนรายละเอียดประจำชนิดมีน้อยมาก ดังนั้นการค้นหาตำแหน่งที่สามารถพบไบรโอไฟต์ชนิดต่าง ๆ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และจำเป็นต้องศึกษาควบคู่ไปกับการหาศักยภาพพิเศษของไบรโอไฟต์ เพื่อให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้

                ทั้งนี้ ผศ.ดร.รสริน กล่าวทิ้งท้ายว่า ไบรโอไฟต์เป็นพืชจิ๋วที่มีคุณค่าสูงมาก แม้ประเทศไทยจะยังไม่เห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ของพืชกลุ่มนี้มากนัก แต่สำหรับนักวิจัยต่างชาติ ต่างกำลังจับตามองทรัพยากรที่อยู่ในประเทศของเรา เนื่องจากเขารู้ว่าพืชเหล่านี้มีประโยชน์และสามารถนำไปแปลงเป็นมูลค่าได้มากเพียงใด จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจัยไทยที่จะต้องเร่งทำการศึกษา และสร้างบุคลากรที่มีความสนใจศึกษาในด้านนี้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เราได้ทราบว่าทรัพยากรที่สำคัญของประเทศเราอยู่ที่ตรงไหนบ้าง และจะสามารถนำไปพัฒนาเพื่อนำประโยชน์ของพืชเล็กๆ จากป่า มาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร


ตัวอย่างไบรโอไฟต์ชนิดต่างๆ

 มอสชงชา ลิเวอร์เวิร์ตฮอร์นเวิร์ต

 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL