RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


งานวิจัยกิ้งกือออกรายการคลับเซเว่นของไตรภพ ลิมปพัทธ์ PDF พิมพ์ อีเมล
รายการ Club 7รายการใหม่แกะกล่องของไตรภพ ลิมปพัทธ์ ที่ชื่อว่า "Club 7" ทางช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ ที่มีนัยว่าจะออกมาแข่งกับรายการ "ตี 10" ของวิทวัส สุนทรวิเนตร เมื่อคืนวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เวลาประมาณ 22.20 น. เป็นครั้งที่สองของรายการ ได้ชวนผู้ชมทั้งในห้องส่ง และผู้ชมทางบ้าน ได้รู้จักกับสัตว์ที่ผู้คนพากันรังเกียจ แต่กลับมีบทบาทที่สำคัญในระบบนิเวศ และทำชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้เอง คือ "กิ้งกือ"


รายการได้เชิญ ศาสตราจารย์ ดร. สมศักดิ์ ปัญหา แห่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญกิ้งกือของไทย ที่ค้นพบ "กิ้งกือมังกรสีชมพู" "Shocking Pink Millipede" ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบัน IISE (International Institute for Species Exploration) ให้อยู่ในลำดับ 3 ของ Top 10 new  species exploration ของโลก  มาพร้อมกับกิ้งกือหลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่กิ้งกือกระบอกที่พบทั่วไป กิ้งกือตะเข็บเหลือง กิ้งกือกระสุนพระอินทร์ กิ้งกือยักษ์ กิ้งกือแดง กิ้งกือแบนขนาดเล็ก ไปจนถึงกิ้งกือมังกรสีชมพู เหล่านี้เป็นการแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนบทบาทที่สำคัญคือการสร้างปุ๋ยธรรมชาติให้กับป่าไม้ และที่สำคัญคือคุณไตรภพได้เปลี่ยนทัศนคติผู้คนให้เห็นประโยชน์ของกิ้งกือ ที่ถือว่าคือทรัพย์ในดินของไทยที่จะช่วยคนไทยกู้วิกฤต นอกจากนั้นสิ่งที่เล่าขานกันว่ากิ้งกือกัดคนตายนั้นไม่สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากกิ้งกือไม่มีอวัยวะใด ๆ ที่จะทำร้ายผู้คนได้ 

ไตรภพ ลิมปพัทธ์ กับกิ้งกือกระบอก ขณะสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ ปัญหา

 
ปุ๋ยบำรุงดินจาก 'สาหร่าย' ใช้ธรรมชาติช่วยบำบัด...ธรรมชาติ PDF พิมพ์ อีเมล
           หลายประเทศกำลังเผชิญกับการเอาชนะปัญหาความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน (sustainable food security) ทำให้ต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านเพาะปลูก และจากราคาน้ำมันโลกที่ถีบตัวสูงขึ้น ภาคเกษตรของไทยโดยเฉพาะ "ชาวนา" จึงตกอยู่ภาวะเสี่ยงทั้งต้นทุน การแข่งขันด้านส่งออก ซื้อ-ขาย ส่วนหนึ่งเพราะยังต้องนำเข้า "ปุ๋ย" จากต่างประเทศ ในวันนี้ดินหลายแห่งเริ่มมีสภาพเสื่อมโทรม อันเป็นผลพวงจาก "การจัดการ" ที่มุ่งแต่ "เร่งรัด อย่างรวดเร็ว" ในระยะเวลาสั้น

          เพื่อฟื้นฟูดิน แหล่งน้ำ ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการศูนย์ จุลินทรีย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงทำการศึกษาวิจัยโดยนำ "สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว" มาใช้ปรับสภาพดิน

          ดร.อาภารัตน์ บอกว่า เมื่อก่อนเกษตรกรชาวนารู้จัก "ปุ๋ยชีวภาพ" น้อยมาก ประกอบกับ "เคมี" เป็นที่นิยมนำมาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งนับวันจะต้องใช้จำนวนมากขึ้น ไม่เช่นนั้นผลิตผลที่ได้อาจ "เท่าเดิมหรือลดน้อยถอยลง"

         ทั้งนี้ เมื่อสำรวจแปลงนาหลายแห่งแถบภาคอีสานที่ไม่ใส่ปุ๋ยพบว่าจำนวนข้าวที่ได้ยังคงเดิม ดังนั้น ดร.พงษ์เทพ อันตะริกานนท์ เป็นคนแรกเริ่มโครงการนี้ใน วว. (23 ปีก่อน) จึงเก็บตัวอย่างดินนาทุกอำเภอของจังหวัดในประเทศไทย ศึกษาโดยเติมอาหารที่เป็นสูตรสายพันธุ์คัดเลือกเฉพาะกับสาหร่ายที่มีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจน นำมาเพาะเลี้ยงทดสอบห้องปฏิบัติการ ศูนย์จุลินทรีย์ (ศจล.) ของสถาบันฯ พบว่า "สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว" อยู่ได้เกือบทุกสภาพแวดล้อม ปรับตัวเก่ง ทั้งยังสะสมอาหารหน้าแล้ง เมื่อมาแช่น้ำสามารถเจริญเติบโตได้ เป็นเช่นนี้เนื่องจากตัวเคลือบ (พอลิแซคคาร์ไลด์) ที่ห่อหุ้มและป้องกันรังสียูวี ทนต่อความร้อน ทำให้อยู่รอดในสิ่งแวดล้อมได้ดี

         จึงนำมาเข้าสู่ขบวนการเติมสารอาหารที่ดินต้องการในรูป "ปุ๋ยชีวภาพ" ซึ่งมีจุลินทรีย์มีชีวิต เสมือนใส่โรงงานผลิตปุ๋ยเล็กๆ ลงไปในดิน บางส่วนตาย ส่วนที่รอดจะปรับตัวพร้อมขยายพันธุ์ต่อไป ซึ่งวิธีนี้เป็นการใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ

         เพื่อให้สะดวกต่อการใช้จึงทำออกมาแบบผง ผสมกับวัสดุรองรับ (ฟิลเลอร์) แต่เกษตรกรไม่นิยมเพราะใช้ยากจึงปั้นเป็นเม็ด จากนั้นเอาไปใช้ในแปลงนาทดสอบในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ปทุมธานี สกลนคร และสุพรรณบุรี

        โดยทำแปลงเปรียบเทียบคือ แปลง A ใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมี 50 เปอร์เซ็น และ แปลง B ใช้ปุ๋ยเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ในหนึ่งฤดูการเพาะปลูก พบว่าแปลง A สภาพดินดีขึ้น รากต้นข้าวสามารถชอนไชหาอาหารได้ยาว ลำต้นแข็งแรง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ย 75-80 ถัง/ไร่

         ส่วนแปลง B ได้ผลผลิต 80 ถัง/ไร่ ต้นข้าวไม่แข็งแรง รากมีน้อย ปีที่ 2 ใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณ 1 ใน 4 หลังเก็บเกี่ยวพบว่าปริมาณผลผลิต แปลง A เพิ่ม 10-20 เปอร์เซ็นต์ สรุปว่า ปริมาณข้าวเปลือกที่ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ระยะเวลาการใช้ แม้ฤดูแรกผลิตผลน้อยลงหรือคงที่ แต่มีการลงทุนที่น้อยลงกว่าเดิม

         ฉะนี้...แม้จะเห็นผลช้า แต่เกษตรกรต้องช่วยตัวเองทำทุกอย่าง ยอมที่จะได้ผลน้อยๆในช่วงแรก กระทั่งเมื่อดินมีการพักฟื้นตัว ผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นเหมาะสมกับต้นทุนที่ใช้ไป ใครปรับตัวเปิดใจย่อมประสบผลสำเร็จไปยังจุดคุ้มทุนก่อน

         ชาวนาทั้งมือใหม่หัดไถ และมือ อาชีพที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2577-9000 ในวันและเวลาราชการ.


                                                                        เพ็ญพิชญา เตียว [16 มิ.ย. 51 - 00:18]


ที่มา : http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=93631

ข่าวการเกษตร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปีที่ 59 ฉบับที่ 18411 วันพุธ ที่ 18 มิถุนายน 2551

 
สำรวจถ้ำ PDF พิมพ์ อีเมล
ดร.วราวุธ สุธีธรดร.วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ได้เดินทางเข้าสำรวจถ้ำปะการัง ตั้งอยู่ด้านเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 7-8 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าเป็นถ้ำหินปูน ภายในมีหินงอกหินย้อยจำนวนมาก เป็นถ้ำที่เกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อน โดยน้ำฝนได้กัดเซาะหินปูนจนมีรอยแตกน้ำฝนที่ไหลตามหิน ทำให้เกิดหินงอกหินย้อยมีรูปร่างต่างกันสวยงาม

          "ถ้ำที่นี่เกิดจากภูเขาหินปูนที่มีลักษณะภูมิประเทศสูงๆ ต่ำๆ เกิดขึ้นในทะเลมีอายุทางธรณีวิทยา 250-400 ล้านปี ประมาณช่วงคานิฟอรัสถึงฟอร์เมียน ซึ่งดูได้จากฟอสซิลในเนื้อหินในถ้ำที่สามารถเห็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียวเล็กๆ ปรากฏติดอยู่ โดยช่วงประมาณปลายปีนี้จะส่งทีมเข้ามาสำรวจอีกครั้ง เพื่อหาอายุและรายละเอียดอีกครั้ง"



 

ที่มา : มติชน   วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11049

 
“กิ้งกือมังกรสีชมพู” ขึ้นแท่น 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบแห่งปี PDF พิมพ์ อีเมล
              ทุกๆ ปี คณะกรรมการคัดเลือกการค้นพบสิ่งมีชีวิตในโลกของ IISE (International Institute for Species Exploration) ตั้งอยู่ที่ Arizona State University ประเทศสหรัฐอเมริกา จะประกาศรายชื่อ 10 สุดยอดของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ จากจำนวนการค้นพบชนิดใหม่หลายพันชนิดทั่วโลก

          และในปีนี้การประกาศรายชื่อ 10 สุดยอดของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 โดยคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิจาก 14 สถาบันที่มีชื่อเสียง อาทิ Harvard University, University of Kansas, Natural History Museum London, Royal Botanic Garden Kew UK, ICZN, CSIRO Australia ได้ทำการคัดเลือกจากผลงานการค้นพบที่ได้บรรยายรายละเอียดแล้วใน ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ซึ่งมีหนึ่งการค้นพบสำคัญของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา และคณะ จากหน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์ของสัตว์ (Animal Systematics Research Unit) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยสำรวจอย่างต่อเนื่องและได้ร่วมงานกับโครงการ BRT มาอย่างยาวนาน คือการค้นพบ "กิ้งกือมังกรชมพู" ทั้งนี้เจ้ามังกรชมพูยังติดอยู่ในอันดับ 3 จาก 10 อันดับอีกด้วย

 

กิ้งกือมังกรสีชมพู

ชื่อวิทยาศาสตร์: Desmoxytes purpurosea

ลักษณะเด่นที่ทำให้ถูกคัดเลือก: สีสันสีชมพูที่โดดเด่นแบบ shocking pink ลักษณะรูปร่างที่สง่างามด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร รวมไปถึงสารพิษประเภทไซยาไนด์ที่ขับออกมาป้องกันศัตรูที่เป็นผู้ล่าทั้งหลาย

          การค้นพบครั้งนี้เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ประเทศไทยยังอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆได้ และคนไทยต้องช่วยกันดูแลรักษาไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไป การประกาศจัดอันดับโลกของ IISE ในครั้งนี้เป็นการนำชื่อเสียงมาสู่คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง ที่พร้อมประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าเรามีความสามารถไม่แพ้ใคร

 
Reference: H. Enghoff, C. Sutcharit & S. Panha. 2007. The shocking pink dragon millipede, Desmoxytes purpurosea, a colourful new species from Thailand (Diplopoda: Polydesmida: Paradoxosomatidae). Zootaxa 1563: 31-36.

Type material: Holotype, Museum of Zoology, Chulalongkorn University, Bangkok; paratypes, Chulalongkorn University and Natural History Museum of Denmark, University of Copenhagen.


ติดตามได้ที่: http://species.asu.edu/topten2008.php

 
ประชาสัมพันธ์การสัมมนา:ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทะเลในประเทศไทย PDF พิมพ์ อีเมล
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) กำหนดจัดการสัมมนาหัวข้อ "ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทะเลในประเทศไทย : สถานการณ์ปัจจุบัน ผลกระทบ และภาวะโลกร้อนกับการกระจาย" ในวันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2551 ณ ตึกอัญมณี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวลา 13.30 - 16.30 น.

กำหนดการ

13.30 - 13.40 น. รองศาสตราจารย์ ดร. เจริญ  นิติธรรมยง  หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล 

                           และ ศาสตราจารย์ ดร. วิสุทธิ์  ใบไม้  (ผู้อำนวยการโครงการ BRT)

                           กล่าวเปิดการสัมมนา

13.40 - 14.00 น. ภาพรวมของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทะเลในประเทศไทย และวิธีการแพร่สู่ประเทศไทย

                           (ดร. สุชนา  ชวนิชย์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

14.00 - 14.20 น. ผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นต่อระบบนิเวศทางทะเล: กรณีศึกษาของกุ้งขาว

                           (ดร. สุวรรณา  ภาณุตระกูล  มหาวิทยาลัยบูรพา)

14.20 - 14.40 น. กฎหมายเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มากับน้ำอับเฉาและการป้องกัน

                           (คุณปกรณ์  ประเสริฐวงศ์  กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี)

14.40 - 15.00 น. พัก

15.00 - 15.30 น. ภาวะโลกร้อนและการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทะเล: กรณีศึกษาใน

                           สหรัฐอเมริกา (Prof. Dr. Larry  Harris, University of New Hampshire, USA)

15.30 - 16.30 น. อภิปราย : ทิศทางการวิจัยเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในทะเลในประเทศไทย

                           (ผู้เข้าร่วมสัมมนา)

 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL