RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


โปรโมชั่นพิเศษต้อนรับปิดเทอม PDF พิมพ์ อีเมล

กุหลาบพระนามสิรินธรสมัครสมาชิก BRT MAGAZINE วันนี้ รับฟรีทันทีโปสเตอร์เฉลิมพระเกียรติสิ่งมีชีวิตในพระนามสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (โปสเตอร์ขนาด 42x60 เซนติเมตร) 4 ชุด ประกอบด้วย

ชุดที่ 1 : กุหลาบพระนามสิรินธร, เครือเทพรัตน์, จำปีสิรินธร, สิรินธรวัลลี
ชุดที่ 2 : เอื้องศรีประจิม, เอื้องศรีเชียงดาว, เอื้องศรีอาคเนย์
ชุดที่ 3 : ชันโรงสิรินธร, สิรินธรผีเสื้อกลางคืน, นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร, ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่
ชุดที่ 4 : ปูเจ้าฟ้า, กั้งเจ้าฟ้า, กุ้งเจ้าฟ้า,ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร

โปสเตอร์เฉลิมพระเกียรติสิ่งมีชีวิตในพระนามสมเด็จพระเทพ

 

ด่วน!!! จำนวนจำกัด หมดแล้วหมดเลย

สิทธิพิเศษนี้สำหรับผู้ที่สมัครสมาชิก
ภายในวันที่ 31 มีนาคมศกนี้เท่านั้น

สนใจสมัครทันที
Click  เลย

 
ครั้งแรกของเอเชีย!!! ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดประชุม “หอยและหมึกโลก” PDF พิมพ์ อีเมล

เป็นที่น่ายินดียิ่ง เมื่อสมาคมหอยนานาชาติ (Unitas Malacologica : UM) คัดเลือกประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม "2010 World Congress of Malacology"  ในปี 2553 นี้ นับเป็นการจัดงานครั้งแรกของทวีปเอเชีย จากเดิมที่มักจัดในประเทศแถบยุโรปเท่านั้น นอกจากนี้ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานสมาคมหอยนานาชาติ (President of UNITAS MALACOLOGIA) เนื่องด้วยผลงานวิจัยด้านหอยทากที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ซึ่งถือเป็นเกียรติต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างมาก โดยงานประชุมจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-24 กรกฎาคม 2553 ที่โรงแรม รอยัล ภูเก็ต ซิตี้ จังหวัดภูเก็ต  ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมหอยนานาชาติ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) 

ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหาศ.ดร.สมศักดิ์  กล่าวในฐานะประธานสมาคมหอยนานาชาติว่า งานประชุม "2010 World Congress of Malacology" เป็นเวทีการรวมตัวของนักวิชาการด้านสังขวิทยาชั้นนำของโลกไม่ต่ำกว่า 500 คน จากนานาประเทศ มีการประชุมถึง 10 หัวข้องานวิจัยใหญ่ๆ เพื่อร่วมหาแนวทางศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหอยและหมึกของโลกในทุกแง่มุม ตั้งแต่งานวิจัยองค์ความรู้พื้นฐาน ชีววิทยา นิเวศวิทยา การเพาะเลี้ยงจนถึงการอนุรักษ์  อีกทั้งยังมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีการศึกษาวิจัยระดับสูงร่วมกันภายใต้การดูแลของนักวิชาการชั้นนำของโลก นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับหมึกและหอยในประเทศไทย  โดยความร่วมมือกับของศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล จ.ภูเก็ต ,ศูนย์ป่าชายเลน จ.พังงา ที่สำคัญยังมีการจัดทัศนศึกษาให้นักวิชาการจากทั่วโลกได้ลงสำรวจพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อยืนยันให้เห็นถึงความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางชีวภาพของไทยด้วย รวมถึง "การจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย   แต่ยังเป็นโอกาสอันดีที่นักวิชาการไทยจะมีโอกาสได้พบและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการระดับโลก ซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองต่อยอดงานวิจัยได้มาก" ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ดีสำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานและลงทะเบียนในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2552 นี้ จะได้รับส่วนลดพิเศษ โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมและลงทะเบียนได้ที่ www.wcm2010.com หรือ โทร 02-218-5273


///////////////////////////////////////////


ข้อมูลจาก  ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย
สวทช.

 
ไทยพบไลเคน 4 ชนิดใหม่ภาคเหนือตอนบน บ่งชี้มลพิษทางอากาศ PDF พิมพ์ อีเมล
นักชีวะ มช.พบ ไลเคน 4 ชนิดใหม่ของโลกในภาคเหนือตอนบนของไทย ชี้เป็นดัชนีบ่งสภาพมลพิษทางอากาศของภูมิภาคได้  


ดร.วนารักษ์ ไซพันธ์แก้ว อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบไลเคนชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย หลังจากได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาความหลากหลายของไลเคนและชนิดที่เป็นตัวบ่งชี้ในการตรวจสอบผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ในบริเวณที่ลุ่มซึ่งถูกรบกวนในเขต 7 จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนของประเทศ

นักวิจัย สกว. เปิดเผยว่า ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยระหว่างราและสาหร่าย โดยราทำหน้าที่ช่วยปกป้องสาหร่ายจากความแห้งแล้ง ส่วนสาหร่ายทำหน้าที่สังเคราะห์แสงสร้างอาหารให้แก่ราและสาหร่ายเอง สาหร่ายในไลเคนส่วนใหญ่เป็นสาหร่ายสีเขียว และมีส่วนน้อยที่เป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ซึ่งพบในไลเคนชนิดที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง

 

 

ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ทนทานต่อมลพิษทางอากาศ การหายไปหรือการปรากฏขึ้นของไลเคนบางชนิด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางกายภาพของไลเคน เช่น การเกิดการฟอกขาวของไลเคน ดังเช่นที่เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำปาง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2550 เนื่องจากวิกฤตหมอกควันในพื้นที่ จึงสามารถใช้เป็นเป็นสัญญาณเตือนถึงการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพอากาศได้ ไลเคนถูกใช้เป็นเป็นตัวบ่งชี้มลพิษทางอากาศที่แพร่หลายในประเทศแถบยุโรปและอเมริกา โดยมีวิธีการมาตรฐานต่างๆ ในการใช้ไลเคนเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ

 

ไลเคน

ไลเคนที่ถูกฟอกขาวจากปรากฏการณ์ควันไฟในปี 2550

สำหรับประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อน มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูง แต่ยังมีการศึกษาความหลากหลายของชนิดของไลเคนและการนำมาใช้ประโยชน์อยู่น้อย ขณะที่มีการบุกรุกที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและการขยายตัวของชุมชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบนของไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของหลายจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
       
ดร.วนารักษ์ จึงได้สำรวจพื้นที่ทางภาคเหนือตอนบนของไทยรวมทั้งสิ้น 32 แห่ง แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตตัวเมือง 7 แห่ง และนอกเขตตัวเมือง 25 แห่ง ใน 7 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน และพะเยา โดยคัดเลือกต้นมะม่วงจำนวน 10 ต้นในพื้นที่ศึกษาแต่ละแห่ง เพื่อสำรวจชนิดและความถี่ของจำนวนของไลเคน เนื่องจากมะม่วงเป็นต้นไม้ที่มีพบได้ทั่วไปในพื้นที่ศึกษา มีความเป็นกรดเป็นด่างของเปลือกไม้ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป จึงเหมาะแก่การเจริญของไลเคน นอกจากนี้ยังมีลำต้นค่อนข้างตั้งตรงเหมาะแก่การวางกรอบสำรวจชนิดของไลเคน
       
จากการสำรวจพบว่าในเขตตัวเมืองมีจำนวนชนิดและความถี่ของไลเคนน้อยกว่าในเขตนอกตัวเมือง โดยพบไลเคนขนาดใหญ่ (macrolichen) ได้แก่ ไลเคนในกลุ่มฟอลิโอส ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นใบ คล้ายใบไม้ จำนวน 24 ชนิด ใน 9 สกุล โดยพบมากที่สุดในบริเวณที่อยู่รอบนอกเขตตัวเมืองในจังหวัดเชียงราย
       
นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนประชากรซึ่งสะท้อนถึงระดับของผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ มีความสัมพันธ์ผกผันกับความหลากชนิดและจำนวนของไลเคน โดยในเขตตัวเมืองที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เขตอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่ศึกษาในเขตจังหวัดลำพูน จะพบความหลากชนิดและจำนวนของไลเคนลดลง ขณะที่เขตนอกตัวเมืองที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่า พบความหลากชนิดของไลเคนเพิ่มขึ้น
       
ลักษณะทางภูมิศาสตร์และปริมาณน้ำฝนต่อปีโดยเฉลี่ย มีผลต่อการกระจายตัวของไลเคนเช่นกัน โดยพบไลเคนกลุ่มครัสโตสซึ่งมีลักษณะเป็นวงเจริญติดแน่นกับวัตถุที่เกาะอยู่จนดูคล้ายเป็นเนื้อเดียวกัน ในวงศ์ที่บ่งชี้ถึงสภาพป่าชื้นในพื้นที่ศึกษาในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน และพบความหลากหลายของไลเคนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายซึ่งมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงสุด
       
การสำรวจครั้งนี้ยังพบว่ามีไลเคนชนิดใหม่ของโลก 4 ชนิด ได้แก่ Bactrospora perspiralis  Saparrius, Saipunkaew & Wolseley ณ ปัจจุบัน พบที่จังหวัดลำปางเท่านั้น Bactrospora subdryina  Saparrius, Saipunkaew & Wolseley พบที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น Enterographa mesomela Saparrius, Saipunkaew & Wolseley พบที่จังหวัดเชียงราย และ Lecanographa atropunctata  Saparrius, Saipunkaew & Wolseley พบที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ซึ่งทั้ง 4 ชนิดเป็นไลเคนในกลุ่มครัสโตส
 
ทัลลัสของไลเคน Bactrospora    ทัลลัสของไลเคน Lecanographa
      ทัลลัสของไลเคน Bactrospora                 ทัลลัสของไลเคน Lecanographa
            ภายในมี spore สีดำ                              ภายในสีดำที่เห็นเป็น spore
 

ดร.วนารักษ์ กล่าวสรุปว่า ไลเคนกลุ่มครัสโตสเป็นกลุ่มที่พบมากในพื้นที่ราบลุ่มที่ถูกรบกวน ซึ่งจำแนกชนิดได้ยากและบางชนิดอาจเป็นชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีการค้นพบมาก่อน อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่าไลเคนในกลุ่มฟอลิโอส สามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ บ่งบอกถึงอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งผลกระทบจากมนุษย์ที่มีต่อกลุ่มไลเคนได้
        
ทั้งนี้มีไลเคนบางชนิดที่พบมากในเขตตัวเมืองซึ่งมีรายงานในต่างประเทศบ่งบอกว่าเป็นชนิดที่พบในสภาพที่มีฝุ่นละอองสะสมบนวัตถุที่เกาะอยู่ รวมทั้งการพบการฟอกขาวของไลเคนตามต้นไม้อย่างชัดเจนซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในพื้นที่ภาคเหนือ อย่างไรก็ตามการใช้ไลเคนเป็นตัวบ่งชี้อาจไม่สามารถระบุชนิดและปริมาณสารมลพิษได้อย่างชัดเจน แต่สามารถใช้เป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าถึงคุณภาพอากาศที่เราหายใจเข้าไปอยู่ทุกวัน



ข้อมูลจาก  manager online วันที่ 3 มีนาคม 2552 http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9520000024291
 
สเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่น... จากงานวิจัยสู่ธุรกิจ PDF พิมพ์ อีเมล
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 513 อาคาร ไบโอเทค สวทช. ได้มี พิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิสเปรย์น้ำมันหอมระเหยจากพืชกำจัดไรฝุ่น  ระหว่างโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) และ บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด


ดร.อำมร อินทร์สังข์ทีมวิจัยไรฝุ่น นำโดย ดร. อำมร อินทร์สังข์  และ คุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้ศึกษาวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับไรฝุ่นมาตั้งแต่ด้านอนุกรมวิธาน การแพร่กระจายและชีววิทยา จนกระทั่งสามารถค้นพบสารสกัดจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นได้สำเร็จ แต่หลังจากนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมกลับยังประสบปัญหา เนื่องจากสารสกัดมีการปะปนของสารอื่นๆอยู่มาก ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ยาก อีกทั้งในสารสกัดของพืชยังมีเม็ดสี จึงทำให้สีติดที่นอน และทำให้เกิดรอยด่างสร้างความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์บางอย่างได้  

คุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน ต่อมาทีมวิจัยซึ่งมี คุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน นักวิทยาศาสตร์ในสังกัดภาควิชาฯ เป็นกำลังหลัก ได้คิดค้นวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อทดแทนการใช้สารสกัดหยาบในการควบคุมไรฝุ่นชนิด Dermatophagoides  pteronyssinus จนประสบความสำเร็จ โดยนำพืช 8 ชนิดมาสกัดน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ การพลู อบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพา และมะพร้าว ผลปรากฎว่าน้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0% มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรฝุ่นสูงสุดคือ 100% รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นชัน ไพล และตะไคร้หอม ที่ความเข้มข้น 1.5 % โดยกำจัดไรฝุ่นได้  93.3 ,90.0 และ 76.7 ตามลำดับ จึงนำกานพลูและอบเชยมาเป็นสารประกอบหลัก และใช้ไพลกับตะไคร้หอมเป็นสารประกอบรองผสมเป็นสูตรน้ำมันหอมระเหย ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว สูตรน้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพรกำจัดไรฝุ่น ได้มีการทดลองบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อทดลองใช้ ซึ่งนอกจากฆ่าไรฝุ่นได้ 100% แล้ว ยังมีกลิ่นหอมและไม่เป็นอันตราย เป็นทางเลือกใหม่ในการกำจัดไรฝุ่น จึงนำไปสู่ความสนใจและขออนุญาตใช้สิทธิ จาก บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด ร่วมกับ บริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด

ด้าน ศ. ดร วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย กล่าวว่า "BRT เป็นหน่วยงานที่ให้ทุนการทำงานวิจัยพื้นฐาน ทางด้านความหลากหลายทางชีวาภาพ สำหรับเรื่องไรฝุ่นนี้ เริ่มตั้งแต่การวิจัยความหลากหลายและชีววิทยาของไรฝุ่น ใน จ.กาญจนบุรี ทำให้ทราบถึงชนิด วงจรชีวิต ตารางชีวิตของไรฝุ่น รวมถึงการทำวิจัยที่ควบคู่ไปกับการศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรกำจัดไรฝุ่น จนในที่สุดก็ได้เป็น วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพ"

ดร. กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ กล่าวว่า "ไบโอเทค ให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพตั้งแต่เริ่มต้น และให้การสนับสนุนโครงการ BRT ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ชีววิทยาพื้นฐานให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในงานด้านต่างๆ ได้ สำหรับ สเปรย์น้ำมันหอมระเหยที่ควบคุมและกำจัดไรฝุ่น นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จ ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณชานนท์ ระวังเหตุ บริษัท ไทยเฮิร์บ เทค จำกัด กล่าวว่า "บริษัทฯ ของเราเป็นบริษัทอยู่ในวงการสมุนไพรมานาน นอกจากนี้ยังได้มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรให้แก่ชุมชนด้วย การขออนุญาตใช้สิทธิในครั้งนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดีแก่บริษัทฯอย่างมาก เนื่องจาก สเปรย์น้ำมันหอมระเหยที่ควบคุมและกำจัดไรฝุ่นนี้ มีประโยชน์แก่ประชาชนในการกำจัดไรฝุ่น ปลอดภัยทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน"

ในขณะที่คุณสาริศา ปิ่นทอง บริษัท คนดี กรุ๊ป จำกัด กล่าวเสริมว่า "เดิมวิธีการป้องกันและกำจัดไรฝุ่น มีหลากหลาย ตั้งแต่ทิ้งอุปกรณ์เครื่องนอนที่ใช้มานานหลายปี การเลือกใช้ผ้าหรือเส้นใยที่เคลือบด้วยสารป้องกันไรฝุ่น การทำความสะอาดเครื่องนอน รวมถึงการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดไรฝุ่น แต่สเปรย์น้ำมันหอมระเหยนี้ มีประสิทธิภาพมาก ช่วยลดความยุ่งยากในการป้องกันและกำจัดไรฝุ่นได้มาก" 


หลอดดักจับไรฝุ่น    สเปรย์กำจัดไรฝุ่น

           หลอดดักจับไรฝุ่น                              สเปรย์กำจัดไรฝุ่น


สำหรับวิธีการใช้ สเปรย์น้ำมันหอมระเหยที่ควบคุมและกำจัดไรฝุ่นให้มีประสิทธิภาพ ควรฉีดน้ำมันหอมระเหยลงไปที่ฟูก ที่นอน หรือโซฟาแล้วนำพลาสติกหรือผ้าหนาๆมาคลุมไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ไอระเหยออกไปทำให้ไรฝุ่นที่หนีลงไปใต้ผิวที่นอนหรือโซฟาตายได้ ระยะการฉีดควรจะฉีด 2-3 เดือนต่อครั้ง เพราะไรฝุ่นอาจกลับมาภายหลังในช่วง 5-6 เดือนได้ โดยติดมากับหนู สัตว์เลี้ยง หรือติดมากับเสื้อผ้าเมื่อไปนั่งที่โซฟาหรือที่นอนซึ่งมีไรฝุ่นจากที่อื่นๆ



ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไรฝุ่น

ไรฝุ่นเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูล Phylum Arthopoda เช่นเดียวกับแมลงและแมง แต่มีลักษณะเด่นคือมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเพียง 0.3 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่ในที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียสและอยู่ในที่มีความชื้นสูงร้อยละ60-70 ไม่ชอบแสงสว่าง ดังนั้นในบ้านเรือนจึงพบไรฝุ่นได้ตามในที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรหม บนโซฟา ผ้าม่าน หรือตุ๊กตาที่ใช้วัสดุภายในเป็นเส้นใย

ไรฝุ่น   ไรฝุ่น

โดยทั่วไปแล้วไรฝุ่นจะมีวงจรชีวิต 5 ระยะ คือเมื่อตัวไรเข้าสู่ช่วงเจริญวัยเต็มที่จะเริ่มทำการผสมพันธุ์ ซึ่งหลังจากผสมพันธุ์ได้ 3-4 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่เฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งสามารถวางไข่ได้เพียงครั้งละ 1 ฟอง โดยตลอดชีวิตของไรฝุ่น 1 ตัว จะสามารถออกไข่ได้ถึง 80-100 ฟอง จากนั้นไข่จะเริ่มฟักเป็นตัวอ่อนภายในเวลา 8-12 วัน เข้าสู่ระยะวัยรุ่น 1 จะมีขา 6 ขา และทำการลอกคราบหลายครั้ง ซึ่งในระยะนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหว เมื่อเริ่มสร้างผิวตัวและเจริญเข้าสู่ระยะวัยรุ่น 3 จะมีขาครบ 8 ขา แล้วก็พัฒนาเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยที่มีลวดลายคล้ายนิ้วมือบนผิวตัว  ไรฝุ่นจะมีช่วงอายุไขทั้งหมดเพียง  2-4 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหาร อุณหภูมิและความชื้นในอากาศด้วย


ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหาร โดยเศษผิวหนัง 1 กรัมสามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ 1,000,000 ตัวนานถึง 1 สัปดาห์ อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25-30?C และความชื้นสัมพัทธ์ 75-80%  สารก่อภูมิแพ้หลัก  มักอยู่ในรูปของมูลและคราบของไรฝุ่น ซึ่งสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศและสูดดมเข้าไปได้ WHOได้กำหนด ระดับสารก่อภูมิแพ้ 2 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม หรือไรฝุ่น 100-500 ตัว/ ฝุ่น 1 กรัม  เป็นระดับมาตรฐานที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืด และ 10 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลันได้  ในประเทศไทยพบสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 11 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม และในกรุงเทพฯ พบปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 5 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม




ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ BRT

โทรศัพท์ 0-2644-8150-4 ต่อ 554 โทรสาร 0-2644-8106

 
รวมสิ่งมีชีวิตสุดยอดวิวัฒนาการ PDF พิมพ์ อีเมล
เรียกน้ำย่อยก่อนนิทรรศการเปิดโลกมหัศจรรย์วิวัฒนาการ  

ผ่านไปแล้วกับงานแถลงข่าว "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร" เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง และสื่อมวลชนหลายแขนง ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์


ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวได้มีการนำเสนอกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในนิทรรศการ "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ" อาทิ ไซยาโนแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตแรกที่กำเนิดขึ้นบนโลก พฤกษาฆาตกรรม การปรับตัวของพืชกินแมลง และหอยมรกต กระบวนการเกิดสปีชีส์ใหม่ในเมืองไทย โดยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยโครงการ BRT ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของนิทรรศการ เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนจะถึงงานจริง

อ.วันเชิญ โพธาเจริญ ผู้จัดการธนาคารจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้บรรยายเกี่ยวกับไซยาโนแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตแรกที่กำเนิดขึ้นบนโลกว่า สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวหรือไซยาโนแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีโครงสร้างของเซลล์ไม่ซับซ้อน  เกิดขึ้นเมื่อ 3,500 ล้านปีที่แล้ว ในขณะที่โลกยังเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีก๊าซออกซิเจนซึ่งจำเ ป็นต่อสิ่งมีชีวิตน้อยมาก แต่ไซยาโนแบคทีเรียได้ปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ โดยสร้างเมือกขึ้นมาคลุมเซลล์เอาไว้ และสร้างสารสีเพื่อป้องกันรังสี UV  หลังจากที่ไซยาโนแบคทีเรียใช้คลอโรฟิลด์ที่มีอยู่ในการสังเคราะห์แสง ก๊าซออกซิเจนที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตได้ปล่อยออกมาสู่บรรยากาศมากขึ้น   โลกจึงได้สดใสและมีชีวิตชีวามากขึ้น  จากเซลล์เล็กๆ นี้เองที่ได้ผ่านกาลเวลากว่าหลายพันล้านปี เกิดวิวัฒนาการกลายเป็นสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ที่มีหน้าตารูปร่างแตกต่างกันออกไป  จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ไซยาโนแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มบนโลกนี้ก็ยังคงดำรงชีวิตอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน


ด้าน ศ.ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการปรับตัวของพืชกินแมลงในสภาวะแวดล้อมที่พืชได้รับธาตุไนเตรเจนจากดินไม่เพียงพอ จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปร่างบางอย่างเพื่อจับสัตว์กินเป็น อาหาร หรือที่เรียกว่า พฤกษาฆาตกรรมที่น่าอัศจรรย์ ยกตัวอย่างเช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ไม้เถาเลื้อยที่วิวัฒนาการปรับเปลี่ยนลักษณะของใบให้กลายเป็นกับดักจับสัตว์ โดยปรับเปลี่ยนเส้นกลางใบให้ยืดยาวและขดงอเป็นมือจับ เพื่อใช้ยืดเกาะกับต้นไม้อื่นให้สามารถชูลำต้นและใบให้สูงขึ้นเพื่อรับแสงแดดได้เต็มที่ และปลายของมือจับนี้จะเป็นแผ่นใบ ที่เปลี่ยนรูปทรงให้เป็นทรงกระบอก ซึ่งภายในกระบอกจะมีต่อมผลิตน้ำย่อยที่มีสภาพเป็นกรด สามารถย่อยอาหารที่มีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแมลง หรือสัตว์ที่มีขนาดเล็ก นอกจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงแล้ว ยังมีพืชที่มีการปรับตัวเพื่อจับสัตว์อีกหลายชนิด เช่น กาบหอยแครง หยาดน้ำค้าง และบัตเตอร์เวิร์ต เป็นต้น


และ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพร้อมกับหอยมรกต และปริศนาการเวียนซ้าย เวียนขวาของเปลือกหอย กล่าวคือ การเวียนซ้ายและเวียนขวาของหอยถูกกำหนดขึ้นด้วยยีนส์ ทิศทางการเวียนของเปลือกหอยที่ต่างกัน ทำให้อวัยวะภายในทั้งหมดพลิกกลับไปอยู่กันคนละด้านรวมถึงอวัยวะสืบพันธุ์ของหอยด้วย และปัจจัยนี้เองทำให้หอยที่มีการเวียนต่างกันผสมพันธุ์กันได้ยาก

ส่วนหอยมรกต หอยที่พบได้เฉพาะที่เกาะตาชัย จังหวัดพังงาแห่งเดียวเท่านั้น เป็นหอยกลุ่มเดียวกับหอย ต้นไม้ที่พบเฉพาะบนบก แต่เนื่องจากพื้นที่เกาะตาชัย ซึ่งเดิมเคยเชื่อมติดกับแผ่นดินได้ถูกน้ำท่วมและแยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้หอยที่อยู่บนเกาะตาชัยเริ่มมีการวิวัฒนาการสายพันธุ์แตกต่างจากหอยบนแผ่นดิน หรือเริ่มจะแยกออกจากสปีชีส์เดิม เป็นสปีชีส์ใหม่ โดยหอยมรกตจะมีลักษณะเปลือยเวียนซ้าย ขณะที่หอยสปีชีส์เดิมมีทั้งเวียนซ้ายและเวียนขวา นอกจากนี้อวัยวะภายในยังมีขนาดเล็กลง อวัยวะสืบพันธุ์สั้นลง และรายละเอียดบางอย่างของอวัยวะสืบพันธุ์ต่างกัน จากผลการวิจัยข้อมูลทางธรณีวิทยาในอดีต ทำให้สามารถทำนายได้ว่า หอยมรกตเริ่มแยกตัวออกจากสปีชีส์เดิมเมื่อตอนที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดเมื่อราว 4 พันปีก่อน ทำให้เกาะแยกจากแผ่นดินใหญ่ และใช้เวลาประมาณพันปีที่หอยมรกตเริ่มแยกตัวออกจากหอยสปีชีส์เดิม คาดว่าอีกไม่กี่สิบปี หรือไม่กี่ร้อยปีหอยมรกตจะกลายเป็นสปีชีส์ใหม่ที่สมบูรณ์ หากไม่สูญพันธุ์ไปเสียก่อน


ทั้งนี้ นอกจากการแถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการที่บ้านวิทยาศาสตร์แล้ว ในงานยังได้ถือโอกาสเฉลิมฉลองงานวันเกิดครบรอบ 200 ปี ให้กับชาร์ลส์ ดาร์วินด้วย โดยการร่วมตัดเค้กก้อนโตที่จำลองเกาะกาลาปากอส และเรือบีเกิ้ล ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน


สำหรับผู้ที่สนใจติดตามเรื่องราวที่น่ามหัศจรรย์ของวิวัฒนาการ สามารถเข้าชมนิทรรศการเปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการได้ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม เป็นต้นไป

///////////////////////


 
เค้กวันเกิดดาร์วิน
 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL