RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


สเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่น...ใกล้ถึงเวลาออกวางจำหน่ายแล้ว PDF พิมพ์ อีเมล
สเปรย์กำจัดไรฝุ่นจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการแถลงข่าวความร่วมมือการผลิตสเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่น ทำให้ทราบว่าคนไทยหลายคนประสบปัญหาถูกไรฝุ่นตามรังควานจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว แต่มีข่าวดีสำหรับทุกท่านที่กำลังหาทางแก้ปัญหาไรฝุ่นอยู่ เพราะขณะนี้สเปรย์น้ำมันหอมระเหยกำจัดไรฝุ่นใกล้จะถึงเวลาวางจำหน่ายแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตได้ผลิตตัวอย่างสเปรย์กำจัดไรฝุ่นออกมาแล้ว เหลือแต่เพียงการทดสอบประสิทธิภาพจากการผลิตในระดับโรงงานเท่านั้น และหลังจากการทดสอบซึ่งจะเสร็จสิ้นในนี้อีกประมาณ 1-2 เดือน คนที่กำลังคอยผลิตภัณฑ์นี้อยู่จะได้มีโอกาสนำสเปรย์ไปใช่เพื่อกำจัดเจ้าไรฝุ่นตัวร้ายกันแล้ว ขอให้ทุกท่านอดใจรออีกสักนิด และหากผลิตภัณฑ์วางขายเมื่อไหร่ เว็บไซต์ BRT จะส่งข่าวถึงทุกท่านแน่นอนค่ะ
 
“ปาหนัน” มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง คุณค่าที่เหนือกว่าไม้ประดับ PDF พิมพ์ อีเมล
นักวิจัยบีอาร์ทีศึกษาความหลากหลายของพืชสกุล "ปาหนัน" สำรวจพบ 20 ชนิดในประเทศไทย เผยบางชนิดมีฤทธิ์ทางยา เช่น เป็นยาลดไข้   ใช้กันอย่างแพร่หลายในชนพื้นเมืองคาบสมุทรมลายู ล่าสุดมีรายงานพบสารต้านเนื้องอกและเซลล์มะเร็ง ระบุปาหนันชนิดที่พบสารดังกล่าวเป็นชนิดที่พบในเมืองไทย         ดร. ยุธยา อยู่เย็น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ร่วมกับ รศ. ดร.วิไลวรรณ อนุสารสุนทร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ดร. ปิยะ เฉลิมกลิ่น ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาความหลากหลายของพืชสกุลปาหนัน ซึ่งเป็นพืชในวงศ์เดียวกับกระดังงา ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนไทยในฐานะไม้ดอกโบราณที่มีกลิ่นหอมเย็น          ภายใต้การสนับสนุนของ "โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก" และ "โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการBRT)" โดยจากการสำรวจพืชสกุลดังกล่าว พบว่าในประเทศไทยพบประมาณ 20 ชนิด จากประมาณ 120 ชนิดทั่วโลก         "พืชสกุลปาหนันมีศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศไทยลงไปถึงคาบสมุทรมลายู โดยเกาะบอร์เนียวมีความหลากหลายมากที่สุด ประมาณ 30 ชนิด บริเวณคาบสมุทรมาลายูจำนวน 21 ชนิด และเกาะสุมาตราจำนวน 15 ชนิด ในประเทศไทยพบในทุกภาคแต่มีความหลากหลายมากในทางภาคใต้ตอนล่าง โดยทั่วไปมักพบขึ้นอยู่ตามบริเวณพื้นล่างของป่าดิบชื้น หรือป่าดิบเขา ซึ่งจากจำนวนชนิดที่พบ 20 ชนิดถือได้ว่าประเทศไทยมีความหลายหลายของพืชในสกุลปาหนันค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน" ดร.ยุธยา กล่าว         ผลจากการสำรวจพบว่าในจำนวนพืชสกุลปาหนันที่พบนี้มีบางชนิดเป็นชนิดที่ยังไม่เคยมีรายงานว่าพบในประเทศไทยมาก่อนจำนวน 5 ชนิดคือ ปาหนันจิ๋ว (G. elegans) ปาหนันยักษ์ (G. cheliensis) แสดสยาม (G. repevensis) บุหงาหยิก (G. sawtehii) และ ปาหนันผอม (G. umbrosus) และมีบางชนิดที่กำลังอยู่ในระหว่างการรายงานเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกอีกด้วย ทั้งนี้ลักษณะของพืชสกุลปาหนันคือ เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม ออกดอกเป็นกระจุกตามลำต้น กิ่งหรือซอกใบ มีทั้งดอกขนาดเล็กเพียง 1 เซนติเมตร เช่น ดอกปาหนันจิ๋ว จนถึงดอกขนาดใหญ่ 6-12 เซนติเมตร เช่น ปาหนันช้าง ดอกมีสีเขียว ครีม เหลือง ชมพู หรือ ส้ม แล้วแต่ชนิด โดยมากมีกลิ่นหอมอ่อนๆ บางชนิดออกดอกตลอดทั้งปี แต่ส่วนมากออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม         ในแง่ของการใช้ประโยชน์ ดร.ยุธยา กล่าวว่า ชาวพื้นเมืองในท้องที่ต่างๆ แถบคาบสมุทรมลายูมีภูมิปัญญาพื้นบ้านในการนำปาหนันมาใช้เป็นยารักษาโรคในกลุ่มของคนพื้นเมืองในท้องที่ต่างๆ เช่น เป็นยาสำหรับผู้หญิงคลอดบุตร โดยใช้ต้นกิ่งเดียวดอกเดียว ปาหนันผอม และ บุหงาลำเจียก นอกจากนี้ชาวชวายังมีการนำเอารากต้นกิ่งเดียวดอกเดียวมาใช้ในการเป็นยาลดไข้ได้อีกด้วย สำหรับชาวไทยนั้นยังไม่ค่อยมีการใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ นอกจากเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่มีกลิ่นหอมเย็น ดอกดก มีสีสันสวยงาม ลำต้นมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป และมีใบเขียวตลอดทั้งปี เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบสวนแบบไทยๆ ที่มีความร่มเย็นของพรรณไม้ รวมทั้งกลิ่นหอมของดอกในยามค่ำคืน ตัวอย่างของชนิดที่เหมาะสมนำมาใช้เป็นไม้ประดับได้แก่ สบันงาป่า ข้าวหลามดง แสดสยาม บุหงาหยิก บุหงาลำเจียก ปาหนันมรกต ปาหนันผอม และส่าเหล้าต้น เป็นต้น         นอกจากจะมีประโยชน์ในการนำมาใช้รักษาโรคตามภูมิปัญญาพื้นบ้านแล้ว ปัจจุบันยังมีรายงานการศึกษาในต่างประเทศพบสารออกฤทธิ์ต้านเนื้องอกและเซลล์มะเร็งจากพืชสกุลปาหนันอีกด้วย โดยพืชในสกุลปาหนันที่เคยมีรายงานการศึกษาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพแล้วได้แก่ ปาหนันช้าง (G. giganteus), ปาหนันผอม (G. umbrosus), ปาหนันพรุ (G. malayanus), ปาหนันยักษ์ (G. cheliensis), ปาหนันจิ๋ว (G. elegans) และสบันงาป่า (G. griffithii) ทุกชนิดเป็นชนิดที่พบในเมืองไทย ซึ่งในขณะนี้ ดร.ยุธยา ได้ทำการศึกษาการออกฤทธิ์ในปาหนันหลายชนิด และจากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าปาหนันจิ๋ว (G. elegans) ออกฤทธิ์ได้ดี จึงจะมีการศึกษาในระดับลึกต่อไป         จึงนับได้ว่านอกจากจะมีศักยภาพในด้านการนำมาใช้เป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงามแล้ว พืชสกุลปาหนันยังมีศักยภาพในด้านการนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งที่ยังรอการค้นคว้าต่อไป พืชสกุลปาหนันจึงเป็นพืชกลุ่มใหม่ที่ควรได้รับความสนใจในการนำมาพัฒนาเชิงเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตเป็นอย่างยิ่ง ภาพประกอบ    
 
รู้จักประโยชน์ของ ไผ่ ที่มากกว่าหน่อไม้ ในงานราชภัฏวิชาการ PDF พิมพ์ อีเมล
ไผ่" ใช่ว่าจะมีประโยชน์เฉพาะนำหน่อไม้มาทำเป็นอาหารเท่านั้น...วันนี้นักวิจัยในโครงการ BRT ได้นำไผ่ และ คุณประโยชน์ของไผ่ที่มากกว่าหน่อไม้ มาจัดแสดงแล้วในงานราชภัฏวิชาการ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า "การประชุมวิชาการระดับชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏ ครั้งที่ 1 เรื่อง การวิจัยพัฒนาท้องถิ่นเพื่อแผ่นดินไทย" โดยมีการจัดแสดงผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ กว่า 40 แห่ง


           

             ไผ่กับวิถีชีวิตชุมชนท่าเสาคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ได้นำชุดโครงการวิจัยท้องถิ่น เรื่องไผ่ ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของชุมชน โดยการสนับสนุนของโครงการ BRT มาจัดแสดงไว้ในงานนี้ด้วย โดยได้จัดแสดงตัวอย่างของไผ่หลายชนิด เช่น ไผ่ผาก ไผ่หางช้าง ไผ่ปล้องยาว ไผ่ข้าวหลาม และไผ่ยักษ์ หรือไผ่ตง ที่มีขนาดใหญ่สมชื่อ นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากไม้ไผ่ เช่น การแปรรูปหน่อไม้ปี๊บ เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์แต่งบ้านหลายรูปแบบ รวมไปถึงงานวิจัยเชื้อราจากรากไผ่ ซึ่งประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพดิน เพิ่มแร่ธาตุที่จำเป็นในการเจริญเติบโตของพืช อีกทั้งยังมีสื่อการเรียนการสอนเรื่องไผ่ ซึ่งได้รับการพัฒนาจากคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย

            ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน นี้ ที่ฮอลล์ 9 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี

 

ภาพประกอบ


ซุ้มมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี 

ไผ่ชนิดต่างๆ คุณรังสิมา ตัณฑเลขา และคณะนักวิจัยจาก ม.ราชภัฏกาญจนบุรี


 
แตนเบียนสาว ศัตรูตัวฉกาจของ แมลงวันผลไม้ PDF พิมพ์ อีเมล
แตนเบียนสาวกวิจัยบีอาร์ทีศึกษาปัจจัยการแพร่พันธุ์ "แตนเบียน" เพศเมีย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมแมลงวันผลไม้ เผยเคล็ดลับการเพิ่มจำนวนตัวอ่อนแตนเบียนเพศเมีย ต้องให้ตัวผู้มีการสื่อสารทางเสียงและกลิ่นมากขึ้น เพื่อให้ไข่ของแตนเบียนได้รับการผสม

              ปัจจุบันผลไม้ของไทย เช่น  มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ และยังเป็นผลไม้ที่คนไทยหลายๆ คนชอบรับประทาน และด้วยกระแสความนิยมการรับประทานผักผลไม้ปลอดสารเคมี การปลูกพืช ผัก ผลไม้จึงมีการใช้หลักการชีววิถีเพิ่มขึ้น โดยการใช้แมลงที่เป็นประโยชน์กำจัดแมลงศัตรูพืชเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เกษตรกรนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย หนึ่งในแมลงที่เป็นประโยชน์ที่คอยทำหน้ากำจัดแมลงที่สร้างความเสียหายให้กับสวนผลไม้ คือ แตนเบียน

              

แตนเบียนเพศเมียแตนเบียนเพศผู้

ตนเบียนเพศเมีย                           แตนเบียนเพศผู้ 

 

        รศ.ดร.สังวรณ์ กิจทวี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยผู้ศึกษาพฤติกรรมของแตนเบียน กล่าวว่า แตนเบียนจัดเป็นแมลงในกลุ่มเดียวกับผึ้ง ต่อ แตน ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตของแตนเบียนชนิดนี้จะไม่ทำอันตรายต่อคน แต่กลับเป็นเพชรฆาตที่ร้ายกาจของแมลงศัตรูพืช ด้วยพฤติกรรมการวางไข่ไว้ในแมลงศัตรูพืช และใช้น้ำเลี้ยงภายในตัวแมลงเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโต และทำให้แมลงศัตรูพืชตายในที่สุด ทั้งนี้แตนเบียนในประเทศไทยมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีความสามารถในการกำจัดแมลงศัตรูต่างชนิดกัน

ปลายอวัยวะวางไข่        "แตนเบียนที่ทำหน้าที่กำจัดแมลงศัตรูพืช คือ แตนเบียนเพศเมีย โดยอาวุธที่ร้ายกาจ คืออวัยวะวางไข่เรียวยาว ปลายแหลม คล้ายฉมวกขนาดจิ๋ว สำหรับแทงและวางไข่ในตัวหนอนแมลงวันผลไม้ ทั้งนี้แตนเบียนเพศเมียสามารถค้นหาเป้าหมายในการวางไข่ได้จากการรับกลิ่นสารเคมีที่ผลิตจากปฏิกิริยาการการสุกเน่าของผลไม้ และเสียงสั่นจากการเคลื่อนไหวของแมลงศัตรูพืช โดยแตนเบียนแต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ตลอดชีวิตประมาณ 100 ฟอง จึงสามารถควบคุมแมลงศัตรูพืชได้เป็นจำนวนมาก และเนื่องจากแตนเบียนเป็นแมลงที่มีความพิเศษคือมีไข่ที่สามารถฟักเป็นตัวอ่อนได้โดยไม่ต้องรับการผสมจากตัวผู้ ซึ่งไข่ที่ไม่ได้รับการผสมนี้จะให้ตัวอ่อนแตนเบียนเพศผู้ ในขณะที่ไข่ที่ได้รับการผสมจะได้ตัวอ่อนแตนเบียนเพศเมีย ดังนั้นปัญหาที่พบคือ จำนวนตัวอ่อนที่เกิดขึ้นเป็นเพศผู้เสียส่วนใหญ่ เนื่องจากแตนเบียนเพศเมียจะมุ่งเน้นการวางไข่มากกว่าการผสมพันธุ์กับเพศผู้"

        ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร.สังวรณ์ จึงได้ทำการศึกษาการเพิ่มปริมาณแตนเบียนเพศเมีย โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งประเทศไทย (BIOTEC) และได้เลือกศึกษาแตนเบียนสายพันธุ์ Diachasmimorpha longicaudata (Ashmead) ซึ่งจะวางไข่เฉพาะในแมลงวันผลไม้

แมลงวันผลไม้        รศ.ดร.สังวรณ์ กล่าวว่า การใช้แตนเบียนในการควบคุมแมลงศัตรูพืชให้มีประสิทธิภาพ ควรมีการเพาะเลี้ยงให้ได้แตนเบียนที่มีเพศเมียมากกว่าเพศผู้ เพื่อให้สามารถควบคุมแมลงได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่า วิธีการควบคุมระบบสืบพันธุ์ให้ไข่ได้รับการผสม หรือได้รับการปฏิสนธิ (fertilized egg) ต้องอาศัยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารระหว่างเพศผู้และเพศเมีย การสื่อสารดังกล่าว ได้แก่ การสื่อสารด้วยเสียง (การขยับปีกของเพศผู้) และกลิ่น (pheromone) ซึ่งมีผลให้เพศเมียยอมรับการผสมพันธุ์ เพิ่มโอกาสให้ตัวอสุจิผสมกับไข่ได้มากยิ่งขึ้น  แตนเบียนเพศเมียจะเลือกวางไข่ที่ได้รับการผสมลงในตัวอ่อนแมลงวันผลไม้ที่มีขนาดใหญ่หรือสมบูรณ์ และมักจะเลือกวางไข่ที่ไม่ได้รับการผสมในแมลงวันผลไม้ขนาดเล็ก ดังนั้นไข่ที่ได้รับการผสมนอกจากจะผลิตตัวอ่อนเพศเมียที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงวันผลไม้ในรุ่นต่อไปแล้ว ยังสามารถกำจัดแมลงวันผลไม้ที่มีความสมบูรณ์และมีความสามารถในการทำลายผลไม้ได้มากได้ดีกว่าอีกด้วย

        นักวิจัยผู้ศึกษาพฤติกรรมของแตนเบียน กล่าวว่า แตนเบียนจัดเป็นแมลงในกลุ่มเดียวกับผึ้ง ต่อ แตน ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตของแตนเบียนชนิดนี้จะไม่ทำอันตรายต่อคน แต่กลับเป็นเพชรฆาตที่ร้ายกาจของแมลงศัตรูพืช ด้วยพฤติกรรมการวางไข่ไว้ในแมลงศัตรูพืช และใช้น้ำเลี้ยงภายในตัวแมลงเป็นอาหารสำหรับการเจริญเติบโต และทำให้แมลงศัตรูพืชตายในที่สุด ทั้งนี้แตนเบียนในประเทศไทยมีด้วยกันหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีความสามารถในการกำจัดแมลงศัตรูต่างชนิดกัน

 
ต่อ แตน แมลงร้ายที่โลกต้องการ PDF พิมพ์ อีเมล

รู้หรือไม่?? ต่อ กับ แตน ต่างกันอย่างไร

ต่อ แตน ที่ต่อยเราเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย

ต่อ แตน สร้างสมดุลให้กับโลกได้อย่างไร

ไปติดตามกันเลย...


 

            ต่อและแตนเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการยาวนานมาตั้งแต่ประมาณ 140 ล้านปี หลังยุคไดโนเสาร์ล่มสลาย จากแมลงที่ดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยววิวัฒนาการขึ้นเป็นแมลงที่มีสังคม มีการสร้างรังอยู่กันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ และมีจำนวนชนิดมากถึง 4,500 สายพันธุ์ นอกจากนี้ ต่อและแตนยังเป็นต้นวิวัฒนาการของผึ้ง และมด ซึ่งเป็นแมลงที่มีความเป็นสังคมเช่นเดียวกัน


                แล้วเราจะแยกฝาแฝดอย่างต่อและแตนได้อย่างไร

                ต่อและแตนมีลักษณะรูปร่าง หน้าตาที่ค่อนข้างคล้ายคลึงกันจนเรียกได้ว่าเป็นแฝดคนละฝา แต่ขนาดของต่อและแตนมีความแตกต่างกัน โดยต่อจะมีขนาดใหญ่กว่าแตน คือมีความยาวลำตัวตั้งแต่ 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป ในขณะที่แตนจะมีลำตัวความยาวไม่เกิน 1.5 เซนติเมตร และแตนจะมีรูปร่างที่ผอมเพรียวกว่าต่อ และยังมีความแตกต่างในด้านการสร้างรัง ที่ต่อจะมีลักษณะการสร้างรังเป็นทรงกลม ส่วนต่อแตนจะมีการสร้างรังหลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นรูปฝักบัว เป็นแผ่น หรือเป็นสายยาว


ตัวต่อรังต่อ
    ต่อ                                  รังต่อ
 
ตัวแตนรังแตน  
แตน                                         รังแตน


เคยสงสัยหรือไม่ว่า ต่อ แตนหรือแม้แต่ผึ้งที่ต่อยเราเป็นตัวผู้หรือตัวเมีย...

                อวัยวะที่เป็นอาวุธสำคัญของต่อ แตน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ เหล็กไน ที่ซ่อนอยู่ตรงปลายส่วนท้องของแมลง มีการพัฒนามาจากอวัยวะวางไข่ โดยถูกปรับเปลี่ยนมาเพื่อใช้เป็นอาวุธสำหรับป้องกันตัว และล่าเหยื่อ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ต่อแตนที่สามารถทำร้ายเราได้คือ ต่อ แตนตัวเมียนั่นเอง

                นอกจากนี้ ต่อ แตนในชนชั้นกรรมกรที่เคยคิดกันว่าเป็นต่อแตนตัวผู้นั่น ไม่เป็นความจริง เพราะต่อแตนกรรมกรทั้งหมดเป็นต่อแตนตัวเมีย ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องรัง หาอาหาร และเลี้ยงน้องที่เป็นตัวอ่อน หน้าที่เหล่านี้จะต้องอาศัยความแข็งแกร่ง และอาวุธเหล็กไนที่ร้ายกาจของต่อแตนตัวเมียเท่านั้น


            ต่อ แตนถึงมีพิษร้าย แต่ก็มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ 

                สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่ถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ย่อมต้องมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาแล้วทั้งสิ้น เช่นเดียวกับต่อ แตน ที่ใครๆ อาจมองว่าเป็นแมลงร้ายที่สร้างความเจ็บปวดและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่รู้หรือไม่ว่า ต่อ แตนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลในระบบนิเวศ ด้วยการควบคุมประชากรแมลงชนิดอื่นๆ รวมถึงแมลงศัตรูไม่ให้มีมากเกินไป ด้วยการล่าตัวอ่อนของหนอนแมลงไว้เป็นอาหารสำหรับตัวเอง และตัวอ่อนต่อ แตนที่อยู่ในรัง


                ตัวอย่างต่อ แตนที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์ในแง่ของการควบคุมแมลงศัตรูพืช คือ แตนเบียน ซึ่งเป็นแมลงที่มีพฤติกรรมการวางไข่ในตัวอ่อนของแมลงชนิดอื่นๆ และตัวอ่อนของแตนเบียนจะเจริญเติบโตอยู่ภายในพร้อมกับกินแมลงเหล่านั้นเป็นอาหาร


                เรื่องราวที่น่าสนใจของ ต่อ แตน แมลงร้ายที่โลกต้องการยังมีให้ติดตามอีกหลายเรื่อง ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ที่นิทรรศการต่อ แตน แมลงร้ายที่โลกต้องการ ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 26 กันยายน 2552



 

 

 

 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL