RocketTheme Joomla Templates
“ปลาในแนวปะการัง” ผู้สร้างสมดุลให้กับแนวปะการัง PDF พิมพ์ อีเมล

        แนวปะการัง (Coral reef) เป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่มีความสำคัญในด้านความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต และ “ปลา” ก็เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง ซึ่งมีความหลากหลายทั้งทางด้านชนิด ขนาด พฤติกรรมการกินอาหาร และการอยู่อาศัย จึงทำให้ปลามีบทบาทที่หลากหลายในระบบนิเวศแนวปะการัง

        บทบาทหลักของปลาในแนวปะการังคือการเป็นผู้ควบคุมประชากรสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในแนวปะการัง ทั้งพืช สัตว์ และปลาด้วยกันให้อยู่ในภาวะที่สมดุล ซึ่งมีผลอย่างยิ่งต่อการพัฒนาของแนวปะการัง โดยจะยกตัวอย่างบทบาทที่สำคัญของปลาต่อแนวปะการัง เช่น ปลากินพืช (Herbivorous fishes) พวกปลานกแก้ว (Parrotfish) ปลาขี้ตังเบ็ด (Surgeonfish) ปลาสลิดหิน (Damselfish) มีหน้าที่ในการควบคุมประชากรสาหร่ายในแนวปะการังไม่ให้มีมากเกินไป ทำให้ตัวอ่อนปะการังมีพื้นที่ยึดเกาะเพิ่มขึ้น ปะการังก็จะมีมากขึ้น ส่วนปลาที่กินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหาร (Carnivorous fishes) ก็จะควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็กไม่ให้มีมากจนเกินความสามารถในการรองรับของแนวปะการัง ปลาที่กินปลาเป็นอาหาร (Piscivorous fishes) จะเป็นผู้ควบคุมและคัดเลือกประชากรปลาด้วยกันโดยจะเลือกกินเหยื่อที่มีลักษณะอ่อนแอทำให้ประชากรที่เหลืออยู่เป็นประชากรที่แข็งแรงและสืบทอดเผ่าพันธุ์ต่อไปได้

        นอกจากนี้การที่ปลามีความหลากหลายของพฤติกรรมการดำรงชีวิตทำให้ปลาเป็นผู้ถ่ายทอดพลังงานระหว่างระบบนิเวศแนวปะการังกับระบบนิเวศอื่นๆ ที่ปลาอพยพไปอาศัยอยู่อีกด้วย สำหรับมนุษย์แล้วปลาในแนวปะการังเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีความจำเป็น เป็นแหล่งสร้างรายได้จากการประมง และความสวยงามแปลกตาของปลาในแนวปะการังยังก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวดำน้ำเพื่อชมปลาหายากบางชนิด เช่น ปลากบ (Frogfish) ปลาไหลริบบิ้น (Ribbon eel) ม้าน้ำ (Seahorse) เป็นต้น

        การศึกษาปลาในแนวปะการังเป็นสาขาที่ยังมีผู้ศึกษาน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่ ดังนั้นการศึกษาในสาขานี้จึงยังต้องการการสนับสนุนอีกมากเพื่อให้มีองค์ความรู้ที่เพียงพอสำหรับการจัดแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรเหล่าให้มีความยั่งยืนในอนาคต

ฝูงปลาหลากหลายชนิดในแนวปะการังที่แต่ละตัวก็มีสีสันสดใสสะดุดตา
ซึ่งปลาเหล่านี้ช่วยสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศแนวปะการัง

 

เรื่องและภาพ : จิระพงศ์ จีวรงคกุล
ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานคริน
ทร์

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 294 บุคคลทั่วไป ออนไลน์