RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


BRT นำโปสเตอร์ผลงานวิจัยจัดแสดงในงานสัมมนาสัตว์ป่า PDF พิมพ์ อีเมล

โครงการ BRT ได้นำผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์โรลสกรีนไปร่วมจัดแสดงให้ความรู้ในงานสัมมนาวิชาการ เรื่องสัตว์ป่าเมืองไทย ครั้งที่ 28 "ทางรอดของสัตว์ป่าท่ามกลางกระแสการพัฒนาประเทศ" ณ บริเวณโถงชั้นล่างของตึกวนศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม 2550

ในงานนี้ทางโครงการ BRT นำผลงานการวิจัยด้านสัตว์จากชุดโครงการทองผาภูมิตะวันตก และชุดโครงการเขานัน-ป่าเมฆ ที่มีทั้งเรื่อง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน หอย ผีเสื้อ และช้างไปร่วมจัดแสดง พร้อมได้นำแผ่นพับเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมทำวิจัยในชุดโครงการวิจัยเชิงพื้นที่เขานัน-ป่าเมฆ และขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ไปแจกจ่าย ซึ่งมีนักศึกษา นักวิชาการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการที่มาเข้าร่วมประชุมให้ความสนใจเข้าชมโปสเตอร์จำนวนมาก
 
ปัดเทรนด์ไบโอดีเซล -เอทานอล วว. ดันสาหร่ายผลิต "ไบโอไฮโดรเจน" PDF พิมพ์ อีเมล

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิจัยศูนย์จุลินทรีย์ วว.เผยสาหร่ายไทย 2 สายพันธุ์มีศักยภาพแปลงเป็นไบโอไฮโดรเจนใช้กับเซลล์เชื้อเพลิงได้อย่างน่าอัศจรรย์ ย้ำเป็นพลังงานแห่งอนาคต เพราะสะอาดหมดจดกว่าไบโอดีเซลและเอทานอล ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตัวการโลกร้อน แถมเพาะเลี้ยงได้ง่าย มีทั่วทุกภาคของประเทศ ที่สำคัญยังขยายพันธุ์ "อภิมหาเร็ว" เพียงไม่กี่อึดใจ

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิจัยศูนย์จุลินทรีย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) บรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางในอนาคตกับการใช้สาหร่ายเพื่อผลิตพลังงานไฮโดรเจน" ว่าปัจจุบันศูนย์จุลินทรีย์ วว.ได้มีการศึกษาการผลิตเชื้อเพลิงไบโอไฮโดรเจนจากสาหร่ายจนมีความคืบหน้าไปมากแล้ว

ล่าสุด ได้มีการค้นพบสาหร่าย 2 สายพันธุ์ในตระกูลสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่มีศักยภาพในการผลิตไบโอไฮโดรเจนมากคือ สาหร่ายนอสตอค และสาหร่ายออสซิลลาโทเรีย ซึ่งสามารถเพาะเลี้ยงได้ง่ายในระบบเปิดทั่วไป ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงที่ยุ่งยาก ที่สำคัญยังสาหร่ายทั้งสองยังพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

โดยเฉพาะสาหร่ายออสซิลลาโทเรียที่สามารถหมุนเวียนน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกรมาใช้ในการเพาะเลี้ยงได้ พร้อมๆ กับช่วยบำบัดน้ำเสียไปในตัว โดยสาหร่ายกลุ่มนี้เป็นสาหร่ายที่เติบโตเร็ว ใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิตได้ต่อเนื่อง ซึ่งมีการประมาณการณ์ว่าสามารถให้ผลตอบแทนดีกว่าการปลูกพืชพลังงานนับสิบเท่า อีกทั้งยังให้ผลพลอยได้มูลค่าสูง เช่น ผลพลอยได้ที่ใช้เป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ สารปฏิชีวนะ เครื่องสำอาง หรือแม้แต่ใช้เป็นยารักษาโรคได้

ดร.อาภารัตน์ ขยายความเพิ่มว่า สาหร่ายทั้ง 2 สายพันธุ์ดังกล่าวมีศักยภาพในการเพิ่มจำนวนสูงมาก สำหรับสาหร่ายออสซิลลาโทเรียสามารถเพิ่มจำนวนได้ราวเท่าตัวในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ส่วนสาหร่ายนอสตอคจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยที่วันกว่าๆ จนถึง 2 วันเพื่อให้ได้จำนวนดังกล่าว

ขณะที่อุปกรณ์เพื่อการผลิตไบโอไฮโดรเจนจากสาหร่ายนั้นก็ไม่ยุ่งยากแต่อย่างใด สามารถประยุกต์ต้นแบบการผลิตไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมันและต้นแบบการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังที่ วว.พัฒนามาก่อนหน้านี้มาปรับใช้ได้ เพราะมีระบบการทำงานไม่แตกต่างกันนัก

นักวิจัยจาก วว.มองด้วยว่า การผลิตไบโอไฮโดรเจนนี้จะเป็นพลังงานในอนาคตอย่างแท้จริง เพราะจะเป็นพลังงานที่สะอาดกว่าไบโอดีเซลและเอทานอลที่เป็นพระเอกในวงการพลังงานปัจจุบัน

เพราะเมื่อใช้กับเซลล์เชื้อเพลิงแล้วจะไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการของภาวะโลกร้อนออกมาเลย แต่จะมีเพียงไอน้ำระบายออกมาเท่านั้น จึงต่างจากไบโอดีเซลและเอทานอลที่แม้จะดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเผาไหม้แล้วก็ยังให้คาร์บอนไดออกไซด์อยู่ดี

พร้อมกันนี้ หลายหน่วยงานในไทยก็มีความคืบหน้าในการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงไปมากแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ซึ่งสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เช่นเดียวกัน ตลอดจนถึงมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ก็มีการวิจัยเซลล์เชื้อเพลิงด้วย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีสาหร่ายที่มีศักยภาพ 2 สายพันธุ์อยู่ในมือแล้ว แต่ ดร.อาภารัตน์ ก็ยังกล่าวต่อไปว่า ศูนย์จุลินทรีย์ก็จะศึกษาสาหร่ายสายพันธุ์อื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการให้ไบโอไฮโดรเจนควบคู่กันไป เพื่อให้ในท้ายที่สุดแล้วจะได้กลุ่มของสาหร่ายที่มีศักยภาพผลิตไบโอไฮโดรเจนเพิ่มมากขึ้น

พร้อมกันนั้น ศูนย์จุลินทรีย์ วว.ยังได้ศึกษาเพื่อค้นหาสาหร่ายที่มีศักยภาพผลิตไบโอดีเซลและไบโอเอทานอลด้วย ซึ่งคลังสาหร่ายของ วว. ซึ่งมีกว่า 1,000 สายพันธุ์ในขณะนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะสนองความต้องการดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชีวภาพมาช่วยใดๆ คาดว่าอีก 3- 4 ปีต่อจากนี้ก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การบรรยายของ ดร.อาภารัตน์ มีขึ้นในการสัมมนา "นวัตกรรมพลังงานชีวมวลในประเทศไทย" (Innovation on Biofuel in Thailand) จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 13 ก.พ.51 ณ โรงแรมเซ็นจูรีปาร์ค กรุงเทพฯ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวของ ดร.อาภารัตน์กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาในห้องปฏิบัติการเพื่อดูความเป็นไปได้และความคุ้มทุนในการผลิตต่อไป


 

ติดตามได้ที่ ผู้จัดการออนไลน์ 14 กุมภาพันธ์ 2551 15:56 น.

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9510000018501

 
ทองผาภูมิตะวันตกออกรายการ “สยามทูเดย์” PDF พิมพ์ อีเมล

โครงการ BRT ได้รับการติดต่อจากทีมงานรายการ "สยามทูเดย์" เพื่อเข้าถ่ายทำสารคดีสั้นเชิงอนุรักษ์ ในพื้นที่ชุดโครงการทองผาภูมิตะวันตก ต.ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในชุดโครงการวิจัยของ BRT เมื่อวันที่ 18-20 กุมภาพันธ์ 2551 พบความหลากหลายของพืชและสัตว์มากมายโดยเฉพาะ "ค้างคาวกิตติ" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก "ปูราชินี" ปูป่าแสนสวย และ "ต้นโมลีสยาม" ไม้หายากที่กำลังออกดอกสะพรั่ง แถมด้วยระบบนิเวศอันสวยงามของ พุหนองปลิง โป่งพุร้อน และทิวทัศน์แห่งผืนป่าตะวันตก

การถ่ายทำครั้งนี้เผยให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพที่บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าทองผาภูมิ อีกทั้งช่วยให้ตระหนักถึงทรัพยากรที่มีค่าในระดับโลกที่อยู่ในแผ่นดินไทย ผู้ที่สนใจติดตามรายการสยามทูเดย์ได้ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 18.00 - 18.55 น. ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 (ททบ.5)

 
“ปลาซัคเกอร์” เอเลี่ยนที่จะทำให้ปลาไทยถึงกาลอวสาน PDF พิมพ์ อีเมล

ปลาซัคเกอร์ เมื่อวันที่ 26 ก.พ.51 มีรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดจังหวัดตาก จำนวนกว่า 20 นาย พร้อมด้วยชาวบ้านได้ร่วมกันจับปลาซัคเกอร์จากหนองน้ำขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลเมืองตากเพียงแหล่งเดียวสามารถจับได้กว่า 5 ตัน ซึ่งปัจจุบันพบว่าปลาชนิดนี้ได้แพร่กระจายพันธุ์ไปตามแหล่งน้ำสาธารณะหลายแห่งทั่วประเทศไทย

ปลาซัคเกอร์มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ปลากดเกราะ ปลาเทศบาล หรือปลาดูดกระจก จัดเป็นปลาสวยงามที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเมื่อนานมาแล้ว ถือเป็นสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (Alien species) ที่ประชาชนนิยมเลี้ยงเพื่อกินตะไคร่น้ำหรือเศษอาหารในตู้ปลา เมื่อโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักหลายกิโลกรัม ผู้เลี้ยงจึงมักจะนำไปปล่อยในแม่น้ำลำคลองต่างๆ

เนื่องจากปลาซัคเกอร์เป็นปลาที่มีความอดทนสูง สามารถอาศัยในแหล่งน้ำได้ทุกรูปแบบและกินอาหารได้เกือบทุกชนิด อีกทั้งยังสามารถวางไข่สืบพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ จึงทำให้มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งการเพิ่มจำนวนของมันจะส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลาพื้นเมืองของไทยที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เพราะมันจะกินไข่ปลา หรือกินแม้กระทั่งลูกปลาวัยอ่อน

ขณะนี้ทางหน่วยราชการได้ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายของปลาซัคเกอร์ มีทั้งให้ช่วยทำลายเมื่อจับได้รวมถึงให้นำมาแลกเปลี่ยนกับปลาเศรษฐกิจหรือปลาสวยงามเพื่อช่วยลดประชากรปลาซัคเกอร์ที่มีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำสาธารณะ


ติดตามข่าว


http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=107&nid=8226

http://news.mcot.net/local/inside.php?value=bmlkPTIxMjk5Jm50eXBlPXRleHQ=

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=12489&catid=27

http://thainews.prd.go.th/previewnews.php?tb=NEWS&m_newsid=255101150018

 
พบไพรเมตอายุ 13 ล้านปี มีขนาดเล็กที่สุดในโลก PDF พิมพ์ อีเมล

ดร.เยาวลักษณ์ ชัยมณีเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ดร.เยาวลักษณ์ ชัยมณี นักธรณีวิทยา 8 สำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ทธ. และคณะ ได้เข้าศึกษาซากดึกดำบรรพ์บริเวณเหมืองถ่านหินแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง พบซากดึกดำบรรพ์ไพรเมต หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่มีพัฒนาการสูงสุดชนิดใหม่ของโลก อายุ 13 ล้านปี ชื่อ สยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส จัดอยู่ในกลุ่มไพรเมตจมูกเปียก หรือไพรเมตชั้นต่ำ ขนาดเพียง 15 เซนติเมตร น้ำหนัก 500 กรัมเท่านั้น

 

ดร.เยาวลักษณ์ กล่าวว่า ตนและคณะได้ทำโครงการร่วมสำรวจศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไทย-ฝรั่งเศส ได้พบกับชิ้นส่วนกรามล่างพร้อมฟัน จำนวน 4 กราม ของสยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส เมื่อปี 2547 จากการศึกษาเปรียบเทียบกับไพรเมตจมูกเปียกของ จีน ปากีสถาน อินเดีย และพม่า มั่นใจว่าสยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส เป็นไพรเมตที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก และเป็นครั้งแรกที่พบในประเทศไทย โดยสยามโมอะเดปิส แม่เมาะเอนซิส ที่พบนี้ถือเป็นต้นตระกูลของลิงลีเมอร์ ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะมาดากัสการ์
 

 

ข้อมูลจาก:

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01lif05260251&day=2008-02-26ionid=0132
 

http://www.matichon.co.th/khaosod/view_newsonline.php?newsid=TVRJd016a3pORGt5TlE9PQ==

 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 31 32 33 34 35 36 37 38 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL