เพรียงหัวหอม (Tunicate, sea squirte) เป็นสัตว์ทะเลที่มีรูปร่างแตกต่างกันกับสัตว์น้ำจืดอย่างมากมาย ทั้งโครงสร้างภายนอกที่พบเห็นและสีสันที่สวยงาม ในความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ทะเล มีข้อมูลกล่าวถึงไม่มากนัก นักวิทยาศาสตร์กลุ่มเล็กๆ ที่ทำการศึกษาและจัดจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไว้เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน เพื่อรู้ถึงทรัพยากรสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย หรือครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมีสิ่งมีชีวิตนี้อยู่ งานทางด้านอนุกรมวิธานขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก นั้นยิ่งทำให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทะเลลดน้อยลงไปด้วย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก ภายในระยะเวลา 15-20 ปี ทรัพยากรธรรมชาติที่เคยมีอยู่มากมายและหลากหลาย ได้รับผลกระทบจากการต้องการใช้ทรัพยากรจนเกินขีดความสามารถของธรรมชาติที่จะฟื้นฟู ทะเลไทยวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ่าวไทย ไม่เหลือความอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีตอีกแล้ว หลากหลายแนวทางในการอนุรักษ์ การปลูกจิตสำนึก การบังคับใช้กฎหมาย และการช่วยกันดูแลและรักษาทรัพยากร มีส่วนช่วยให้ท้องทะเลไทยได้คืนกลับมาเหมือนครั้งในอดีต
เพรียงหัวหอม ตามความเข้าใจของคนทั่วไป อาจคิดว่าเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับเพรียงหิน หรือแม่เพรียง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย นิยามของเพรียงหัวหอมอาจเกิดจากในช่วงแรกมีการพบเพรียงหัวหอมในประเทศไทยพบเพรียงหัวหอมแบบ (Solitary) คิดไปว่าเกาะติดอยู่บริเวณน้ำขึ้นน้ำลง หรือบริเวณกองหินติดหาดทราย มีผิวหนังอ่อนนุ่ม ดำรงชีวิตแบบเดียว อย่างเดียว รูปทรงคล้ายหัวหอม จึงตั้งชื่อตามสิ่งที่พบเห็น ซึ่งในความเป็นจริง เพรียงหัวหอมรูปร่างแบบเดียวนั้น มีอยู่แค่ 20 % ของประชากรทั้งหมดของเพรียงหัวหอม ส่วนใหญ่มีรูปร่างแบบ (Colony) กลุ่มมากกว่า ดังนั้นนิยามศัพท์ไม่สามารถบอกถึงลักษณะที่ใกล้เคียงกับเพรียงหัวหอมได้เลย แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
เพรียงหัวหอมแบบเดียว สามารถพบได้ทั่วไปทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน
เพรียงหัวหอม จัดเป็นสัตว์ในกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ทั้งที่ในความเป็นจริงอยู่ใน Phylum Chordata ด้วยเหตุที่ว่าเพรียงหัวหอมเมื่อโตเต็มวัย ไม่มีโครงสร้างของกระดูกสันหลังเหลืออยู่ ด้วยลักษณะพิเศษหลายอย่างจึงมีหลายทฤษฎี เกี่ยวกับเพรียงหัวหอม เช่นเพรียงหัวหอมเป็นต้นกำเนิดของสัตว์มีกระดูกสันหลังในเวลาต่อมา หรือเพรียงหัวหอมเป็นสัตว์เชื่อมต่อกันระหว่างสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และสัตว์มีกระดูกสันหลัง อาจบอกได้ว่าเป็น บรรพบุรุษของมนุษย์นั้นเอง นอกจากนั้นเพรียงหัวหอมยังมีอวัยวะต่างๆ เช่นหัวใจ ระบบประสาท กระเพาะอาหาร ลำไส้ ขนคล้ายขนจมูกในคน หรือแม้แต่อวัยวะสืบพันธุ์ แต่เพรียงหัวหอมเป็นสัตว์ 2 เพศ ผสมพันธุ์ภายในตัวเอง บางชนิดสืบพันธุ์ได้หลากหลาย เช่น แบ่งตัว หรือแตกหน่อคล้ายต้นกล้วย นั้นทำให้เพรียงหัวหอมมีความสามารถในการดำรงเผ่าพันธุ์ได้ดี
ตัวอ่อนเพรียงหัวหอม คล้ายลูกอ๊อด แต่เมื่อโตเต็มวัย แกนค้ำจุนร่างกายจะหายไป
ค.ศ. 1967 Takasi Tokioka ทำการจัดจำแนกเพรียงหัวหอมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่ามีเพรียงหัวหอม ในประเทศญี่ปุ่นพบ 2 สปีชีส์ ฟิลิปปินส์ 23 สปีชีส์ ประเทศไทย 2 สปีชีส์ เป็นรายงานเพียงรายงานเดียวที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันค้นพบเพรียงหัวหอมในประเทศไทยมากกว่า 35 ชนิด ซึ่งมีทั้งแบบดำรงชีวิตแบบเดียวและดำรงชีวิตแบบกลุ่ม คาดว่าจะสามารถรายงานวิจัยการค้นพบได้ในปี 2550 แต่ยังไม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ อาจจะต้องทำการวิจัยอย่างต่อเนื่องประมาณ 2-3 ปี จึงจะทราบว่ามีเพรียงหัวหอมอยู่กี่ชนิด
การนำเพรียงหัวหอมมาใช้ประโยชน์ นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของเพรียงหัวหอม เพื่อนำมาเป็นตัวยาต้านมะเร็ง ทำไมนักวิทยาศาสตร์ถึงได้ให้ความสนใจ นั้นมาจากการที่เพรียงหัวหอมดำรงชีวิตแบบเกาะติด (อยู่กับที่) เพรียงหัวหอมจึงไม่ถูกสัตว์อื่น เช่น ดาวทะเล ปลาทะเล กินเป็นอาหาร เพรียงหัวหอมอาจปล่อยเคมีบางอย่างทำให้ศัตรูทางธรรมชาติไม่สามารถกินได้ นอกจากนี้เพรียงหัวหอมบางชนิดสามารถนำมาเป็นอาหารได้ ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี มีการนำเพรียงหัวหอมมาเป็นอาหารมานานแล้ว โดยรับประทานกันสดๆ เพรียงหัวหอมยังเป็นดัชนีบ่งชี้ปริมาณตะกอนได้อีกด้วย สามารถบอกได้ว่าน้ำทะเลบริเวณที่มีเพรียงหัวหอมจำนวนมากคุณภาพน้ำไม่ดีนัก เพรียงหัวหอมยังมีสีสันสวยงามและเลี้ยงง่าย เริ่มได้รับความนิยมนำมาตกแต่งในตู้ปลาทะเล เหมาะแก่การนำมาเพาะขยายพันธุ์ สามารถขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง
รูปภาพที่ 4 เพรียงหัวหอมฟ้าขอบเหลือง
รูปภาพที่ 5 เพรียงหัวหอมใสขอบเหลือง
ข้อมูล/ภาพ นายสุชา มั่นคงสมบูรณ์ สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา
|