RocketTheme Joomla Templates
“ปูราชินี” ราชินีแห่งทองผาภูมิตะวันตก PDF พิมพ์ อีเมล

ราชินีแห่งทองผาภูมิตะวันตก

ในบรรดาปูน้ำจืดทุกชนิด “ปูราชินี” จัดว่าเป็นปูน้ำจืดประเภทปูป่าที่มีสีสันสวยงามที่สุด โดยจะมีสีสันมากถึง 3 สี คือ ขาเป็นสีแดง ตรงโคนขา ก้ามหนีบ และบริเวณขอบกระดองเป็นสีขาว ตรงกลางกระดองเป็นสีน้ำเงิน ดูแล้วคล้ายกับธงชาติไทย ชาวบ้านจึงมักจะเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “ปูสามสี”

“ปูราชินี” Thaiphusa sirikit (Naiyanetr, 1992) ราชินีแห่งทองผาภูมิตะวันตก ปูราชินี ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ พ.ศ.2535 มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thaiphusa sirikit (Naiyanetr, 1992) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Regal Grab ปัจจุบันปูราชินีจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากในสภาพธรรมชาติ

สำหรับใครที่ยังไม่เคยเห็นและอยากเห็นปูที่สวยที่สุดนี้ต้องลองเดินทางไปแถวอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพราะปูชนิดนี้เป็นปูเฉพาะถิ่นและปัจจุบันจัดอยู่ในสภาพหายากในสภาพธรรมชาติ ปูราชินีจึงกลายเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนเพราะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์แห่งผืนป่าทองผาภูมิตะวันตกที่เกรงว่าใกล้จะสูญพันธุ์  ดังนั้น โครงการ BRT จึงได้ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนให้นายสิทธิพงศ์ วงศ์วิลาส ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการ BRT ทำการศึกษาปูราชินีเพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้เห็นคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ปูราชินีให้อยู่คู่กับท้องถิ่นสืบไป

พบปูราชินีได้ที่ไหน?

จากการสอบถามชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ปูราชินีชอบอาศัยอยู่ตามริมลำห้วยและในพื้นที่พุ ได้แก่  บริเวณห้วยพัสดุกลาง (บ้านพัสดุกลาง) ห้วยปากคอก พุท่ามะเดื่อ และพุปูราชินี (ออป.) โดยเฉพาะพุปูราชินีจะพบมากกว่าที่อื่น ปูราชินีที่พบมักจะมีความหลากหลายของสี คือ กลุ่มที่มีขาสีส้มสด และกลุ่มที่มีสีขาเป็นสีขาว โดยปกติปูราชินีจะออกจากรูมาเดินให้เห็นเต็มไปหมดในช่วงที่มีฝนตกหนักๆ ซึ่งบางครั้งสามารถจับได้เป็นกาละมังเลยทีเดียว แต่ถ้าฝนฟ้าครึ้มก็จะพบอยู่แค่ปากรู รูปูราชินีจะเป็นรูที่ดิ่งตรงลงไป แล้วหักเป็นแนวระนาบยาวออกไป ความลึกของรูขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำใต้ดิน ในหน้าแล้งปูจะเอาดินมาพอกที่ปากรูให้สูงขึ้นเพื่อกันน้ำเข้า และปิดปากรูด้านบน ชาวบ้านยังบอกอีกว่าปูราชินีน่าจะออกลูกปีละครั้ง โดยจะเห็นปูราชินีเริ่มมีไข่และออกลูกประมาณปลายเดือนกันยายน

บ้านหลังน้อยๆ ของปูราชินี

เมื่อสังเกตการกระจายของรูปูที่พุปูราชินี พบว่า มีการกระจายแบบไม่สม่ำเสมอ โดยจะรวมกันอยู่เป็นกระจุกๆ ตามโคนต้นไม้หรือพื้นที่โล่งๆ สภาพทั่วไปของพุปูราชินีบริเวณที่ปูขุดรูอาศัยอยู่จะร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ปริมาณแสงส่องถึงพื้นน้อยมาก ไม้ชั้นกลางมีมากแต่ไม่แน่นทึบ พื้นดินล่างมีเศษใบไม้ปกคลุมทั่วไป ไม้พื้นล่างและกล้าไม้มีน้อย

ลักษณะรูปูราชินีที่พบจะมีอยู่ 3 แบบ ดังนี้
      1. เป็นกองมูลดิน และมีดินปิดปากรู กองมูลดินจะมีความสูง 8-15 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของกองมูลดิน จะอยู่ในช่วง 15-20 เซนติเมตร รูลักษณะนี้จะพบน้อย ประมาณร้อยละ 15 ของรูที่พบทั้งหมด
      2. เป็นกองมูลดิน แต่ไม่มีดินปิดปากรู กองมูลดินจะมีความสูง 6-10 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของกองมูลดิน 14-17 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของปากรู 1.8-4.2 เซนติเมตร รูลักษณะนี้จะพบมากกว่าแบบแรก ประมาณร้อยละ 35 ของรูที่พบทั้งหมด
      3. เป็นรูแบบเปิด ไม่มีกองมูลดินและไม่มีดินปิดปากรู เส้นผ่าศูนย์กลางของปากรู 1.5-4.8 เซนติเมตร รูลักษณะนี้จะพบมากที่สุดประมาณร้อยละ 50 ของรูที่พบ รูลักษณะนี้ รอบๆ ปากรูจะสะอาด ในรัศมีจากขอบปากรู 2-3 เซนติเมตร จะไม่มีเศษใบไม้กิ่งไม้อยู่เลย

พฤติกรรมน่ารักๆ ที่พบเห็นได้จากปูราชินี

จากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมปูราชินี พบว่า ปูราชินีมีพฤติกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น พฤติกรรมการกินอาหารซึ่งปูราชินีสามารถกินอาหารได้หลายชนิดทั้งเศษซากพืชซากสัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก เช่น หอย, เนื้อปลา, ไส้เดือน, จิ้งเหลน, ปูตัวเล็ก, อาหารแมว และข้าวสุก โดยปูราชินีสามารถกินอาหารได้ทั้งในน้ำและบนบก นอกจากนี้ยังพบว่าปูนำอาหารลงไปกินในรูอีกด้วย โดยส่วนใหญ่ปูจะออกมาหาอาหารเมื่อมีฝนตก

สำหรับการขุดรูนั้นปูราชินีจะใช้ก้ามและปลายเล็บเท้าข้างใดข้างหนึ่งจิกลงดินแล้วโกยเข้าหาตัว ดินจะเป็นขุย แล้วปูจะใช้ก้ามและขาคู่ที่ 1 หนีบดินเข้าหาตัวแล้วเดินขึ้นมาบนปากรูแล้วใช้ก้ามดันดินออกไปวางไว้รอบๆ รู ในบางครั้งอาจเห็นการต่อสู้เพื่อแย่งรูกันเกิดขึ้น โดยปูที่แข็งแรงกว่าจะใช้ก้ามหนีบตัวปูที่อยู่ในรูออกมา หากปูเจ้าของรูสามารถต่อสู้ได้ก็จะได้ครอบครองรูต่อไป แต่หากว่าแพ้ก็ต้องสละรูนั้นให้กับผู้ชนะ ส่วนการตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ พบว่าปูจะวิ่งลงรูทันทีแม้ว่าจะไม่ใช่รูของตนก็ตาม จากนั้นประมาณ 15 นาทีก็จะออกมาจากรู  สิ่งเร้าที่ปูตอบสนองน้อยที่สุด ก็คือ แสงไฟ เมื่อเทียบกับเสียงเดินและเสียงพูดคุย

พฤติกรรมน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ ปูจะพ่นน้ำออกมาบางครั้งเป็นฟองอากาศแต่บางครั้งก็เป็นทางยาว ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาทีหรือมากกว่านั้น นอกจากนี้ปูราชินียังมีการขับถ่ายโดยจะเปิดจับปิ้งแล้วใช้ก้ามหนีบเอาแท่งอุจจาระออกมา

สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหนหรือกำลังมองที่เที่ยวเพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติ ลองหาโอกาสมาเยือนทองผาภูมิโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน เพราะนอกจากจะได้สัมผัสกับธรรมชาติอันเขียวขจีของผืนป่าทองผาภูมิตะวันตกแล้วยังเป็นโอกาสดีที่จะได้เห็น “ปูราชินี” ปูน้ำจืดที่สวยและหายากชนิดหนึ่งของเมืองไทย

เรื่องและภาพ : สิทธิพงศ์ วงศ์วิลาส
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 97 บุคคลทั่วไป ออนไลน์