RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


3 หน่วยงาน ภายใต้กระทรวงวิทย์ฯ ผนึกกำลัง สร้างความเข้มแข็งให้งานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ PDF พิมพ์ อีเมล
สวทช./วว./อพวช. เดินหน้าความร่วมมือการจัดการข้อมูลงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์เร่งด่วนงานวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ หวังสร้างฐานข้อมูลภาพรวมงานวิจัยด้านทรัพยากรชีวภาพ มีประโยชน์ทั้งในแง่การบริหารจัดการทรัพยากร วางนโยบาย และการใช้ประโยชน์

เมื่อวันอังคารที่ 5 เมษายน 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีพิธีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การจัดการข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงฯ ที่มีบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

alt



alt



alt



ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า  ที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้มุ่งหวังที่จะบูรณาการข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สร้างกลไกการทำงานร่วมกัน และจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชน และอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องได้

หน่วยงานทั้ง 3 แห่ง มีความเข้มแข็งในสาขาแตกต่างกันไป กล่าวคือ  สวทช. มีความโดดเด่นด้านการศึกษาวิจัยจุลินทรีย์สายพันธุ์ต่างๆ นำไปประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม รวมไปถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชีวภาพและสิ่งแวดล้อม สำหรับ วว. มีการวิจัยและพัฒนาสาหร่ายและพืช เพื่อใช้ประโยชน์ในการเกษตร อาหาร สุขภาพ และพลังงาน  ส่วนอพวช. มีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เป็นแหล่งเก็บรักษาตัวอย่างอ้างอิง และตัวอย่างต้นแบบที่พบครั้งแรกในโลก

“การบรูณาการข้อมูลทั้ง 3 หน่วยงาน จะทำให้ได้ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ จุลินทรีย์ไม่น้อยกว่า 100,000 ข้อมูล โดยจะมีการประเมินโครงสร้างฐานข้อมูลของแต่ละแห่ง ดึงความโดดเด่นของข้อมูลสิ่งมีชีวิตออกมา นำมาจัดกลุ่ม แบ่งประเภท  ดูสถานภาพการแพร่กระจาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลก ชนิดที่หายาก ชนิดเฉพาะถิ่น และใกล้สูญพันธุ์  มีกลไกการประเมินศักยภาพ ตลอดจนการตีมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อแสดงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ฐานข้อมูลดังกล่าวจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2554 ” ดร.วีระชัย กล่าว

ผลที่ตามมาจากการทำฐานข้อมูล  จะทำให้ข้อมูลต่างๆ อยู่ในรูปแบบมาตรฐานสืบค้นได้ง่าย ข้อมูลจะถูกแบ่งลำดับชั้นการเข้าถึง  มีการกำหนดวิธีการเข้าถึงข้อมูลอย่างเหมาะสม  ข้อมูลเหล่านี้เป็นคลังความรู้ที่มีคุณค่าของประเทศ ที่จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น เช่น สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์ และเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อศึกษาวิจัยต่อสำหรับนักวิชาการ ที่สำคัญ ฐานข้อมูลทำให้ประเทศมีข้อมูลอ้างอิงทางภูมิศาสตร์ สามารถยืนยันถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตของประเทศไทยในเวทีโลก

ด้าน ดร.พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน เป็นเรื่องที่น่ายินดี ทำให้งานด้านความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน เปรียบเสมือนการเชื่อมต่อความรู้และข้อมูลตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงการใช้ประโยชน์ สามารถนำความรู้ไปบริหารจัดการ และวางนโยบายให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะประสานต่อไปยังฐานข้อมูลอื่นๆ ของประเทศในอนาคตเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ในส่วนของหน่วยงานความร่วมมือทั้ง 3 หน่วยงาน โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ผนึกกำลังในการสร้างความเข้มแข็งในการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในครั้งนี้



 
เปิดสอนวิชานิเวศวิทยาทางทะเล ภาคฤดูร้อน PDF พิมพ์ อีเมล

ข่าวดีสำหรับนักศึกษา ป.ตรี - ป.โท ที่มีความสนใจด้านนิเวศวิทยาทางทะเล ปิดเทอมภาคฤดูร้อนนี้ มีโครงการสอนวิชานิเวศวิทยาทางทะเล ภาคฤดูร้อน รับสมัครจำนวนจำกัด

อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ภูเก็ต โดยความสนับสนุนจาก บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด จัดโครงการสอนวิชานิเวศวิทยาทางทะเล (Marine Ecology) ภาคฤดูร้อน ในระหว่างวันที่ 18 เมษายน - 21 พฤษภาคม 2554 ให้กับนักศึกษาที่สนใจ จำนวน 30 คน ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งที่ 19 ในการจัดสอนภาคฤดูร้อน

คุณสมบัติของผู้สมัคร นักศึกษาที่ผ่านวิชานิเวศวิทยาเบื้อนต้น และวิชาสัตว์ไร้กระดูกสันหลัง หรือเทียบเท่า ควรเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2-4 หรือกำลังศึกษาในระดับบัณฑิตวิทยาลัย

สนใจสามารถสมัครได้ โดยขอรายละเอียดและใบสมัครได้จากสถาบันของท่าน หรือ ดูรายละเอียดพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครที่ http://stpark.wu.ac.th

ส่งใบสมัครทางไปรษณีย์ หรือ โทรสาร หรือ อีเมลพร้อมไฟล์ใบสมัครและใบรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา ได้ที่

ดร.ปิติวงษ์ ตันติโชดก อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 80160 โทรศัพท์ : 075-672602 โทรสาร : 075-672604 มือถือ 081-891-3525 อีเมล อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

ส่งใบสมัครภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 และประกาศผลวันที่ 8 มีนาคม 2554

 
ประกาศ : การปรับการบริหารจัดการโครงการ BRT PDF พิมพ์ อีเมล
สวัสดีปีเถาะ 2554 ขอให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัย และทำงานวิจัยด้วยความสุข ตลอด

ปี 2554 เป็นปีที่โครการ BRT มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ที่สำคัญได้แก่ การปรับการบริหารจัดการใหม่ จากเดิมเป็นโครงการพิเศษที่ร่วมสนับสนุนระหว่าง สกว. และ ศช. เป็น โปรแกรมทรัพยากรชีวภาพ (Bioresources Research and Technology Program-NSTDA : BRT Program-NSTDA) บริหารงานภายใต้ฝ่ายบริหารจัดการคลัสเตอร์และโปรแกรมวิจัย สวทช. มีภารกิจสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้ปรับปรุงใหม่ รวมทั้งปรับการบริหารจัดการทุนวิทยานิพนธ์ ทั้งนี้ตั้งแต่ มกราคม 2554 เป็นต้นไป ผู้สนใจต้องการเสนอข้อเสนอโครงการ ขอให้ดูรายละเอียดแผนงานและใช้แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการใหม่ที่ www.biotec.or.th/brt

ดูรายละเอียดแผนงา

แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการใหม่ โปรแกรมทรัพยากรชีวภาพ

นส่วนของทุนวิทยานิพนธ์ ขอยกเลิกการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบข้อเสนอทุนวิทยานิพนธ์ตามที่โครงกา BRT ได้ดำเนินการ แต่ปรับเปลี่ยนมาเป็นการพัฒนาบุคลากรนักศึกษาที่อยู่ภายใต้โครงการวิจัย โดยอาจารย์จะเป็นผู้ยื่นแบบฟอร์มขอทุนนักศึกษา แนบมากับข้อเสนอโครงการวิจัยของอาจารย์ เกณฑ์การสนับสนุนนักศึกษาใช้เกณฑ์เช่นเดียวกับทุน TGIST คือ เงินเดือน 8,000 บาทต่อเดือน ค่าเล่าเรียนจ่ายตามจริง ไม่เกิน 60,000 บาทต่ปี ระยะเวลาให้ทุนไม่เกิน 2 ปี สำหรับระดับปริญญาเอกนั้น เงินเดือนๆ ละ 10,000 บาท ค่าเล่าเรียนจ่ายตามจริงไม่เกิน 60,000 บาทต่อปี ระยะเวลาให้ทุนไม่เกิน 3 ปี ส่วนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยให้ใช้เงินในโครงการวิจัย ทั้งนี้ตั้งแต่ มกราคม 2554 เป็นต้นไ
 
สวัสดีปีใหม่ 2554 PDF พิมพ์ อีเมล


ในวาระดิถีขึ้นปีใหม่

โครงการ BRT ขอให้คุณพระศรีรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย

โปรดดลบันดาลให้ สมาชิกเว็บไซต์ BRT ทุกท่าน

จงประสบความสุขตลอดปีกระต่ายที่จะมาถึงนี้ค่ะ

 
รอยยิ้มไม่จาง จากงานเลี้ยงรับรอง BRT Got Talent PDF พิมพ์ อีเมล

เก็บตกภาพความประทับใจ กับความสามารถที่แอบซ่อนไว้ของนักวิจัยและผู้รับทุนโครงการ BRT ด้วยการแสดงที่เตรียมพร้อมกันมาเป็นอย่างดี

ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานประชุมส่งชุดการแสดงขึ้นมาอวดความสามารถกันบนเวทีถึง 5 ทีม ซึ่งแต่ละทีมก็ได้งัดทีเด็ด ทั้งความสามารถเฉพาะตัว ทีมเวิร์ค ความคิดสร้างสรรค์ อุปกรณ์ประกอบฉากพร้อมพรั่งอลังการ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในงานเลี้ยงรับรองงานประชุมวิชาการโครงการ BRT

เชิญติดตามภาพความประทับใจได้เลยค่ะ

"พาแลเลใต้" (คลิ๊กเพื่อชมภาพการแสดง)

ชุดการแสดงจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำทีมโดย อ.อัญชนา ประเทพ การแสดงชุดนี้อลังการด้วยอุปกรณ์ประกอบฉาก ที่ขนมาทั้งหญ้าทะเลหลากชนิด สาหร่ายทะเล สัตว์ทะเลมากหน้าหลายตา ทั้งโลมาสีชมพู เต่า และพยูน ซึ่งถือว่าความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้การแสดงในรายการเกมซ่าส์ท้ากึ๋นเลยทีเดียว

เรียกได้ว่านอกจากความสนุกสนานเพลิดเพลินเหมือนได้ไปเที่ยวทะเลแล้ว ยังแอบแฝงไว้ด้วยเนื้อหาสาระความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกด้วย

"คนล่าซาก The Musical"

การแสดงจากทีมศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นำทีมโดย อ.คมศร เลาห์ประเสริฐ นำเสนอเรื่องราวการขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ ที่ช่วยฟื้นคืนชีพให้กับไดโนเสาร์ได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ดูจากเทคนิคการคืนชีพของไดโนเสาร์แล้ว คาดว่าคงได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงตรุษจีน หรือ กินเจ นะคะเนี่ย

"หักงวงไอยรา"

ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี นำโดย ดร.สัมพันธ์ ทองหนูนุ้ย ถ่ายทอดเรื่องราวความขัดแย้งของคนกับช้างที่ต้องหาแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันให้ได้ เป็นการแสดงที่มีเนื้อหาหนักหน่วง จริงจัง แต่ก็เป็นการสะท้อนแง่มุมที่เกิดขึ้นจริง ต้องขอบอกว่าการแสดงนี้แร๊งงง และดังมากจริงๆ โดยเฉพาะเสียง "แป๊รนนนน" ของโขลงไอยรา

"Amazing BRT"

หากคุณคือคนที่คลุกคลีและอยู่ในแวดวงของบีอาร์ทีมาเป็นเวลานาน เมื่อท่านได้ชมการแสดงชุดนี้ คงจะมีทั้งรอยยิ้ม และคราบน้ำตา (หัวเราะจนน้ำตาเล็ด) อิ อิ

ทีมจากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย อ.รสริน พลวัฒน์ ทำเอาผู้ชมด้านล่างลืมกินอาหารกันไปเลย เพราะการแสดงเปิดมาด้วยความซาบซึ้ง และปิดท้ายด้วยรีวิวประกอบเพลงพร้อมกับหน้ากากของบุคคลสำคัญที่ร่วมก่อร่างสร้างบีอาร์ทีึ้นมาถึงทุกวันนี้

"มโนราห์"

จาก Mr. ไรฝุ่น มาสวมวิญญาณพรานบุญ และมโนราห์ ทำเอาทุกคนเซอร์ไพรส์กับความสามารถที่ซ่อนเร้นอยู่ ของ        อ.จรงค์ศักดิ์ พุมนวม ที่มาอวดลีลาอ่อนช้อยเป็นมโนราห์ และควงคู่มากับ อ.อำมร อินทร์สังข์ ผู้ที่ไม่เคยรู้จักการแสดงมโนราห์มาก่อน แต่ก็วาดลวดลายได้อย่างน่าประทับใจคนดู

ปิดท้ายด้วยพิธีกรคู่ขวัญคู่้เดิม ที่ขาดไม่ได้ ปีนี้ก็ยังคงเรียกเสียงฮา และเพิ่มบรรยากาศสนุกสนานให้กับงานเลี้ยงรับรองอีกเช่นเคย

ขวัญข้าว สาวสวย และ อ.วิเชฏฐ์ กบไทย

ขอขอบคุณความตั้งใจ และทุ่มเทของทุกการแสดง หวังว่าในปีต่อไปท่านคงได้มาสร้างความสุขให้เราอีกครั้ง

พบกันใหม่ปีหน้าคะ

 

 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL