พรรณไม้ที่ปลูกในบ้านทนน้ำท่วมหรือไม่ การกล่าวว่า พรรณไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งทนน้ำท่วมหรือไม่ ทนได้มากเพียงไร หรือทนได้มากกว่าหรือน้อยกว่าชนิดอื่นๆ นั้น จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มีเกณฑ์เปรียบเทียบเดียวกัน อาทิเช่น ระดับน้ำท่วมสูง จำนวนวันที่น้ำท่วม เป็นน้ำหลากหรือไหลผ่านหรือน้ำนิ่งที่สะอาดหรือน้ำเน่าเสีย และพรรณไม้ที่นำมาเปรียบเทียบควรมีอายุ หรือความสูง หรือความแข็งแรงพอๆ กัน ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ ก็ดูจากบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ว่าชนิดไหนตาย ชนิดไหนรอด แต่ก็มีอีกหลายชนิดที่ดูเหมือนว่า มีความทนทานต่อน้ำท่วม น้ำท่วมนานเท่าไร สูงเท่าไร ก็ทนได้ มีใบเขียวชอุ่มแน่นทรงพุ่ม แต่พอน้ำลด ดินโคนต้นเริ่มแห้ง ใบก็เริ่มเหี่ยว ร่วง และตายในที่สุด โดยปรกติในที่ราบลุ่มของภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ในภาคกลาง ได้แก่จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานีและกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงฤดูฝนจะมีน้ำหลากจากภาคเหนือและท่วมขังอยู่เป็นเวลา 2-3 เดือน ประชาชนจึงปลูกบ้านที่มีเสาสูง 1.5-2.0 เมตร และยกพื้นบ้านให้สูงกว่าระดับน้ำ ส่วนพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ในบริเวณนี้ก็ปรับตัวจนสามารถทนทานต่อน้ำท่วมได้ ทั้งนี้เนื่องจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำหลากในฤดูฝน เป็นน้ำที่ไหลมาจากภูเขาในภาคเหนือ เป็นน้ำสะอาดไม่เน่าเสีย ในน้ำยังมีออกซิเจนมากเพียงพอให้รากต้นไม้ได้แลกเปลี่ยนกาซและดูดน้ำขึ้นไปใช้ ในเวลาเดียวกัน น้ำหลากเหล่านี้ได้พัดพาเอาตะกอนดินที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์จากภูเขาลงมาด้วย สังเกตได้ว่าน้ำมีสีน้ำตาลอ่อนหรือเหลืองนวลที่มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ดังนั้นน้ำหลากจึงช่วยให้พืชพื้นเมืองตามริมแม่น้ำเจ้าพระยาเจริญเติบโตได้ดี
ทำไมพรรณไม้แต่ละชนิดจึงทนน้ำท่วมขังได้แตกต่างกัน ถ้าตอบแบบง่ายๆ และถูกต้องก็คือ เป็นธรรมชาติของพรรณไม้ หากขยายความก็คือ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมของพรรณไม้ เห็นได้จากถิ่นกำเนิดและการกระจายพันธุ์ (Habitat & distribution) พรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ริมแหล่งน้ำ ก็จะชอบน้ำและทนทานต่อน้ำท่วม หากกล่าวถึงเฉพาะพรรณไม้พุ่มหรือไม้ต้นที่มีเนื้อไม้แข็ง สามารถสังเกตได้จากลักษณะทางสัณฐานวิทยาของเปลือกลำต้นและเปลือกรากที่มีความแข็ง หรือหนาเหนียว และอาจพบช่องแลกเปลี่ยนกาซตามเปลือกที่เป็นรอยขีดนูนหรือเป็นตุ่มนูนสีขาวหรือเทา ดังเช่น ต้นมะกอกน้ำ มะดัน อโศกน้ำ ยางนา ละมุด มะกรูด ซึ่งมีความทนทานต่อน้ำท่วมได้ดี แต่ในขณะที่เปลือกลำต้นหรือเปลือกรากมีลักษณะค่อนข้างอ่อน หนาและค่อนข้างฉ่ำน้ำ เช่น จำปี จำปา มะกอก มะกอกฝรั่ง พญาสัตบรรณหรือตีนเป็ด ชมพูพรรณทิพย์ จะไม่ทนทานต่อน้ำท่วม ทำไมพรรณไม้ถึงตายเมื่อน้ำท่วม ตามธรรมชาติแล้วพรรณไม้ประดับทุกชนิดต้องการน้ำที่จะนำไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง เพื่อสร้างอาหาร เพื่อการเจริญเติบโต แต่มีความต้องการในปริมาณที่เหมาะสมไม่เท่ากัน โดยดูดซับเข้ามาทางรากขนอ่อนที่อยู่ส่วนปลายของราก รากขนอ่อนนี้มีผนังบางๆ หากมีน้ำท่วม น้ำจะเข้าไปแทนที่ฟองอากาศที่มีอยู่ในดิน ทำให้รากแลกเปลี่ยนกาซไม่ได้ เซลล์จะตายหรือเน่าเสีย ทำให้รากใหญ่ดูดน้ำขึ้นไปใช้ไม่ได้ ใบก็จะขาดน้ำ ทำการสังเคราะห์แสงไม่ได้ ใบเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เหี่ยวแห้งและร่วง ตายในเวลาต่อมา ซึ่งหลายคนสงสัยว่า ทำไมใบไม้ ขาดน้ำ ทั้งๆ ที่ต้นแช่น้ำอยู่ พรรณไม้ประดับที่ทนน้ำท่วม พรรณไม้ที่ทนน้ำท่วมส่วนใหญ่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง หรือขึ้นอยู่ริมแหล่งน้ำที่เป็นแม่น้ำ ลำธาร น้ำตก หนองบึง หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นพรรณไม้พื้นเมืองดั้งเดิมของไทย อาทิเช่น พรรณไม้ในวงศ์ยาง (Family Dipterocarpaceae) ได้แก่ ยางนา ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะเคียนทราย สยาขาว กระบาก จันทน์กะพ้อ พะยอม พรรณไม้ในวงศ์มะเกลือ (Family Ebenaceae) โดยเฉพาะในสกุลมะพลับ (Genus Diospyros) ได้แก่ มะพลับ ไม้ดำ ดำดง สั่งทำ ตะโกพนม ตะโกนา ตะโกสวน จันดำ จันอิน มะเกลือ พญารากดำ พรรณไม้ในวงศ์อื่นๆ ได้แก่ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบใหญ่ โกงกางหัวสุม โกงกางหูช้าง กระโดน กระทุ่มน้ำ กระทุ่มนา กระเบา กรวยน้ำ กะพ้อแดง กะพ้อหนาม กาจะ การเวกน้ำ เกด กุ่มน้ำ ข่อย ขะเจาะน้ำ ขี้เหล็กบ้าน คัดเค้าเครือ คล้า คลุ้ม เคี่ยม แคนา ไคร้ย้อย จิกน้ำ จิกสวน ชมพู่น้ำ ชำมะเลียงบ้าน ตะแบกนา ตีนเป็ดน้ำ ตีนเป็ดทราย เตยทะเล เตยน้ำ เตยพรุ เตยหอม เตยหนู เต่าร้าง ทองกวาว ไทร โพธิ์ นาวน้ำ นนทรี นมแมว ประดู่ป่า ประดู่บ้าน ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ป่า ฝรั่ง พิกุล พุดทุ่ง พุดภูเก็ต พุดสี พุทรา โพทะเล มะกรูด โมกลา มะพร้าว มะขาม มะขามเทศ มะเดื่อกวาง มะตูม ยอบ้าน ละมุด ลำพู สะแก สะตือ เสม็ด สารภี หูกวาง หมากสง อินทนิล อโศกป่าพุ (พุเมืองกาญจนบุรี)
นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้จากต่างประเทศอีกหลายชนิดที่นำเข้ามาปลูกกัน แล้วมีความทนทานต่อภาวะน้ำท่วมได้ อาทิเช่น อโศกอินเดีย ก้ามปู หูกระจง กระดังงาจีน
สำหรับพรรณไม้ประดับบางชนิด มีความทนทานเป็นเลิศ ถึงแม้ว่าจะมีน้ำท่วมสูงมิดยอดเป็นเวลานาน (ทนได้ถึง 30 วัน) ได้แก่ ปาล์มแวกซ์ (Copernicia prunifera) ต้นตาลโตนด (Borassus flabellifer) จาก สาคู อโศกน้ำ มะกอกน้ำ มะดัน หลังจากน้ำลดลงแล้ว เจริญเติบโตต่อได้เลย
อย่างไรก็ตาม การปลูกพรรณไม้ทนน้ำท่วมเหล่านี้ประดับบ้าน ก็ควรมีการตัดแต่งทรงพุ่มให้สวยงาม มีการกำจัดวัชพืช โรคและแมลง มีการพรวนโคนต้นให้สวยงาม พร้อมทั้งมีการใส่ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโตเป็นช่วงๆ พรรณไม้เหล่านี้ก็จะเป็นไม้ประดับที่สวยงาม พร้อมที่จะสู้ทนน้ำท่วมให้เจ้าของบ้านอย่างท่านได้สบายใจ
(อ้างอิง : ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.))
|