RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


ประกาศผลรางวัลโปสเตอร์ 7 สิ่งมหัศจรรย์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย PDF พิมพ์ อีเมล

การจัดโปสเตอร์ กิจกรรมที่อยู่คู่การจัดประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ปีนี้แปลกใหม่กว่าเดิม ด้วยหัวข้อ 7 สิ่งมหัศจรรย์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

โดยผู้จัดงานอยากให้โปสเตอร์ในปีนี้ เป็นโปสเตอร์เืพื่อสังคมที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย บุคคลทั่วไป เด็ก และเยาวชน สามารถเข้าถึงองค์ความรู้จากงานวิจัย

ซึ่งในครั้งนี้นักวิจัยที่ได้ร่วมการจัดแสดงโปสเตอร์ ได้นำองค์ความรู้ที่มีอยู่มาแปลงให้เป็นเนื้อหา และรูปแบบโปสเตอร์ที่ชวนอ่าน และเข้าใจได้ง่าย จำนวน 79 โปสเตอร์

โดยโปสเตอร์ที่ได้รับรางวัลโปสเตอร์ดีเด่น 5 รางวัล มีดังนี้

1. รองเท้านารี...สวยเหลือร้ายดอกไม้จอมเจ้าเล่ห์ โดย นางสาวศุภลักษณ์ ภูมิคง มหาวิทยาลัยทักษิณ

2. ความเหมือนที่แตกต่างของปุดคางคก โดย นางสาววาสนา จงไกรจักร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

3. เทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการสุ่มตัวอย่างปลาให้ครอบคลุมทั้งลำน้ำ โดย นางสาวเพียงใจ ชนินทรภูมิ มหาวิทยาลัยบูรพา

4. ระบบนิเวศชายฝั่งทะเล : สายใยแ่ห่งชีวิตจากบก...สู่ทะเล โดย นางสาวอัญชลี มะลิวัลย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

5. ผึ่ง (เพิ่ง) รู้ต้องพึ่งกัน โดย นางสาวชามา อินซอน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

และรางวัล Popular vote ได้แก่

รองเท้านารี...สวยเหลือร้ายดอกไม้จอมเจ้าเล่ห์ โดย นางสาวศุภลักษณ์ ภูมิคง มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

 
ประกาศผลรางวัล การประกวดสื่อเผยแพร่ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ประกาศไว้ให้โลกรู้ PDF พิมพ์ อีเมล

หลายคนที่ไปร่วมงานประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 14 คงจะได้สัมผัสกับสื่อเผยแพร่ "ความหลากหลายทางชีวภาพ ประกาศไว้ให้โลกรู้" ทั้ง 8 ผลงาน ซึ่งเป็นผลงานที่มาจากองค์ความรู้ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้ส่งเข้าประกวด และบางท่านคงได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนนกับผลงานที่ท่านชื่นชอบไปแล้ว

โดยผลการประกวดสื่อเผยแพร่ "ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ประกาศไว้ให้โลกรู้" มีดังนี้

รางวัลชนะเลิ

ผลงาน Seed dispersal in climate change โดย นางชฎาพร เสนาคุณ และนายอารยะ เสนาคุณ มหาวิทยาลัยมหาสารคา

เรื่องราวการแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชโดยวิธีการต่างๆ และผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มีต่อการกระจายเมล็ดพันธุ์ ด้วยเทคนิคการมีส่วนร่วม (Interactive) เกมที่ทำให้เกิดความสนุกสนานไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ และการ์ตูนแอนนิเมชั่นที่น่ารัก ทำให้กรรมการต้องยกรางวัลชนะเลิศให้แก่ผลงานชิ้นนี้ และหากทุกคนยังจำได้ นี่คือเจ้าของผลงาน "กุ้งเดินขบวน" ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับหลายคนในงานประชุมฯ ครั้งที่ 13

รางวัลรองชนะเลิศ จำนวน 3 รางวัล ได้แก่

1. ผลงาน Crab delight โมเดลสายพันธุ์ปู สวยหรูที่สุดในประเทศไทย โดย นายวชิระ ใจงาม, ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และ ผศ.พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

การรวบรวมปูทะเลหลากหลายชนิดที่มีบทบาทในระบบนิเวศต่างๆ อาทิ หาดเลน หาดหิน หาดทราย และแนวปะการัง ทำให้ผู้ชมได้รู้จักปูกลุ่มที่มีบทบาทต่างๆ ในระบบนิเวศ และยังได้เรียนรู้จักปูทะเลกลุ่มต่างๆ ที่พบในประเทศไทย

2. ผลงาน Claymation สาหร่ายทะเลลดโลกร้อน โดย นางสาวจารุวรรณ มะยะกูล, นางสาวสุภัทรา พงศ์ภราดร และทีมวิจัยสาหร่ายและหญ้าทะเล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

การ์ตูนแอนนิเมชั่นดินน้ำมัน นำโดยน้องมารีน ได้พาทุกท่านไปพบกับความงดงาม ความหลากหลาย และคุณประโยชน์ของสาหร่ายทะเลหลายชนิด ทั้งที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำ และอาหารของมนุษย์ รวมไปถึงสาหร่ายทะเลที่ช่วยลดโลกร้อน

3. ผลงาน ฉันอยู่นี่...ศัตรูที่รัก โดย นายดุสิต งอประเสริฐ และทีมวิจัยนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สารคดีที่นำภาพจากกล้องดักถ่า่ย จากงานวิจัยด้านนิเวศวิทยา มาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวของผู้ล่าและผู้ถูกล่าหลายๆ คู่ ทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้เกี่ยวกับห่วงโซ่อาหารในป่า รวมถึงพฤติกรรมการล่าของสัตว์ผู้ล่าหลายชนิด

 

รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่

1. ผลงาน Once upon a time in Isan โดย ดร.คมศร เลาห์ประเสริฐ และทีมวิจัยศูนย์วิจัยและศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การ์ตูนแอนนิเมชั่นย้อนอดีต เรื่องราวของแผ่นอนุทวีปฉานไทยและอินโดจีนที่มาบรรจบกันและก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้นในที่ราบสูงโคราช ที่มาของการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์โลกล้านปี

2. ผลงาน ปฏิทินกาลเวลาความหลากหลายทางชีวภาพ โดย นายพฤกษ์ จิรสัตยาภรณ์ มหาวิทยาลัยมหิด

รูปแบบการเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นแบบใหม่ ที่ใช้การเก็บข้อมูลเป็นรายปี สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเก็บข้อมูลของสิ่งมีชีวิตได้หลายชนิด

3. ผลงาน ไทรโต้รุ่ง-ชีวิตสัมพันธ์ 24 ชั่วโมง โดย นายดุสิต งอประเสริฐ และทีมวิจัยนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

สารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวของต้นไทร ตลาดโต้รุ่งแห่งผืนป่า ต้นไม้ที่มีการใช้ประโยชน์ตลอด 24 ชั่วโมง นำเสนอภาพการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่าประเภทต่างๆ บนต้นไทร

 

รางวัลแห่งความพยายาม และความสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย จำนวน 1 รางวัล ได้แก่

ผลงาน อัดไว้ในเรซิ่น พืชวงศ์ส้มกุ้ง โดย นายธรรมรัตน์ พุทธไทย และ รศ.ดร.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

รางวัลพิเศษที่มอบให้กับความพยายามในการหาวิธีการจัดเก็บตัวอย่างพรรณพืชรูปแบบใหม่ โดยดูต้นแบบจากการจัดเก็บพรรณไม้ในพิพิธภัณฑ์ของต่างประเทศ ที่ยังคงสีสันที่สดใสของใบ และดอกของพืช การจัดเก็บตัวอย่างพรรณไม้ไว้ในเรซิ่นครั้งนี้จึงนับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของนักวิจัยไทย

รางวัล Popular vote จำนวน 1 รางวัล ได้แก่

ผลงาน Seed dispersal in climate change โดย นางชฎาพร เสนาคุณ และนายอารยะ เสนาคุณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การลงคะแนนให้กับผลงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งในปีนี้ นับว่าเป็นเรื่องยาก ด้วยความน่าสนใจและความคิดสร้างสรรค์ที่ขนกันมาอย่างมากมาย ทำให้คะัแนนโหวตค่อนข้างสูสีกันมาก แต่ที่ต้องยกให้เป็นที่หนึ่งสุดยอดขวัญใจมหาชน คงหนีไม่พ้นผลงาน Seed dispersal in climate change เรียกได้ว่าหน้าจอของผลงานนี้ไม่เคยว่างเว้นจากผู้คนเลยทีเดียว

โครงการ BRT ต้องขอขอบคุณผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้ง 8 ทีม รวมไปถึงผู้ที่ส่งแนวคิดเข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้ นี่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่จะนำไปสื่อสารต่อสาธารณชนต่อไป ซึ่งจะเป็นการนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยไปขยายต่อ และสร้างความรู้ ความตระหนัก รวมถึงจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับผู้ที่ได้รับชมผลงานต่อไป

ในการนี้ โครงการ BRT หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประกวดในครั้งต่อไป เราจะได้รับความสนใจจากนักวิจัย และผู้มีความคิดสร้างสรรค์ในการสรรค์สร้างงานสื่อเผยแพร่ที่มีคุณค่าเช่นนี้อีกค่ะ โปรดติดตามข่าวสารการประกวดครั้งต่อไปได้ทางเว็บไซต์ BRT นะคะ

 

 
ประมวลภาพงานประชุม BRT ครั้งที่ 14 PDF พิมพ์ อีเมล

ผ่านไปแล้วพร้อมกับรอยยิ้มแห่งความประทับใจ กับงานประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ แอนด์ คอนเวนชั่นเซนเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี

งานประชุมปีนี้เรียกได้ว่าเข้มข้น ทั้งเนื้อหาวิชาการ การบรรยาย และกิจกรรมสื่อสารความรู้รูปแบบต่างๆ ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน เพื่อให้เห็นพัฒนาการของโครงการ BRT ที่ย่างก้าวมาถึงปีที่ 15  อีกทั้งเืพื่อฉลองปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการนำเสนอแง่มุมต่างๆ ของความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยที่มีอยู่มากมาย

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปเข้าร่วมงานประชุมปีนี้ ทีมงาน BRT ได้ประมวลภาพ และเรื่องราวประทับใจมาให้ท่านชมค่ะ

ปีนี้เป็นอีกปีที่ ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT

ในโอกาสนี้ ท่านอำพลได้กล่าวในพิธีเปิดถึงความสำคัญและความหลากหลายทางชีวภาพในจังหวัดอุบลราชธานีและภูมิภาคอีสานใต้ โดยเฉพาะเขาพระวิหาร โดยท่านได้ฉายภาพที่เคยไปเยือนเขาพระวิหารในอดีต ซึ่งทำให้เห็นพัฒนาการของพื้นที่ดังกล่าว

ตัวแทนจากเจ้าภาพร่วม 2 สถาบัน ได้แก่ ผศ.ดร.อุทิศ อินทรประิสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ รศ.นพดล จันทร์เพ็ญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี กล่าวเปิดงานและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม

เปิดเวทีบรรยายวิชาการ โดยบรรยายพิเศษของ ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ด้วยประเด็นที่ทุกคนอยากรู้ "15 ปีบนเส้นทางความร่วมมือโครงการ BRT และอนาคตของโครงการ BRT"

การบรรยายเช้าวันที่สอง รวมงานวิจัยในท้องถิ่นอีสาน นำทีมการบรรยายโดย ศ.ดร.ละออศรี เสนาะเมือง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ภาคบ่าย การบรรยายผสมผสานการประกวด BRT the star ปีที่ 2 ปีนี้มาผู้เข้าร่วมประกวดด้วยกัน 6 คน จาก 6 สถาบัน และ 6 แนวงานวิจัย ทั้งขึ้นเขาสูง ดำลงทะเล เดินป่า ปลูกต้นไม้

ซึ่งผู้ที่ผ่านด่านการตัดสินของคณะกรรมการ จนได้รับตำแหน่ง BRT The star คนที่ 2 คือ น้องเปมิกา อภิชนังกูร สาวหน้าใสจากรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เด็กปั้นอาจารย์อัญชนา ประเทพ และที่ชนะใจมหาชน คว้ารางวัล Popular Vote คือ คุณอัจฉรา ซิ้มเจริญ ผู้ที่สร้างเสียงหัวเราะ และกำลังใจให้กับนักวิจัยทุกคน เพราะคงไม่มีงานวิจัยใดเหนื่อยและเสี่ยงภัยเท่ากับงานวิจัยเสือโคร่ง

สำหรับเวทีวิชาการวันสุดท้าย ต้องยกความแซ่บให้กับวงเสวนา "วัฒนธรรมปลาร้า ปลาแดก" โดย อ.โสฬส ศิริไสย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผศ.วรรณวไล อภิวาสน์พงศ์ มหาวิทยาัลัยอุบลราชธานี ที่นำความรู้และเมนูปลาร้า ปลาแดกรสแซ่บอีหลีมาฝากผู้เข้าร่วมประชุม

และปิดท้ายด้วยสุนทรพจน์ปิดงานประชุมฯ ครั้งที่ 14 โดย ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการ BRT ซึ่งได้กล่าวถึงคุณค่าของงานวิจัยพื้นฐาน และจุดเด่นของโครงการ BRT ที่เป็นมากกว่าหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย แต่ยังเป็นแหล่งที่ผลิตบุคลากร นักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาสืบทอดงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพต่อไปในอนาคต

บรรยายความสนุกสนานที่พบกันได้ปีละครั้ง

หนังสือยังเต็มแผง                            นักขายกิตติมศักดิ์                          อ.สุชนา แจกรายเซ็น

เบื้องหลังเสวนาปลาร้า                           มุมโปสเตอร์                                  มุมภาพถ่าย

สนุกได้ทุกเพศทุกวัย                             สาวสวยอัปสรา                               รวมมิตรจอมยุทธ์

 
การเบิกค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 14 PDF พิมพ์ อีเมล

ผ่านพ้นไปแล้วนะคะ สำหรับงานประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 14 ที่จังหวัดอุบลราชธานี ฝ่ายเลขานุการโครงการ BRT ต้องขอขอบพระคุณทุกท่านที่เข้าร่วมงานประชุมซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การประชุมในครั้งนี้มีสีสันดังเช่นการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา

สำหรับผู้ที่ได้ลงทะเบียนขอทุนสนับสนุนการเข้าร่วมการประชุมนั้น เงินที่ท่านได้สำรองจ่ายไปก่อน สามารถเบิกคืนได้แล้วค่ะ โดยขอให้ท่านดำเนินการดังนี้

1. กรอกรายละเอียดค่าใช้จ่ายในแบบฟอร์มการใช้จ่ายเงิน

2. ใบเสร็จรับเงินทุกรายการให้ปะลงบนกระดาษ A4 ให้เรียบร้อย (เพื่อป้องกันใบเสร็จสูญหาย) พร้อมเขียนกำกับด้วยว่าเป็นใบเสร็จอะไร เช่น ตั๋วเดินทางโดยรถทัวร์จากกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี หรือตั๋วรถไฟจากหาดใหญ่-กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี  เป็นต้น ในกรณีที่ท่านเดินทางโดยเครื่องบิน โปรดแนบ boarding pass มาด้วย

3. สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ที่จะให้โอนเงินเข้า พร้อมเซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง

4. ส่งเอกสารทั้งหมดมาที่โครงการ BRT  ภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553 (กรุณาส่งมาภายในเวลาที่กำหนดเท่านั้น หากเกินกว่านี้โครงการ BRT จะไม่รับเบิกจ่ายใบเสร็จของท่านไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น)

หมายเหตุ

1. ใบเสร็จรับเงินที่จะนำมาเบิกจากโครงการ BRT จะต้องเป็นใบเสร็จตัวจริงเท่านั้น

2. ผู้มีสิทธิ์เบิกค่าโปสเตอร์ได้คือ ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดโปสเตอร์ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้เท่านั้น

 
25 กันยา ดีเดย์วันปิดรับลงทะเบียน PDF พิมพ์ อีเมล

ใครยังไม่ได้ลงทะเบียนร่วมงานประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 14 ต้องรีบแล้วนะคะ

ระบบลงทะเบียนของเราจะปิดรับการลงทะเบียน ในวันที่ 25 กันยายนนี้แล้วค่ะ

และสำหรับท่านใดที่ลงทะเบียนมาแล้ว ยังไม่โอนเงินมา กรุณาโอนเงินและโทรศัพท์เข้ามาแจ้งการโอนเงิน ที่ฝ่ายเลขานุการโครงการ BRT ด้วยค่ะ

ลืมไม่ได้สำหรับการจองห้องพักที่ รร.สุนีย์แกรนด์ฯ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการจองห้องพักได้ที่นี่เลยค่ะ จากนั้นแฟกซ์หรืออีเมลไปถึงโรงแรมโดยตรงเลยนะคะ

แล้วพบกันที่อุบลราชธานี วันที่ 10-12 ตุลาคมนี้นะคะ ^_^

 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL