RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


คำต่อคำ จากเวทีเสวนา “น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย” PDF พิมพ์ อีเมล

ผ่านไปแล้วกับเวทีเสวนาเรื่อง "น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย" ซึ่งเป็นเวทีที่ว่าด้วยเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกรณีตัวอย่างของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่อยู่บนฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ โครงการ BRT ซึ่งนำทีมวิจัยโดย ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

               
เวทีเสวนาได้เริ่มต้นจากการนำเสนอโครงการวิจัย โดย ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนี้ได้มุ่งเน้นศึกษาข้อมูลในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เพื่อตั้งคำถามกับทิศทางการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ซึ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า

              
ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ"ปัจจุบันการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง และรวมถึงการพัฒนาในที่อื่นๆ ทั่วโลก มักจะมีวิธีคิดการพัฒนาเชิงเดี่ยว คือคิดเฉพาะการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่นในการเดินเรือสินค้าบริเวณแม่น้ำโขงมักจะคิดว่าเกาะแก่งในลำน้ำเป็นอุปสรรคในการเดินเรือ จึงเกิดโครงการระเบิดแก่งเพื่อเปิดเส้นทางพาณิชย์นาวีขึ้น โดยไม่เคยมีการศึกษาว่าแท้จริงแล้วบริเวณเกาะแก่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาจำนวนมาก หรือแม้แต่การปลูกพืชที่ปัจจุบันมีการขยายตัวของสวนยางพารามากขึ้นทำให้พืชที่การเกษตรอื่นๆ รวมถึงป่าชุมชนหายไป การพัฒนาในเชิงเดี่ยวเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง รัฐบาลของประเทศที่มุ่งพัฒนาเชิงเดี่ยวมักจะมองแม่น้ำว่าเป็นเพียงแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ แต่ลืมมองไปว่าแม่น้ำเป็นระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยสรรพชีวิต ทั้งปลาน้อยใหญ่ กุ้ง หอย สาหร่าย รวมถึงมนุษย์ด้วย

               
การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในปิดเพื่อปิดกั้นลำน้ำโขง ทำให้ปลาลดจำนวนลง ปลาในแม่น้ำโขงเหลือแต่ปลาตัวเล็ก จับได้น้อยลง แต่ไม่เฉพาะปลาเท่านั้นที่หาย สิ่งที่จะหายตามมาหลังจากการจับปลาลดน้อยลง คือวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชาวประมง เครื่องมือหาปลา เมื่อจับปลาได้น้อยลงชาวบ้านจึงต้องเริ่มขูดรีดธรรมชาติมากขึ้น โดยการหาปลานานขึ้น บางแห่งเช่นที่หลวงพระบางจับปลาแม้กระทั่งเวลากลางคืน


ปลาถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากในแม่น้ำโขง เพราะเป็นทั้งอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในลุ่มน้ำโขงแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านด้วย อย่างเช่นที่ประเทศกัมพูชามีทะเลสาบซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ก็สามารถอยู่ได้ด้วยแม่น้ำโขง และในทะเลสาบแห่งนี้มีปลาอาศัยอยู่มากมาย โดยแต่ละปีมีการจับปลาได้เป็นล้านตัน และหากจะนับรวมตั้งแต่ประเทศลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม พบว่าปริมาณปลาที่จับได้จากแม่น้ำโขงสายเดียว มีปริมาณเป็นล้านล้านตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่เล็กเลยทีเดียว แต่ตอนนี้ปลาก็เริ่มหาย เพราะได้รับผลข้างเคียงจากการกักน้ำ การผันน้ำของเขื่อนที่อยู่ต้นน้ำ แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูญพันธุ์ของปลา หรือการลดจำนวนความหลากหลายทางชีวภาพไม่เคยถูกพูดถึง และนำไปประเมินผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และที่แย่ไปกว่านั้นคือหากปลาที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของชาวบ้านหายไป แล้ว 200-300 ล้านคนในประเทศต่างๆ ของลุ่มน้ำโขงจะอยู่อย่างไร และวัฒนธรรมเขมรที่เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของโลก ซึ่งสร้างขึ้นมาจากความหลากหลายของปลา ความอุดมสมบูรณ์ของปลาในทะเลสาบจะอยู่ได้อย่างไร


ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบของการพัฒนาเชิงเดี่ยวของประเทศในลุ่มน้ำโขง มีผลกระทบหลักๆ 4 ด้าน คือผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  เช่น การหาปลา เครื่องมือหาปลา ทั้งที่ปลาก็หายไปด้วย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านจะทำมาหากินแบบเดิมไม่ได้ ชาวบ้านจะต้องออกไปรับจ้างทำงานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านเกิดปรับตัว ให้สอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งการปรับตัวมีทั้งในแง่บวกและลบ ด้านลบเช่นการที่ชาวบ้านจับปลามากขึ้น กดขี่ธรรมชาติมากขึ้น แต่ในด้านบวก เราได้เห็นความพยายามของชาวบ้านในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เช่น บริเวณลุ่มน้ำอิง จะมีการอนุญาติให้เข้าไปจับปลาในหนองน้ำได้ปีละ 1 วัน เท่านั้น โดยในช่วงเวลาอื่นๆ ชาวบ้านจะอนุรักษ์แหล่งน้ำไว้ให้ปลาได้ขยายพันธุ์ วางไข่ เพิ่มจำนวน พอถึงวันที่ชาวบ้านจะมาจับปลา ก็จะมีคนมากันอย่างเนืองแน่น แต่ปลาที่จับได้จะตัวใหญ่

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเชิงเดี่ยวได้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ น่าจะเป็นโอกาสในการตั้งคำถามว่าวิธีมองธรรมชาติแบบเชิงเดี่ยวถูกต้องหรือไม่ และทำอย่างไรที่เราจะมองธรรมชาติอย่างรอบด้าน ทั้งในการเจริญเติบโต การรองรับประชาชนในพื้นที่ และการอนุรักษ์สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ"


นอกจากนี้ข้อมูลวิจัยที่วิเคราะห์เรื่องปริมาณปลาจากแม่น้ำโขง คุณวิเชียร อันประเสริฐ หนึ่งในทีมวิจัย ได้กล่าวว่า มีการเก็บข้อมูลเรื่องปลา โดยการพูดคุยกับชาวบ้านพบว่าเฉพาะที่ชุมชนปากแม่น้ำอิง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากปลาถึง 3,373,821 บาท แต่เมื่อมีการพัฒนาแม่โขง สร้างเขื่อน ระเบิดแก่ง ทำให้ปลาหายไปถึง 3 เท่า ซึ่งถ้าคิดทั้งหมดมูลค่าที่หายไปของปลาทั้งลำน้ำอาจมีมูลค่าเป็น 10 ล้านบาท


               
ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการBRT) ได้กล่าวถึงเรื่องของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญคือ ดิน และ น้ำ ที่เป็นรากฐานทรัพยากรที่สำคัญอันจะนำไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นยอดของทรัพยากร

               
หากย้อนกลับไปดูภูมิศาสตร์ในเอเชีย ดูแล้วเหมือนปลาหมึก โดยหิมาลัยคือตัวปลาหมึกยักษ์ และหนวดของมันคือสายน้ำ ต้นน้ำคือหิมาลัย ลงไปแม่น้ำแยงซี แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำคงคา ฯลฯ เป็นปลาหมึกที่มีอำนาจมาก เป็นแหล่งสร้างสรรค์สายน้ำ สะสมความหลากหลาย รวมถึงมนุษย์ด้วย แต่ขณะนี้หนวดปลาหมึกทั้งหลาย ถูกตัดออกไป ถามว่าถ้าหนวดปลาหมึกถูกตัดแล้ว ปลาหมึกจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้หนวดทุกหนวดได้ถูกตัดสิ้นเลย


ในวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยนี้ ความหลากหลายคือความอยู่รอด ถ้าไม่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะสูญพันธุ์ได้ง่าย เพราะฉะนั้นสังคมที่ปราศจากความหลากหลายมีโอกาสสูญพันธุ์ได้  เราจะอยู่รอดได้อย่างยาวนานถ้าอยู่บนฐานของความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมจะเป็นฐานสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงของอาหาร ในประเทศแถบตะวันตก การเกษตรเป็นทุ่งไร่ทุ่งนาที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งนั้น ซึ่งไม่มีความมั่นคง เพราะอยู่บนวิธีคิดทางเศรษฐกิจ แต่บ้านเราและประเทศในเอเชียอยู่บนฐานความหลากหลาย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำแต่เราก็ยังมีพืชพรรณ ธัญญาอาหารให้กินโดยที่เราไม่ต้องซื้อ ความหลากหลายจึงเป็นเบาะนุ่มๆของประเทศไทย และประเทศในเอเชียทั้งหมด ถึงแม้เศรษฐกิจไม่ดี คนจะตกงาน แต่ไม่มีวันอดตาย เพราะว่าเรามีอาหารรองรับอยู่ แต่ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาให้คงสภาพความหลากหลายเอาไว้ได้ บนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาหารที่เรามีอยู่ พออยู่พอกิน ถ้าเหลือก็ส่งขาย ไม่ใช่ส่งขายหมดแล้วก็ต้องกลับไปซื้อเขามากิน อันนี้ไม่ใช่ความมั่นคงด้านอาหารแน่นอน


 รศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ด้าน รศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษาศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพเราจะมองเฉพาะที่ใดที่หนึ่งไม่ได้ อาจจะต้องมีหลายจุดที่เข้าไปรักษา ซึ่งเราเองก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้เข้าไปสู่นโยบายระดับประเทศได้ ดังนั้นจึงเราต้องทำงานกันเป็นเครือข่าย จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับสูงและเอาความรู้ที่เรามีเข้าไปสู่กรรมการลุ่มน้ำโขงให้ได้  แต่ต้องมีคนที่ทำงานระดับภูมิภาคเข้ามาทำงาน อย่างที่รู้กันดีว่าเราไม่สามารถหยุดยั้งกระแสโลกได้ เพราะฉะนั้นจากความรู้เล็กๆน้อยๆ ของชาวบ้านที่เกิดจากการพยายามปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง เราต้องหยิบยกสิ่งนี้ขึ้นมาและก็ศึกษา เผยแพร่ให้ความรู้พวกนี้ให้กระจายไป พวกนักวิทยาศาสตร์น่าจะเข้าไปศึกษา และกระจายความรู้นี้ออกไป


ข้อมูลจากองค์การวิจัยป่าไม้ระหว่างประเทศที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นข้อมูลรายได้จากป่าเล็กๆ ที่เรียกว่าป่าชุมชน ครอบครัวที่ใช้ประโยชน์จากป่ามีประมาณ 20-25 ล้านครัวเรือน เศรษฐกิจตกต่ำก็กระทบต่อป่าชุมชน มีกลุ่มคนที่เข้าไปตัดไม้ในป่าชุมชน เพราะว่าคนจนจริงๆ จะเข้าป่า จะเห็นว่าป่าที่เราช่วยกันสร้าง พอถึงวิกฤตชาติ ป่าก็สามารถช่วยคนที่จนจริงๆ ถือว่าป่าได้ทำหน้าที่ต่อประเทศแล้ว อย่างน้อยก็ช่วยเรื่องความยากจน

               
เรามีปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจะเอาประเด็นเหล่านี้เข้ามาเป็นกระแสหลักได้อย่างไร เราคงเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่อยากให้มองว่าถ้าจะขยายอุตสาหกรรม แต่อย่างน้อยก็ควรช่วยรักษาป่า ดิน ลำน้ำ เอาไว้ด้วย ช่วยให้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ได้มีที่อาศัยอยู่บ้าง


ทั้งนี้ ศ.ดร.ยศ ได้กล่าวสรุปเวทีเสวนาครั้งนี้ไว้ว่า การอนุรักษ์หรือการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยที่สำคัญที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นชุมชนเล็กๆที่เขาอยู่กับทรัพยากรมายาวนาน ชาวบ้านไม่มีใครบอกให้เขาอนุรักษ์ปลา แต่เขารู้เองว่าปลาหายมีผลกระทบกับชีวิตเขา และลูกเมียจะกินอะไร ลูกจะไม่ได้เห็นปลาเหล่านี้แล้ว ขบวนการทางสังคมที่จะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมักจะเริ่มต้นจากชาวบ้านที่มาคุยกัน จนเกิดเป็นขบวน หน้าที่ของเราคือเข้าเสริมขบวนการของชาวบ้าน แล้วขยายขึ้นไปให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น อย่างน้อยชนชั้นกลางน่าจะได้รับข้อมูลเหล่านี้เพื่อกดดันให้รัฐบาลเริ่มหันมาสนใจประเด็นเหล่านี้บ้าง แต่ทางออกและคำตอบที่แท้จริงอยู่ที่ชาวบ้าน นโยบายที่สำคัญคือการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรลงไปที่ระดับรากหญ้า ทำอย่างไรจะยกระดับนโยบายของชาวบ้านขึ้นมาผลักดัน เพราะชาวบ้านมีความรู้เยอะมาก เขารู้ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเขา ความรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่เรามีทุกวันนี้ มีข้าวพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก มีผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลกไม่ใช่โชคช่วย แต่เป็นเพราะภูมิปัญญาของชาวบ้านทั้งนั้น เราจึงต้องเรียนรู้จากชาวบ้าน แล้วไปเสริมเขา ยกระดับจากชาวบ้านให้ขึ้นมาเป็นนโยบาย หากเรายังอยากจะรักษาธรรมชาติเอาไว้

 
BRT เฟ้นหาทีมนักธรรมชาติวิทยา ชิงรางวัลวิสุทธิ์ ใบไม้ PDF พิมพ์ อีเมล

ครูและนักเรียนที่มีจิตวิญญาณของการเป็นนักธรรมชาติวิทยาฟังทางนี้!!!  โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) กำลังเปิดรับสมัครโครงการภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการสืบค้นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อชิงรางวัลวิสุทธิ์ ใบไม้ ประจำปี 2552

 

โดยรางวัลดังกล่าวมีขึ้นเพื่อต้องการส่งเสริมให้เกิดการศึกษาธรรมชาติวิทยา ศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิตโดยใช้ทักษะพื้นฐานที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ ความช่างสังเกตและมองรอบด้าน จดบันทึก ตั้งคำถาม  ค้นคว้าหาคำตอบ และสามารถเรียบเรียงรายงานผลการค้นพบ  โดยการศึกษาชีววิทยาพื้นฐานควบคู่ไปกับการสืบค้นประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น  เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้ตระหนักในความสำคัญของการศึกษาธรรมชาติในท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงเห็นคุณค่าและความสำคัญของการเรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีภูมิปัญญาสั่งสมมาอย่างยาวนาน

 

ทั้งนี้ ครู และนักเรียนระดับประถม และมัธยมสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการรางวัลวิสุทธิ์ ใบไม้ โดยวางแผนการดำเนินโครงการในระยะเวลาไม่เกิน  3 เดือน และส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการมาได้ที่ ฝ่ายเลขานุการโครงการ BRT ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2552

 ดาวน์โหลดใบสมัคร

 
น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย PDF พิมพ์ อีเมล

ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติผ่านไปแล้วกับเวทีเสวนา "น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย" ซึ่งโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) จัดขึ้น ในวันที่ 18 มีนาคม ณ อาคาร สวทช. โดยได้เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว พร้อมกันนี้ได้มีการนำเสนอกรณีงานวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นการศึกษากรณีตัวอย่างของผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่อยู่บนฐานความรู้จึงส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า แม่น้ำโขงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติหลักอันอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อาศัยของปลา 1,700 ชนิด ไกหรือสาหร่ายน้ำจืด กุ้ง หอย ปู และสัตว์น้ำอีกมากมาย ลุ่มน้ำโขงจึงมีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของผู้คนหลายร้อยล้านคน ตลอดทั้งลุ่มน้ำ และ 6 ประเทศที่แม่น้ำไหลผ่าน คือ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนี้สายน้ำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมที่หลากหลาย เช่น วัฒนธรรม ประเพณีเกี่ยวกับการจับปลา ซึ่งได้พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองจากรุ่นสู่รุ่น

               
แต่ทว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเน้นการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม โดยมีการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศจีน โครงการขยายถนนเพื่อเชื่อมต่อประเทศต่างๆ ตามแนวคิดสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ รวมถึงโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อขยายช่องทางเดินเรือจากเชียงรุ่งในสิบสองปันนามาสู่เชียงแสนในประเทศไทย และหลวงพระบางในประเทศลาว เป็นต้น โดยการวางแผนดำเนินการโครงการเหล่านี้เป็นไปในรูปแบบที่ไม่มีเวทีสำหรับทบทวน ตรวจสอบ หรือศึกษาผลกระทบทางด้านสภาพแวดล้อมและสังคม ดังนั้นชุมชนท้องถิ่นจึงตกอยู่ในสภาพที่ไร้สิทธิและปราศจากการต่อรอง แม้ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโดยตรง

จากการศึกษาพบว่าผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ แบ่งได้ 3 ประการ คือ ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับรากหญ้า และผลกระทบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายของสายพันธุ์ปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับวัฏจักรการขึ้นลงของน้ำตามฤดูกาล เนื่องจากการไหลบ่าของน้ำในช่วงฤดูฝนจะนำพาปลานานาชนิดจากลำน้ำโขงสู่ลำน้ำสาขา เพื่อวางไข่ขยายพันธุ์ จากตัวอย่างการสร้างเขื่อนมั่นวาน (Manwan) ในประเทศจีน ทำให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำที่ขึ้นลงอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งมีผลต่อการอพยพและการวางไข่ของปลา ทำให้ปริมาณปลาเริ่มลดลง ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้ของท้องถิ่น นอกจากนี้ความขุ่นและความผันผวนของระดับน้ำ ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของไกหรือสาหร่ายน้ำจืด ที่มีปริมาณลดลงด้วยเช่นกัน จึงทำให้ชาวบ้านขาดทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ที่สำคัญ

ผลที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อการอยู่รอดของชุมชน ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาทำการเพราะปลูกในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้สารเคมี ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก เมื่อหมดหนทางทำมาหากินชาวบ้านบางกลุ่มจึงต้องอพยพย้ายถิ่นไปหางานทำในเมือง ในขณะที่ชาวบ้านบางกลุ่มเริ่มมองหารูปแบบการปรับตัว โดยการหามาตรการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อม และมีการก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์เกิดขึ้น โดยกลุ่มแรกคือ "กลุ่มรักษ์เชียงของ" ซึ่งเป็นเครือข่ายของชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ครู นักวิชาการท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาจากต่างประเทศ รวมตัวกันเพื่อปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของชุมชน รวมถึงได้มีการปรับระบบการจัดการทรัพยากรของท้องถิ่น ออกกฎเกณฑ์ในการจับปลา กำหนดพื้นที่และเวลาห้ามจับปลาในท้องถิ่นของตน ซึ่งเป็นมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรของท้องถิ่นที่กำลังลดลง

อย่างไรก็ดี แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรได้แพร่ขยายออกไปยังทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และตระหนักว่าการสร้างเครือข่ายของชุมชนท้องถิ่นเป็นพื้นฐานสำคัญของยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดเครือข่ายประชาสังคมในระดับชุมชน และเชื่อมโยงกับองค์กรประชาสังคมโลก ร่วมกันทำงานด้านการรณรงค์ และนำเสนอนโยบาย รวมถึงผลักดันข้อเรียกร้องที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมาตรการเชิงนโยบายให้เกิดประโยชน์กับสาธารณชนในวงกว้าง  ดังจะเห็นได้จากกรณีการรณรงค์ต่อต้านโครงการระเบิดแก่งของแม่น้ำโขงเพื่อพัฒนาเส้นทางเดินเรือของจีน เครือข่ายประชาสังคมท้องถิ่นของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ทบทวนข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลจีน ในขณะเดียวกัน อีก 76 องค์กร จาก 25 ประเทศก็ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลของ 6 ประเทศในลุ่มน้ำโขง ผลของการเรียกร้องครั้งนี้ทำให้โครงการพัฒนาเส้นทางพาณิชย์นาวี และระเบิดแก่งยุติลง

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์และพลิกฟื้นธรรมชาติ รวมถึงเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ความอยู่รอดของชุมชนท้องถิ่น  และความอยู่รอดของคนทั้งประเทศ เพราะทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่จะช่วยให้คนไทยสามารถยืนหยัดสู้วิกฤตเศรษฐกิจโลกได้โดยที่เราไม่ต้องอดอยาก และอยู่รอดได้หากระบบทุนนิยมต้องล้มสลายลง

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจการศึกษาวิจัยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในลุ่มน้ำโขง สามารถติดตามได้ในหนังสือรวมเล่มงานวิจัย เรื่อง แม่น้ำแห่งชีวิต ซึ่งรวบรวมโดยทีมวิจัย ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ โครงการ BRT โทร. 0-2644-8150-4

 
เรียนรู้เรื่องวิวัฒนาการ กว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร PDF พิมพ์ อีเมล
เปิดแล้วอย่างเป็นทางการสำหรับนิทรรศการ "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ" นิทรรศการถาวรชุดแรกของบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ที่นำเสนอเรื่องราวของวิวัฒนาการ ผ่านทฤษฏีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน โดยนิทรรศการนี้จะเปิดให้เข้าชมยาวนานถึงสิ้นปี 2552  

เมื่อวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในพิธีเปิดบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร พร้อมเข้าชมนิทรรศการ "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ" โดยภายในนิทรรศการได้มีการจัดแสดงเรื่องราวกว่าจะเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ต้องผ่านกระบวนการที่ซับซ้อน หลากหลาย และต้องฝ่าฟันอุปสรรคทางธรรมชาติ เพื่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ จนกลายเป็นความหลากหลายทางชีวภาพ

เริ่มจากจุดแรก ชมชีวประวัติชาลส์ ดาร์วิน เจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการ และกฏการคัดสรรของธรรมชาติ (Natural Selection) ผู้เปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการกำเนิดของสิ่งมีชีวิต

 

จากนั้นจะเป็นจุดเรียนรู้ ฝึกการสังเกต ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของนักวิทยาศาสตร์ ณ จุดนี้จะมีปริศนาให้ได้สงสัย และต้องการหาคำตอบ โดยที่คำตอบของปริศนาเหล่านี้จะแทรกไว้ตลอดทั้งนิทรรศการ

และก็มาถึงโซนนิทรรศการว่าด้วยเรื่องการปรับตัว การเอาตัวรอด กว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ เริ่มจากความแปรผันของหอยทากสวยงาม ความแปรผันของดอกโฮย่า การปรับตัวของพืชกินแมลง การปรับตัวจากน้ำสู่บก การมีวิวัฒนาการร่วมกันระหว่างพืชกับสัตว์ การพรางตัว การเลียนแบบ และกระบวนการเกิดสปีชีส์ใหม่

 

เรื่อยมาถึงโซนความรู้หลังยุคดาร์วิน อาทิ ดีเอ็นเอ การกลายพันธุ์ หลักฐานทางวิวัฒนาการ ไปจนถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นปลายทางของการเกิดวิวัฒนาการ การพัฒนาสายพันธุ์ เกิดเป็นสปีชีส์ใหม่ แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ในส่วนท้ายของนิทรรศการยังได้มีการนำเสนอเรื่องการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การใช้ประโยชน์จากสาหร่าย จุลินทรีย์ และสมุนไพรชนิดต่างๆ

 

 

นี่เป็นเพียงบางส่วนของงานนิทรรศการเท่านั้น หากต้องการสัมผัสบรรยากาศ และเห็นตัวอย่างที่นำมาแสดงจริง สามารถเข้าชมได้ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ตั้งแต่วันนี้ จนถึงสิ้นปี 2552

 

 
 
BRT จัดเวทีเสวนา “น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย” PDF พิมพ์ อีเมล
แม่น้ำโขงโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) กำลังจะจัดเวทีเสวนาเรื่อง "น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย" โดยเชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย และคนเริ่มหันไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อหวังผลด้านเศรษฐกิจอย่างไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในกรณีของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ส่งผลกระทบต่อทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมวิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำโขง ในการนี้ทีมวิจัยจากศูนย์ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะได้มานำผลการวิจัยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขงมานำเสนอด้วย ซึ่งจะเป็นการนำเสนอทั้งในเชิงผลกระทบที่เกิดขึ้น และแนวทางแก้ไข เยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมเปิดตัวหนังสือรวบรวมผลงานวิจัย "แม่น้ำแห่งชีวิต"


โครงการ BRT จึงขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเวทีเสวนาดังกล่าวในวันพุธที่ 18 มีนาคม 2552 เวลา 10.00 - 11.30 น. ณ ห้องประชุม 513 ชั้น 5 อาคาร สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ถ.โยธี) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2644-8150-4 ต่อ 554

 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL