RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


ลิเวอร์เวิร์ตที่รายงานใหม่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย PDF พิมพ์ อีเมล

Asterella khasyana (Griff.) Pand?, K.P. Srivast. and Sultan Khanเร็วๆ นี้คณะนักวิจัยไทย โดย ศ.ดร. ทวีศักดิ์ บุญเกิด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตีพิมพ์การค้นพบลิเวอร์เวิร์ต Asterella khasyana (Griff.) Pand?, K.P. Srivast. and Sultan Khan ซึ่งเป็นการรายงานการค้นพบใหม่เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ลิเวอร์เวิร์ตในสกุล Asterella พบกระจายอยู่ทั่วโลกมากถึง 48 ชนิด ในประเทศไทยมีรายงานเพียง 1 ชนิด คือ A. blumeana (Nees) Kachroo ที่ดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ต่อมานักวิจัยได้เก็บรวบรวมตัวอย่างลิเวอร์เวิร์ตชนิดหนึ่งมาจากอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน เมื่อทำการจำแนกชนิดก็พบว่าเป็นชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศ และได้ตีพิมพ์รายงานในเวลาต่อมา ซึ่งจากเดิมที่มีรายงานว่ามีพบในประเทศเนปาล อินเดีย ภูฏาน จีนตอนใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอาฟริกา

หลังจากเก็บตัวอย่างมาแล้ว จึงนำส่วนที่เป็นทัลลัสหรือต้นมาศึกษารูปร่างภายนอก พบว่าเป็นแผ่นแบนสีเขียวอมเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 มม. และนำส่วนที่เป็นสปอร์ซึ่งอยู่ในแคปซูลมาศึกษาลักษณะรูปร่างภายนอกภายใต้กล้องจุลทรรศน์ พบว่าลักษณะของสปอร์จะมีสีเหลือง ผิวขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ

ลิเวอร์เวิร์ตเป็นพืชไม่มีเนื้อเยื่อท่อลำเลียง ซึ่งมีความหลากหลายของจำนวนชนิดในประเทศไทยสูง ลักษณะของพืชกลุ่มนี้จะเป็นแผ่นสีเขียว (thalloid form) ที่รวมอยู่กันเป็นกลุ่มคล้ายพรมเช็ดเท้า และมีก้านชูโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ลักษณะคล้ายยอด หรือมีลักษณะคล้ายต้น ราก และ ใบ (leafy form) พืชกลุ่มนี้มีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจน เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ตัวเล็กๆ และเป็นแหล่งที่สะสมความชื้นให้กับป่า และเป็นทั้งดัชนีในการบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศในผืนป่านั้นๆ ได้ด้วย

Figure 1. Asterella khasyana (Griff.) Pand?, K.P.Srivast. & Sultan Khan: A. a part of plant. B. section of thallus. C. epidermal cells and pore. D. dorsal view of archegonial head. E. ventral view of archegonial head. F. elater. an = andoecium.

Figure 2. SEM of spores in Asterella khasyana (Griff.) Pand?, K.P.Srivast. & Sultan Khan: A. Spore distal view. B. Proximal view. C. Side view. D. A portion of distal view, showing bireticulate.



อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก :
Boonkerd, T. et al. 2007. A note on Asterella khasyana (Griff.) Pande, K.P. Srivast. and Sultan Khan (Marchantiales, Aytoniaceae) in Thailand. The Natural History Journal of  Chulalongkorn University, 7(2): 109-113.

 
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์ มะเดื่อ ชนิด Ficus obpyramidata King PDF พิมพ์ อีเมล

หลังจากที่ได้สำรวจพืชสกุลมะเดื่อ-ไทร ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะนักวิจัยได้สนใจการใช้ประโยชน์ของมะเดื่อ จึงได้สัมภาษณ์ชาวบ้านใน 3 หมู่บ้าน ที่อยู่บริเวณใกล้ป่าบาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบว่าชาวบ้านรู้จักมะเดื่อ ชนิด Ficus obpyramidata King เป็นอย่างดี เพราะนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร และยารักษาโรค

มะเดื่อชนิดนี้มักรับประทานผลสดในขณะยังอ่อนอยู่ ซึ่งผลอ่อนมี 2 แบบ คือ แบบผลสีเขียว และผลสีน้ำตาล ชาวบ้านกล่าวว่าสามารถรับประทานเป็นอาหารได้ทั้ง 2 แบบ แต่แบบสีเขียวจะมีรสชาติดีกว่า โดยจะใช้ผลสดๆ ล้างให้สะอาด กินแกล้มแกงหรือน้ำพริก รสชาติมันและกรุบกรอบ ช่วยลดความเผ็ดลงได้ หรือนำไปต้มให้สุกก่อน จึงหั่นเป็นชิ้นๆ ใส่ในแกงเนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ เนื้อแพะหรือเนื้อวัว รสชาติของผลมะเดื่อหลังปรุงเสร็จแล้วจะคล้ายกับมันเทศ และนอกจากนี้ยังอาจใช้ทำเป็นของหวาน โดยต้มให้นุ่มแล้วหั่นก่อนที่จะคลุกกับมะพร้าวขูดและน้ำตาล ส่วนผลสุกนั้นมีสีสันน่ารับประทานไม่น้อยแต่กลับพบว่าไม่นิยมนำมาบริโภค อาจเป็นเพราะรสชาติจืดชืดและไม่อร่อย นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้เป็นยาพื้นบ้าน โดยนำผลอ่อนสดๆ มารับประทานคราวละ 2-3 ผล เพื่อใช้รักษาโรคท้องร่วง เพราะมีรสชาติฝาดและเย็น

ผลอ่อนของมะเดื่อ

ผลอ่อนของมะดื่อ Ficus obpyramidata King  (ซ้าย) แบบผลสีเขียว; (ขวา) แบบผลสีน้ำตาล

 

ผลมะเดื่อที่ต้มสุกแล้ว

 ผลที่ต้มสุกแล้ว สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน

มะเดื่อเป็นไม้ยืนต้นกลุ่มเดียวกับไทร ถือว่าเป็นไม้มงคลประเภทหนึ่ง มีลักษณะทั่วไปเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเกลี้ยงเกลา สีน้ำตาล ผลมีรูปร่างกลมแป้นหรือรูปไข่ ผล มักจะออกเป็นช่อกระจุกอยู่ตามกิ่งและลำต้น เมื่อผ่าออกดูจะเห็นดอกเล็กๆ อยู่ภายในผล มะเดื่อมักจะขึ้นตามธรรมชาติ บริเวณริมแม่น้ำลำคลอง ริมลำธาร ในป่าดิบชื้น หรือปลูกตามบ้านเรือนและริมทางเดิน มักขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด



อ้างอิง : Chantarasuwan, B. and Thong-aree, S. 2007. The Utilization of Ficus obpyramidata King in Local Knowledge. The Thailand Natural History Museum Jounal, 2(1): 59-61.

ข้อมูล/ภาพ : นายภานุมาศ จันทร์สุวรรณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

 
หิ่งห้อยกระพริบแสงกลางกรุง ที่เอ็มโพเรี่ยม PDF พิมพ์ อีเมล

หิ่งห้อยกระพริบแสงกลางกรุง ที่เอ็มโพเรี่ยม

ในงาน ...Flora & Fauna Exotica : The Lost World อัศจรรย์สวรรค์โลกล้านปี

ณ ห้างสรรพสินค้า ดิ เอ็มโพเรี่ยม

2-12 ตุลาคม 2551

--------------------------------------------------------------------------------------------------------

  • - ตื่นเต้นดีค่ะ ส่วนมากจะหาดูไม่ได้อีก
  • - Oh! จอร์จ สุดยอดอ่ะ ไม่เคยเห็นมาก่อน สวยดีเหมือนในหนังเลย
  • - เพิ่งรู้เกี่ยวกับหิ่งห้อย ตัวผู้มี 2 ปล้อง ตัวเมียมีปล้องเดียว
  • - สวยงามมาก อยากให้อนุรักษ์ไว้
  • - หิ่งห้อยสวยมาก เกิดมาไม่เห็นตัวเป็นๆ เพิ่งเคยเห็นครั้งแรก
  • - หิ่งห้อยสวยมาก อยากให้อาจารย์คิดค้นต่อไป จนประสบความสำเร็จตลอดไปเพื่อเด็กๆ และคนรุ่นหลัง
  • - จัดแสดงได้ชัดเจน จนเข้าใจว่าเป็นของจริงหรือเปล่า ชื่นชมในความอุตสาหะที่ค้นพบและเพาะพันธุ์ได้สำเร็จ คนไทยเก่งค่ะ

เหล่านี้คือเสียงสะท้อนจากผู้ชมชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยเห็นหิ่งห้อยกระพริบแสงตอนกลางวันจำนวนถึง 200-300 ตัวในตู้อะครีลิค บรรดาเหล่าหิ่งห้อยส่องแสงสีเขียวสว่างวาบ วาบ วาบ ตลอดเวลา เหมือนดวงดาวที่เคลื่อนที่ได้ สร้างความตื่นเต้นและประทับใจแก่เด็กๆ จนยากจะลืมเลือน

เมื่อวันที่ 2-12 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา โครงการ BRT ได้ร่วมกับ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย ดร.อัญชนา ท่านเจริญ จัดนิทรรศการหิ่งห้อย ในงาน Flora & Fauna Exotica : The Lost World อัศจรรย์สวรรค์โลกล้านปี ณ ห้างสรรพสินค้า ดิ เอมโพเรี่ยม  ที่ได้นำหิ่งห้อยจากพื้นที่ธรรมชาติมาสู่ตู้อะครีลิคให้ผู้ชมได้เห็นและศึกษากันกลางกรุงเป็นครั้งแรก

ดร.อัญชนา ท่านเจริญ ได้นำหิ่งห้อยน้ำจืดซึ่งเป็นหิ่งห้อยชนิดใหม่ของโลกที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ปริมาณมากจากห้องปฏิบัติการมาแสดงนิทรรศการในห้องมืด โดยจำลองระบบนิเวศของหิ่งห้อยและแสดงพฤติกรรมกะพริบแสงของหิ่งห้อยในเวลากลางคืนซึ่งยากที่จะพบเห็นได้ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะในบริเวณเขตเมืองที่มีการพัฒนามากๆ เนื่องจากพื้นที่อาศัยของหิ่งห้อยถูกทำลายและผลกระทบของมลพิษต่างๆ การจัดนิทรรศการในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข่าวงานวิจัยเกี่ยวกับหิ่งห้อยในประเทศไทย และปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์หิ่งห้อยในพื้นที่อาศัยในธรรมชาติด้วย

            เนื่องจากนิทรรศการดังกล่าวได้จัดขึ้นในห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียง และมีการประชาสัมพันธ์การจัดงานอย่างทั่วถึง จึงทำให้มีผู้เข้าชมนิทรรศการต่อแถวกันอย่างแออัดยัดเยียด  จำนวนหลายร้อยคนต่อวัน ความคิดเห็นต่างๆ ได้แสดงถึงความประทับใจในความงามของหิ่งห้อย ความตื่นเต้นที่ได้พบเห็นหิ่งห้อยเป็นครั้งแรก ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นใบเบิกทางให้เยาวชนรุ่นหลังเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์หิ่งห้อยต่อไป

 

มุมแสดงวงจรชีวิตของหิ้งห้อย และความสัมพันธ์ของหิ่งห้อยกับพรรณไม้

 

เด็กๆ เบียดเสียดยัดเยียดกันมาดูหิ่งห้อย

 

เหล่าผู้ปกครองพาเด็กๆ เข้าชมนิทรรศการ

 
นักวิทย์จุฬาฯ วิจัย PDF พิมพ์ อีเมล
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหาโดย ผู้จัดการออนไลน์ 9 พฤศจิกายน 2551 23:29 น.

นักวิจัยจุฬาฯ ผู้ค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู เตรียมลุยโปรเจกต์ใหม่ เดินหน้าวิจัยปุ๋ยมูลกิ้งกือ หวังส่งเสริมให้เกษตรกรนำไปใช้ ไม่ต้องง้อปุ๋ยเคมีราคาแพง ให้แร่ธาตุสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คาดอีก 2 ปีได้ใช้แน่

       
       ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท 34) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ค้นพบกิ้งกือมังกรสีชมพู กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า กำลังจะเริ่มทำการวิจัยปุ๋ยมูลกิ้งกือ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้แทนปุ๋ยเคมี เพราะราคาไม่แพง มีธาตุอาหารสูง และไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม

       
       "กิ้งกือเป็นสัตว์ที่พบมากในประเทศไทย พบแล้วกว่า 100 ชนิด และคาดว่ายังมีที่ยังไม่ค้นพบอีกมากมาย แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับไม่ชอบกิ้งกือ บางคนเกลียด บางคนกลัวถูกกิ้งกือกัด แต่ในความเป็นจริงแล้วกิ้งกือไม่สามารถกัดคนได้ เขากัดกินได้เฉพาะซากใบไม้เท่านั้นเอง" ศ.ดร.สมศักดิ์ ชี้แจงและบอกต่อว่า
       
       จากที่ได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับกิ้งกือมาได้ราว 2-3 ปี นับว่าเป็นการเปิดโลกกิ้งกือเลยก็ว่าได้ เพราะยังไม่ค่อยมีใครศึกษาเรื่องนี้กันมากนัก และจากการวิเคราะห์มูลกิ้งกือในเบื้องต้นก็พบว่ามีส่วนประกอบของธาตุอาหารมากมายที่เป็นประโยชน์กับพืช เพราะส่วนใหญ่กิ้งกือกินซากพืชเป็นอาหาร และการย่อยสลายตามธรรมชาติก็มีการปลดปล่อยธาตุอาหารกลับคืนสู่ดิน และทำให้พืชเจริญงอกงามได้เองโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย ก็เพราะได้ปุ๋ยจากธรรมชาตินั่นเอง ทั้งมูลไส้เดือน มูลกิ้งกือ และอื่นๆ ซึ่งมูลไส้เดือนก็ได้มีการนำไปทำเป็นปุ๋ยใช้จริงแล้วเช่นกัน
       
       "กิ้งกือเหมือนเป็นโรงงานผลิตปุ๋ยตามธรรมชาติ มูลกิ้งกือแต่ละสายพันธุ์ก็ให้ปุ๋ยที่แตกต่างกันด้วย เราจึงอยากศึกษาว่ากิ้งกือแต่ละสายพันธุ์กินอะไรบ้างและให้มูลที่มีลักษณะอย่างไร มีแร่ธาตุอะไรบ้าง รวมถึงชนิดของจุลินทรีย์ที่ทำงานร่วมกับกิ้งกือแต่ละชนิดด้วย" ศ.ดร.สมศักดิ์ อธิบายและเปิดเผยต่อว่า
       
       ขณะนี้ได้วางแผนทำวิจัยศึกษาการใช้ประโยชน์จากมูลกิ้งกือร่วมกับคณะเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยจะสร้างบ่อหมักสำหรับเลี้ยงกิ้งกือด้วยอาหารแบบต่างๆ และวิเคราะห์มูลกิ้งกือที่ได้ ซึ่งคาดว่าภายใน 2 ปีนี้จะได้ข้อมูลบางส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้บ้างแล้ว ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพง


 ปุ๋ยมูลกิ้งกือ
                                        มูลกิ้งกือหลากชนิดแตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์


       อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมศักดิ์ บอกว่าจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยต่อกิ้งกือด้วย จึงจะช่วยให้ปุ๋ยมูลกิ้งกือเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยหวังให้ปุ๋ยมูลกิ้งกือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรนอกเหนือจากปุ๋ยมูลไส้เดือน โดยท้องถิ่นไหนมีสัตว์ชนิดใดมากก็เลือกใช้ประโยชน์จากสัตว์ชนิดนั้นๆ ตามความเหมาะสม


ที่มา : http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000129804
 
สรุปการประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 12 PDF พิมพ์ อีเมล

ฝ่ายเลขานุการฯ ขอเอาใจทุกท่านที่พลาดโอกาสมาร่วมงานประชุมวิชาการประจำปีโครงการ BRT ครั้งที่ 12 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี กับพวกเรา ด้วยการนำภาพและบรรยากาศภายในงานมายั่วน้ำลายกระตุ้นความเสียดาย(เล่นๆ) ขอบอกว่านี่เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยเท่านั้น หากไม่อยากเสียดายเช่นปีนี้ ปีหน้าฟ้าใหม่อย่าลืมลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมประจำปีโครงการ BRT แต่เนิ่นๆ นะคะ

ชมบรรยากาศงานประชุมและภาพเก็บตกได้ ที่นี่
 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL