RocketTheme Joomla Templates
การสำรวจราทะเลครั้งแรก บริเวณ อ. ขนอม และเกาะแตน อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ PDF พิมพ์ อีเมล

ราทะเลเป็นราชั้นสูงที่มีวงจรชีวิตสมบูรณ์ คือสามารถเจริญเติบโต สร้างเส้นใยและสืบพันธุ์ได้ ภายใต้สภาวะที่มีความเค็ม   อีกทั้งราทะเลที่แท้จริง จะต้องถูกพบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกๆ ครั้งในแหล่งที่เก็บตัวอย่าง จุลินทรีย์ชนิดนี้มีความสำคัญโดยตรงในระบบนิเวศทางทะเล จัดเป็นผู้ย่อยสลายซากอินทรีย์สารตัวสำคัญ เนื่องจากมีความสามารถในการย่อยเซลลูโลส ลิกนิน และลิกโนเซลลูโลสได้   หากไม่มีราทะเลกลุ่มนี้ วัสดุทางธรรมชาติที่อยู่ในทะเลและป่าชายเลนก็คงไม่มีการย่อยสลายไป ราทะเลช่วยควบคุมความสมดุลในห่วงโซ่อาหาร เพื่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ จะได้ใช้ประโยชน์จากซากอินทรีย์สาร ที่ได้จากการย่อยสลายนั้นๆ ต่อไป

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งป่าชายเลน ซึ่งเป็นทั้งแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร แหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกันกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิด การเสียสมดุลของระบบนิเวศจึงเป็นปัญหาใหญ่ ที่กำลังคุกคามทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล   ดังนั้นคณะวิจัยจึงเร่งสำรวจราทะเลสายพันธุ์ต่างๆ  ในระบบนิเวศทางทะเล ทั้งป่าชายเลน ชายฝั่ง หรือแม้กระทั่งเกาะแก่งต่างๆ ในประเทศไทย อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศทางทะเล อีกทั้งยังไม่เคยมีการสำรวจและศึกษามาก่อน

จากที่คณะวิจัยได้ไปสำรวจและเก็บตัวอย่างเป็นครั้งแรก เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2549 โดยเลือกพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 4 จุด (รูปที่ 1) โดยจุดที่ 1 คือ ป่าชายเลนในสวนศึกษาธรรมชาติวิทยาป่าชายเลน แหล่งที่ 2 ได้แก่ ป่าชายเลนริมคลองขนอม อ. ขนอม จ. นครศรีธรรมราช ป่าชายเลนในบริเวณนี้ปกคลุมไปด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด แต่ที่เป็นชนิดเด่นคือ ต้นตะบูน (Xylocarpus granatum, Meliaceae, Xylocarpeae) จากนั้นก็ได้เดินทางต่อไปเก็บตัวอย่างที่เกาะแตน เลือกพื้นที่ศึกษาจุดที่ 3 คือป่าชายเลนฝั่งอ่าวตก และพื้นที่จุดที่ 4 ได้แก่ ชายหาดฝั่งอ่าวออกของเกาะแตน

สำหรับวิธีศึกษา ได้เก็บวัสดุธรรมชาติชนิดต่างๆ ที่เป็นที่อยู่ของราทะเล เช่น ซากกิ่ง ต้นไม้ ฝัก เมล็ด ใบไม้ รากไม้ผุๆ สาหร่ายทะเล หญ้าทะเล (รูปที่ 2) เป็นต้น มาทำการตรวจหาราภายใต้กล้องจุลทรรศน์ โดยในครั้งนี้เก็บตัวอย่างวัสดุธรรมชาติเหล่านี้จากทั้ง 4 พื้นที่วิจัย จำนวน 343 ชิ้น พบราทะเลทั้งสิ้น 56 สายพันธุ์ โดยจัดจำแนกเป็นกลุ่มแอสโคไมโคตา (Ascomycota) มากที่สุด 39 สายพันธุ์ ราเบสิดิโอไมโคตา (Basidiomycota) 3 สายพันธุ์ และรากลุ่มที่สร้างเซลล์สืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (Anamorphic fungi) จำนวน 14 สายพันธุ์ โดยพื้นที่ศึกษาจุดที่ 1 พบความหลากหลายของชนิดราทะเลสูงสุด

ตัวอย่างราทะเลสกุลต่างๆ ที่พบจากการสำรวจครั้งนี้ แสดงไว้ดังรูปที่ 3-5 นอกจากนี้ยังพบราสกุล Lindra sp. (รูปที่ 6) บนหญ้าทะเลบริเวณชายหาดอ่าวออกของเกาะแตน ซึ่งจากการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญและเอกสารอ้างอิงว่า ถึงแม้จะไม่ใช่ราสกุลใหม่ของโลก แต่ก็จัดเป็นราที่พบครั้งแรกในประเทศไทยทีเดียว ทั้งนี้ได้แยกและเก็บรักษาราต่างๆ เหล่านี้ไว้เป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์ ณ ห้องปฏิบัติการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมฯ จำนวนทั้งสิ้น 67 ไอโซเลท จาก 27 สายพันธุ์ เพื่อจะได้นำไปสกัดหาเอนไซม์และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่อไป

จากการสำรวจราทะเลเป็นครั้งแรกของคณะวิจัย ถือได้ว่าได้ผลการสำรวจเป็นที่น่าพอใจ ทั้งจำนวนและความหลากหลายของชนิดรา และยังได้พบราที่จัดว่าพบครั้งแรกในประเทศไทยอีกด้วย ถึงแม้จะเป็นการสำรวจในพื้นที่ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯ เพียงแค่ 4 จุด ดังนั้นหากได้เก็บตัวอย่างในครั้งต่อไปซ้ำอีก และเพิ่มพื้นที่วิจัยแหล่งอื่นๆ ในอุทยานฯ ให้มากขึ้น ก็น่าจะพบชนิดของราทะเลมากขึ้นเช่นกัน

 

พื้นที่ศึกษา 4 จุด บริเวณ อ. ขนอม และเกาะแตน




วัสดุธรรมชาติชนิดต่างๆ ที่เป็นที่อยู่ของราทะเล




ตัวอย่างราทะเลที่พบจากการสำรวจ




ตัวอย่างราทะเลที่พบจากการสำรวจ




ตัวอย่างราทะเลที่พบจากการสำรวจ





ราสกุล Lindra sp. ที่พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย


ข้อมูล/ภาพ: จริยา สากยโรจน์, อรทัย ศุภพล, อี บี กาเร็ธ โจนส์ และ เสาวลักษณ์ พงษ์ไพจิตร
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ 113 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
ถ. พหลโยธิน ต. คลองหนึ่ง อ. คลองหลวง จ. ปทุมธานี 12120

 

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 88 บุคคลทั่วไป ออนไลน์