RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


มีเธอจึงมีฉัน ชีวิตที่เกื้อหนุนกันของปูน้ำเค็มกับป่าชายเลน PDF พิมพ์ อีเมล

 ไม่มีสิ่งใดที่เกิดมาแล้วอยู่เพียงลำพังได้ สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องการการอยู่อาศัยร่วมกัน และคอยเกื้อกูลกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นความรัก ความเอื้ออาทรที่สรรพสิ่งพึงมีต่อกัน และในเทศกาลวันแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงนี้ หากจะกล่าวถึงเรื่องความรักอีกรูปแบบหนึ่งที่มีอยู่บนโลกนี้ คือความรักแบบพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิตต่างชนิดกัน ระหว่างสัตว์กับพืช นั่นคือการอยู่ร่วมกันคือปูน้ำเค็มกับป่าชายเลน

ปูน้ำเค็ม กับ ป่าชายเลน เป็นการสะท้อนภาพการอยู่อย่างเกื้อหนุนกัน ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้และไม่เคยสังเกต ป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพันธุ์ไม้ป่าชายเลนรวมกันอยู่มากมายหลายชนิด เปรียบเสมือนปราการที่ยิ่งใหญ่ ที่ปกป้องแนวชายฝั่งทะเลไม่ให้ถูกกัดเซาะจากแรงของคลื่น แหล่งที่อยู่อาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และยังเป็นแหล่งหากินของชุมชนริมฝั่งทะเล ขณะเดียวกันหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าป่าชายเลนทุกแห่งต้องมีปูน้อยใหญ่ ที่วิ่งกันขวักไขว่ไปมา นั่นอาจเป็นเพราะปูกับต้นไม้ในป่าชายเลนมีสัมพันธภาพที่ลึกซึ้ง เกื้อกูลกันเป็นอย่างดี จนเรียกได้ว่า "มีเธอจึงมีฉัน"

นายเรืองฤทธิ์ พรหมดำ หนึ่งในทีมนักวิจัยในชุดโครงการขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยาการชีวภาพในประเทศไทย (BRT) และบริษัทโททาล อีแอนด์พีไทยแลนด์ เล่าว่าจากการศึกษาวิจัยเรื่องปูน้ำเค็มในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ทำให้ได้เห็นความสัมพันธ์อันน่าประทับใจของปูน้ำเค็มที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน

"ต้นไม้ทุกชนิดจำเป็นต้องมีธาตุอาหารสำหรับการเจริญเติบโต แต่คำถามคือต้นไม้ในป่า ชายเลนได้ธาตุอาหารมาจากที่ไหน คำตอบก็คือจากเจ้าปูตัวน้อยๆ ที่เดินกันไปมาในป่าชายเลน ปูจะทำหน้าที่เป็นผู้หมุนเวียนสารอาหาร และเร่งอัตราการย่อยสลายของอินทรียสารให้กับป่าชายเลน โดยหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ปูกลุ่มที่กินอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น ปูแสม Episesarma spp. (หรือปูเค็ม) ปูกลุ่มนี้จะกินใบไม้ในป่าชายเลนที่ร่วงหล่นลงบนพื้นป่า โดยการนำมาฉีกตัดให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำกลับไปเก็บไว้ในรู เพื่อให้จุลินทรีย์ได้ช่วยย่อยสลายเศษใบไม้ก่อน จากนั้นปูจึงค่อยกินเศษซากใบไม้ อาหารเหล่านี้จะผ่านกระเพาะและทางเดินอาหารอย่างรวดเร็ว แต่จะสามารถดูดซึมสารอาหารได้น้อย ปูจึงต้องกินในปริมาณมาก เพื่อให้ได้สารอาหารที่เพียงพอ ซึ่งอินทรียสารที่ได้รับการย่อยสลายจากปูกลุ่มนี้จะถูกส่งต่อไปเป็นอาหารทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับสัตว์ชนิดอื่นที่เป็นสัตว์ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากระบอก กุ้งทะเล หอยแมลงภู่ และหอยอีกหลายชนิด

                ปูแสมแก้มแดงในป่าชายเลน
                                   ปูแสมแก้มแดง

ปูอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ปูที่กินดินกินทราย ซึ่งได้สารอาหารส่วนหนึ่งจากมูลของปูกลุ่มแรก เมื่อปูกินอินทรียสารแล้วขับถ่ายออกมา มูลของปูจะกลายเป็นปุ๋ย ที่เป็นแร่ธาตุกลับคืนสู่ดิน และสู่ต้นไม้อย่างเป็นวัฏจักร หรือแม้แต่พฤติกรรมการขุดรูของปูที่ขุดชอนไชลงไปในดินเพื่ออาศัย ยังเป็นเส้นทางนำพาออกซิเจนเข้าสู่ชั้นดินเบื้องล่าง เพิ่มความสามารถในการย่อยสลายอินทรียสารให้กับจุลชีพซึ่งสร้างแร่ธาตุให้กับดินอีกด้วย ดังนั้นจึงเป็นคำตอบของคำกล่าวที่ว่า มีเธอถึงมีฉัน นั่นก็เพราะมีปูจึงมีป่าชายเลน นั่นเอง" นายเรืองฤทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ จากการศึกษาชนิดความหลากหลายของปูน้ำเค็มในพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณอุทยาน แห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ทำให้พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีความหลากหลายของปูน้ำเค็มหลายชนิด โดยขณะนี้สามารถรวบรวมได้แล้วถึง 21 ชนิด จาก 14 สกุล ใน 7 วงศ์ ซึ่งแต่ละชนิดมีสีสันที่สวยงาม จนเปรียบได้ว่าเป็น อัญมณีสีสดใสในผืนป่าชายเลน อาทิ ปูก้ามดาบ หรือเปี้ยวโนรา ปูที่พบมากที่สุดในบริเวณนี้ ด้วยลักษณะพฤติกรรมที่ชอบโบกก้ามข้างใหญ่ไปมาคล้ายกับท่ารำของการรำโนรา และสีสันที่หลากหลาย ทั้งสีส้ม เหลือง ชมพู ปูแสมหลายชนิดที่มีสีสันฉูดฉาดสดใสไม่แพ้กัน  นอกจากนี้ยังมีปูชนิดที่เป็นรายงานการพบครั้งแรกของประเทศไทยด้วย คือ ปู Paracleistostoma tweediei Tan & Humphreys 1995 โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นชนิดเดียวกับที่มีการบรรยายลักษณะ ครั้งแรกจากประเทศบรูไน และสิงคโปร์ และจากนั้นก็ยังไม่มีรายงานการพบเพิ่มเติมที่ใดอย่างเป็นทางการ                 

ปูก้ามดาบ หรือ เปี้ยวโนราปู Paracleistostoma tweediei
    ปูก้ามดาบ หรือเปี้ยวโนรา                             ปู Paracleistostoma tweediei Tan & Humphreys 1995

จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชายฝั่งและในทะเลของประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสิ่งมีชีวิตที่ยังไม่ถูกค้นพบ และสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดล้วนมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หากขาดสิ่งมีชีวิตตัวใดตัวหนึ่งไป ก็อาจจะส่งผลกับระบบนิเวศทั้งหมดได้ เป็นเหตุผลที่ว่าเหตุใดมนุษย์อย่างเราก็ควรหันมาให้ความรักกับธรรมชาติ ก็เพราะมนุษย์เองก็ไม่อาจจะอยู่รอดได้ หากขาดทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ  ดังนั้นในเทศกาลแห่งความรักปีนี้ นอกจากนึกถึงคนที่คุณรักแล้ว อย่าลืมที่จะนึกถึงธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมเราทุกคนด้วย



///////////////////////////////

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

โครงการ BRTโทรศัพท์ 02-6448150 ต่อ  554   โทรสาร 02-6448106   e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 
“แม่น้ำแห่งชีวิต” รวมเล่มงานวิจัยลุ่มน้ำโขงที่ไม่ควรพลาด PDF พิมพ์ อีเมล

แม่น้ำโขง"น้ำโขง คือ สายน้ำหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในอุษาคเนย์มาเนิ่นนานนับพันปี จากต้นกำเนิดในทิเบต น้ำโขงไหลสู่มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีน ผ่านพม่า ลาว สยาม เขมร จนลงสู่ทะเลทางเวียดนามใต้ น้ำโขงเป็นบ้านของปลา 1,700 ชนิด ไกหรือสาหร่ายน้ำจืด กุ้ง หอย ปู และสัตว์น้ำอีกมากมายที่เป็นอาหารหล่อเลี้ยงความอุดมสมบูรณ์ ให้ผู้คนหลายร้อยล้านในลุ่มน้ำโขง อารยธรรมหลากหลายพัฒนาเติบใหญ่ขึ้น ภายใต้การโอบอุ้มของสายน้ำแห่งชีวิต"

 จากโครงการวิจัยชุดลุ่มน้ำโขงโดยคณะวิจัยของ ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) สู่การรวมเล่มเป็นหนังสือเรื่อง "แม่น้ำแห่งชีวิต" ที่จะสะท้อนถึงวิถีความเป็นไปของแม่น้ำโขง แม่น้ำนานาชาติสายหลักที่มีความสำคัญยิ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ เมื่อสายน้ำนี้ต้องเผชิญกับมรสุมการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ การสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ การระเบิดแก่งหินเพื่อเปิดช่องทางเดินเรือ และการพัฒนาระบบพาณิชย์นาวีบนลำน้ำโขง ไม่ได้นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และความเสียหายทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การลดลงของจำนวนประชากรสัตว์น้ำเท่านั้น แต่ยังทำร้ายลึกไปถึงระบบเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม


             เมื่อสัตว์น้ำหาย ชาวประมงพื้นบ้านก็ขาดรายได้จากแม่น้ำ ชาวบ้านจำต้องหันหน้าเข้าแผ่นดิน เปลี่ยนมาทำการเพาะปลูก ส่งผลถึงองค์ความรู้ท้องถิ่นในการหาปลาที่ไม่ถูกสืบสานและถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน แล้วจึงเสื่อมหายไปในที่สุด 

               มาร่วมกันติดตามทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชนในระบบนิเวศต่างๆ เพื่อศึกษาความหลากหลายของสายพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขง และวิถีปฏิบัติในการจัดการทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนใน "แม่น้ำแห่งชีวิต" แล้วคุณจะรู้ว่าสังคมไทยและผู้คนในลุ่มน้ำโขงควรหันมาทบทวนตรวจสอบทิศทางการพัฒนาลุ่มน้ำโขง บนพื้นฐานของความเคารพในความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน

  หนังสือ แม่น้ำแห่งชีวิต

หนังสือ "แม่น้ำแห่งชีวิต" ราคาเล่มละ 300 บาท (สมาชิก BRT Magazine  ตลอดชีพ ลด 10%)

สนใจสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานโครงการ BRT หรือทางเว็บไซต์ http://brt.biotec.or.th/

 
ฉลองครบ 200 ปี ชาร์ลส์ ดาร์วิน PDF พิมพ์ อีเมล

ชาร์ลส์ ดาร์วินในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ จะตรงกับวันครบรอบ 200 ปีเกิดของชาร์ลส์ ดาร์วิน นักชีววิทยาชาวอังกฤษผู้ตั้งทฤษฎีวิวัฒนาการ The Origin of Species เมื่อ 150 ปีมาแล้ว และเป็นผู้ที่ทำให้โลกได้เกิดความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสิ่งมีชีวิตจากกระบวนการคัดเลือกทางธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ เหล่านักธรรมชาติวิทยา และคนในแวดวงวิทยาศาสตร์ โครงการ BRT จึงถือโอกาสนี้จัดกิจกรรมต่างๆ ด้านวิวัฒนาการขึ้น ดังนี้

โครงการ BRT ร่วมกับสำนักพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) จัดนิทรรศการ "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ"  ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม - 31 ธันวาคม 2552 เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจในพัฒนาการแห่งวิวัฒนาการโลก โดยภายในนิทรรศการจะประกอบด้วยกิจกรรมด้านวิวัฒนาการและความหลากหลายทางชีวภาพ  ซึ่งเป็นชุดความรู้จากงานวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ที่สนับสนุนโดยโครงการ BRT มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ จะมีการจัดงานแถลงข่าวนิทรรศการ "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ"  ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์ ถ.โยธี ตั้งแต่เวลา 13.00-15.00 น. โดยมี ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน

ภายในงานจะมีการพูดถึงไฮไลท์ของชุดความรู้ที่จะถูกนำไปจัดในนิทรรศการเปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ อาทิ พฤกษาฆาตกรรม...โลกมหัศจรรย์ของพืชกินแมลง ซึ่งจะเป็นการจัดแสดงตัวอย่างพืชกินแมลง  อย่างหม้อข้าวหม้อแกงลิง กาบหอยแครง สาหร่ายข้าวเหนียว เป็นต้น และหอยทากน้ำจืด...อัญมณีอันล้ำค่าแห่งป่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตที่สามารถอธิบายถึงวิวัฒนาการ และความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิต ทั้งนี้ นิทรรศการเปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ จะเปิดให้ผู้สนใจเขาร่วมชมงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มีนาคม 2552 เป็นต้นไป ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1483-4 ,1489 และเว็บไซต์
www.nstda.or.th/ssh

ไม่หมดเพียงเท่านั้น สำหรับการเฉลิมฉลองครบ 200 ปี ชาร์ลส์ ดาร์วิน โครงการ BRT ยังได้เปิดบทความพิเศษ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน : ชีวิตที่อุทิศให้กับทฤษฎีวิวัฒนาการ" มี 4 ตอนจบ โดยจะเริ่มตอนแรกใน BRT Magazine ฉบับที่ 25 นี้ สมาชิก BRT Magazine รออ่านได้เร็วๆ นี้ค่ะ และหากท่านใดที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก สามารถสมัครได้ที่ http://www.brtannualmeeting.com/magazine/index.asp

 

BRT Magazine ฉบับที่ 25

  อ่านตัวอย่างบทความพิเศษ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน : ชีวิตที่อุทิศให้กับทฤษฎีวิวัฒนาการ" (ตอนที่ 1)

 
ม.วลัยลักษณ์ฝากข่าว งานนิทรรศการและการอบรมวิชาการ PDF พิมพ์ อีเมล
อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมเฉลิมฉลอง 200 ปีดาร์วิน โดยร่วมกับสาขาวิชาชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ และสาขาชีววิทยา สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงานนิทรรศการและการอบรมวิชาการ "200 ปี ดาร์วินกับวิวัฒนาการ" ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ นี้

ภายในงานจะประกอบด้วยนิทรรศการประวัติและผลงานของชาร์ลส์ ดาร์วิน ประวัติการเกิดโลก การกำเนิดสิ่งมีชีวิต นิทรรศการไดโนเสาร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ การเสวนาอภิปราย เรื่อง "ดาร์วินได้ให้อะไรกับเรา" พร้อมกันนี้ยังมีการแข่งขันตอบปัญหาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เรื่อง "ดาร์วินกับวิวัฒนาการ" นอกจากนี้ยังมีการอบรม เรื่อง "ดาร์วินกับวิวัฒนาการ" โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ และการฉายภาพยนตร์ชีวประวัติและสารคดีเรื่องวิวัฒนาการ ทั้งนี้ นิทรรศการจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00 น. และการอบรมจะจัดระหว่างวันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ นี้ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาคารวิชาการ 7 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทรศัพท์ 075-672602, 075-726016, 08-1891-3525
 
อาจารย์ ม.วลัยลักษณ์ ค้นพบพืชวงศ์ขิงข่า ชนิดใหม่ของโลก PDF พิมพ์ อีเมล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชัย งามเรียบสกุล อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทำการศึกษาวิจัยความหลากหลายของพืช ค้นพบพืชชนิดใหม่ของโลกในสกุลเปราะต้น วงศ์ขิงข่า ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยชั้นนำทางพฤกษศาสตร์ Nordic Journal of Botany
 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชัย เปิดเผยถึงการค้นพบพืชชนิดดังกล่าวว่า ตามที่ตนได้รับทุนวิจัย โครงการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ (Biodiversity Utilization Programหรือ BUP) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ BIOTEC เพื่อทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "ความหลากหลายและประวัติวิวัฒนาการของพืชในสกุลกระชาย (Boesenbergia) วงศ์ขิงข่า (Zinigberaceae)" ของประเทศไทยนั้น โดยระหว่างการศึกษาวิจัย ได้มีการค้นพบพืชชนิดใหม่ที่อยู่ในสกุลเปราะต้น (Caulokaempferia) ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในสกุลที่ใกล้ชิดกับพืชสกุลกระชาย อยู่ในวงศ์ขิงข่าเช่นเดียวกัน บริเวณอุทยานแห่งชาติ เขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และได้มีการตั้งชื่อพืชที่ค้นพบชนิดใหม่ดังกล่าวว่า Caulokaempferia sirirugsae Ngamriab. หรือในชื่อภาษาไทยว่า เปราะต้นศิริรักษ์ โดยได้ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พวงเพ็ญ ศิริรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของพืชในวงศ์ขิงข่าของโลก
 
เปราะต้นศิริรักษ์ เป็นพืชล้มลุก ขึ้นตามโขดหินที่มีความชื้นสูง ลักษณะลำต้นมีความสูง 12-20 เซนติเมตร มีใบจำนวน 6-8 ใบ ช่อดอกยาว 4-7 เซนติเมตร ดอกสีเหลืองโดยจะบานครั้งละ 1 ดอก ในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม และจะเป็นผลในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และเปราะต้นศิริรักษ์ยังเป็นพืชประจำถิ่น (endemic) คือพบเฉพาะบริเวณน้ำตกลำปี อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งในประเทศไทยคาดว่ามีพืชในสกุลนี้ประมาณ 16 ชนิด โดยในภาคใต้พบเพียง 4 ชนิดเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือเปราะต้นศิริรักษ์

ดอกของเปราะต้นศิริรักษ์

ดอกของเปราะต้นศิริรักษ์

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฉัตรชัย ยังกล่าวต่ออีกว่า การค้นพบพืชชนิดใหม่ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในด้านการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของพืชในประเทศไทย โดยเฉพาะในวงศ์ขิงข่า เพราะเปราะต้นศิริรักษ์ที่ถูกค้นพบถือเป็นพืชหายาก พบเฉพาะถิ่น นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสามารถส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย

          ทั้งนี้ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร Nordic Journal of Botany (ISI listed) ซึ่งเป็นวารสารวิจัยชั้นนำทางพฤกษศาสตร์ ของสแกนดิเนเวีย โดยผู้สนใจสามารถอ่านบทคัดย่องานวิจัยชิ้นนี้ได้ที่ (http://www3.interscience.wiley.com/journal/121517547/abstract)

 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL