RocketTheme Joomla Templates
กำเนิดปะการัง PDF พิมพ์ อีเมล

ปะการังกำเนิดมาบนโลกสีน้ำเงินใบนี้กว่า 500 ล้านปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับมนุษย์แล้ว ถือว่าปะการังอยู่บนโลกใบนี้มานานกว่าพวกเรามากนัก ปะการังก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ พยายามจะดำรงเผ่าพันธุ์ตัวเองไว้ จากรุ่นสู่ร่นจากลูกสู่หลาน เมื่อปะการังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากตัวเป็นกลุ่มก้อน (colony) ก่อเกิดแนวการังขึ้นมา แล้วกระจายตัวออกไปตามพื้นที่ต่างๆ จนในปัจจุบันเราสามารถพบเห็นแนวปะการังได้ทั่วไปโดยเฉพาะในเขตร้อนอย่างบ้านเรานั้นเอง

ประเทศไทยพบแนวปะการังได้ทั้งทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน  มีปะการังกว่า 270 ชนิด จาก 1000 กว่าชนิดทั่วโลก ซึ่งเป็นที่อาศัยของปลากว่า 4,000 ชนิด รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในทะเลมากมาย แนวปะการังโดยทั่วไปพบได้ตั้งแต่ผิวน้ำจนถึงประมาณ 30 เมตร หรือในบริเวณแสงอาทิตย์ส่องถึง อุณหภูมิประมาณ 20-32 องศาเซลเซียส และมักจะเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่น้ำค่อนข้างใส แต่ก็มีบางชนิดที่ปรับตัวและอาศัยอยู่ได้ในบริเวณน้ำขุ่น

“ปะการัง” กล่าวถึงพระเอกกันสักนิด ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลที่สามารถดึงแคลเซียมคาร์บอเนตจากน้ำทะเลมาสร้างบ้านของตัวเองหรือโครงสร้างหินปูนได้สามารถสืบพันธุ์หรือเพิ่มจำนวนตัวได้ 2 แบบ คือโดยการอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ เช่นเดียวกับสัตว์หลายชนิดเช่น  ต่างกับคนเราที่สืบพันธุ์ได้แบบเดียวคือสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศในปะการังก็มีหลายแบบค่ะเช่น การแตกหักจากก้อนปะการังเดิม หรือการแตกหน่อ ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศซึ่งมีทั้งแบบที่ปล่อยตัวอ่อนออกมาสู่มวลน้ำโดยตรงและแบบที่ปะการังปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และน้ำเชื้อ) ออกมาผสมเกิดเป็นตัวอ่อนในมวลน้ำ หลังจากนั้นตัวอ่อนปะการังจะดำรงชีวิตเป็นแพลงก์ตอนคือล่องลอยไปตามมวลน้ำซึ่งใช้ระยะเวลาในมวลน้ำแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด เมื่อตัวอ่อนปะการังพร้อมก็จะเลือกลงเกาะในพื้นที่ที่เหมาะสม

ส่วนช่วงเวลานั้นปะการังเองก็มีช่วงเวลาการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ โดยมักจะอ้างอิงกับพระจันทร์แต่ก็แตกต่างกันไปบ้างในแต่ละชนิดและสถานที่ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนไป 1-2 เดือน โดยมากปะการังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์หลังจากพระอาทิตย์ตกดินประมาณ 2-3 ชั่วโมงในช่วง 3-4 วันหลังพระจันทร์เต็มดวง และมักเกิดปรากฎการณ์ที่พบว่าปะการังแต่ละชนิดในแนวปะการังแต่ละพื้นที่จะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์พร้อมๆ กันในช่วงเวลาเดียวกันเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้ไข่และน้ำเชื้อที่ปล่อยออกมาจากปะการังแต่ละตัวจะเกิดการผสมพันธุ์กันมากที่สุด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่หลายคนที่ทำงานเกี่ยวกับทะเลหรือปะการังเฝ้ารอที่จะมีประสบการณ์สักครั้งกับการพบเห็นการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ของปะการัง แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวค่อนข้างที่จะจำเพาะและอาจแตกต่างกันไปในแต่ละปีรวมถึงยังไม่มีการศึกษาให้รู้ถึงช่วงเวลาที่ชัดเจนทำให้พลาดโอกาสสำคัญนี้ได้ง่าย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าปะการังฝั่งทะเลอ่าวไทยมีแนวโน้มที่จะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในช่วงที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นหรือในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนและฝั่งทะเลอันดามันพบปะการังหลายชนิดปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ในช่วงเวลาเดียวกัน

เมื่อปะการังกำลังจะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์นั้นมันจะดันไข่พร้อมถุงน้ำเชื้อมาอยู่บริเวณด้านผิวของโครงสร้างหินปูนสักพักหนึ่งก่อนที่ก้อนเซลล์สืบพันธุ์ (bundel) จะถูกปล่อยออกมา  รูปร่างหน้าตาของไข่ปะการังนั้นส่วนมากมีลักษณะเป็นวงรีมีขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร สีส้ม แดงหรือเขียวแตกต่างกันบ้างเล็กน้อยในแต่ละชนิด ไข่ปะการังหลายชนิดมีขนาดใหญ่จนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า  ภายในของไข่ปะการังส่วนใหญ่ประกอบด้วยไขมันและน้ำเป็นส่วนประกอบหลักจึงมีพฤติกรรมลอยอยู่บริเวณผิวน้ำทำให้สามารถลอยไปในพื้นที่ต่างๆได้ไกลออกไป ซึ่งพื้นที่ที่ตัวอ่อนปะการังจะลงเกาะมักจะลงเกาะบนพื้นผิวที่แข็ง ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตดังที่กล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นสิ่งมีชีวิตอื่นบางชนิดยังเป็นตัวชักนำให้ปะการังลงเกาะอีกด้วย เช่นสาหร่ายสีแดงพวกที่สร้างหินปูนเป็นลักษณะเคลือบ  หลังจากที่ตัวอ่อนปะการังลงเกาะแล้ว พวกมันยังมีความสามารถพิเศษตรงที่ถ้าพบว่าพื้นที่นั้นไม่เหมาะสมก็สามารถที่จะปล่อยตัวเองให้หลุดออกจากพื้นผิวแล้วลอยไปตามน้ำเพื่อหาพื้นผิวใหม่ที่เหมาะสมต่อไปได้อีกด้วย และเมื่อพอใจกับบ้านที่เหมาะแล้วมันก็จะเจริญเติบโตขยายขนาดจนกลายเป็นแนวปะการังที่เราพบเห็นในปัจจุบัน

เรื่อง/ภาพ ลลิตา ปัจฉิม

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 188 บุคคลทั่วไป ออนไลน์