RocketTheme Joomla Templates
คำต่อคำ จากเวทีเสวนา “น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย” PDF พิมพ์ อีเมล

ผ่านไปแล้วกับเวทีเสวนาเรื่อง "น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจถดถอย" ซึ่งเป็นเวทีที่ว่าด้วยเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกรณีตัวอย่างของการพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่อยู่บนฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย หรือ โครงการ BRT ซึ่งนำทีมวิจัยโดย ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ โดยเป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

               
เวทีเสวนาได้เริ่มต้นจากการนำเสนอโครงการวิจัย โดย ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นในแถบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนี้ได้มุ่งเน้นศึกษาข้อมูลในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงบริเวณภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย เพื่อตั้งคำถามกับทิศทางการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ซึ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจการค้า

              
ศ.ดร.ยศ สันตสมบัติ"ปัจจุบันการพัฒนาในลุ่มน้ำโขง และรวมถึงการพัฒนาในที่อื่นๆ ทั่วโลก มักจะมีวิธีคิดการพัฒนาเชิงเดี่ยว คือคิดเฉพาะการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่นในการเดินเรือสินค้าบริเวณแม่น้ำโขงมักจะคิดว่าเกาะแก่งในลำน้ำเป็นอุปสรรคในการเดินเรือ จึงเกิดโครงการระเบิดแก่งเพื่อเปิดเส้นทางพาณิชย์นาวีขึ้น โดยไม่เคยมีการศึกษาว่าแท้จริงแล้วบริเวณเกาะแก่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาจำนวนมาก หรือแม้แต่การปลูกพืชที่ปัจจุบันมีการขยายตัวของสวนยางพารามากขึ้นทำให้พืชที่การเกษตรอื่นๆ รวมถึงป่าชุมชนหายไป การพัฒนาในเชิงเดี่ยวเหล่านี้จึงเป็นสาเหตุให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง รัฐบาลของประเทศที่มุ่งพัฒนาเชิงเดี่ยวมักจะมองแม่น้ำว่าเป็นเพียงแหล่งน้ำ ซึ่งสามารถจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ แต่ลืมมองไปว่าแม่น้ำเป็นระบบนิเวศที่เต็มไปด้วยสรรพชีวิต ทั้งปลาน้อยใหญ่ กุ้ง หอย สาหร่าย รวมถึงมนุษย์ด้วย

               
การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในปิดเพื่อปิดกั้นลำน้ำโขง ทำให้ปลาลดจำนวนลง ปลาในแม่น้ำโขงเหลือแต่ปลาตัวเล็ก จับได้น้อยลง แต่ไม่เฉพาะปลาเท่านั้นที่หาย สิ่งที่จะหายตามมาหลังจากการจับปลาลดน้อยลง คือวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชาวประมง เครื่องมือหาปลา เมื่อจับปลาได้น้อยลงชาวบ้านจึงต้องเริ่มขูดรีดธรรมชาติมากขึ้น โดยการหาปลานานขึ้น บางแห่งเช่นที่หลวงพระบางจับปลาแม้กระทั่งเวลากลางคืน


ปลาถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญมากในแม่น้ำโขง เพราะเป็นทั้งอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในลุ่มน้ำโขงแล้ว ยังเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวบ้านด้วย อย่างเช่นที่ประเทศกัมพูชามีทะเลสาบซึ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ก็สามารถอยู่ได้ด้วยแม่น้ำโขง และในทะเลสาบแห่งนี้มีปลาอาศัยอยู่มากมาย โดยแต่ละปีมีการจับปลาได้เป็นล้านตัน และหากจะนับรวมตั้งแต่ประเทศลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม พบว่าปริมาณปลาที่จับได้จากแม่น้ำโขงสายเดียว มีปริมาณเป็นล้านล้านตัน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่เล็กเลยทีเดียว แต่ตอนนี้ปลาก็เริ่มหาย เพราะได้รับผลข้างเคียงจากการกักน้ำ การผันน้ำของเขื่อนที่อยู่ต้นน้ำ แต่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูญพันธุ์ของปลา หรือการลดจำนวนความหลากหลายทางชีวภาพไม่เคยถูกพูดถึง และนำไปประเมินผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และที่แย่ไปกว่านั้นคือหากปลาที่เป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของชาวบ้านหายไป แล้ว 200-300 ล้านคนในประเทศต่างๆ ของลุ่มน้ำโขงจะอยู่อย่างไร และวัฒนธรรมเขมรที่เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของโลก ซึ่งสร้างขึ้นมาจากความหลากหลายของปลา ความอุดมสมบูรณ์ของปลาในทะเลสาบจะอยู่ได้อย่างไร


ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบของการพัฒนาเชิงเดี่ยวของประเทศในลุ่มน้ำโขง มีผลกระทบหลักๆ 4 ด้าน คือผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ผลกระทบต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น  เช่น การหาปลา เครื่องมือหาปลา ทั้งที่ปลาก็หายไปด้วย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ชาวบ้านจะทำมาหากินแบบเดิมไม่ได้ ชาวบ้านจะต้องออกไปรับจ้างทำงานมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านเกิดปรับตัว ให้สอดคล้องกับธรรมชาติแวดล้อม ซึ่งการปรับตัวมีทั้งในแง่บวกและลบ ด้านลบเช่นการที่ชาวบ้านจับปลามากขึ้น กดขี่ธรรมชาติมากขึ้น แต่ในด้านบวก เราได้เห็นความพยายามของชาวบ้านในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น เช่น บริเวณลุ่มน้ำอิง จะมีการอนุญาติให้เข้าไปจับปลาในหนองน้ำได้ปีละ 1 วัน เท่านั้น โดยในช่วงเวลาอื่นๆ ชาวบ้านจะอนุรักษ์แหล่งน้ำไว้ให้ปลาได้ขยายพันธุ์ วางไข่ เพิ่มจำนวน พอถึงวันที่ชาวบ้านจะมาจับปลา ก็จะมีคนมากันอย่างเนืองแน่น แต่ปลาที่จับได้จะตัวใหญ่

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเชิงเดี่ยวได้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้ น่าจะเป็นโอกาสในการตั้งคำถามว่าวิธีมองธรรมชาติแบบเชิงเดี่ยวถูกต้องหรือไม่ และทำอย่างไรที่เราจะมองธรรมชาติอย่างรอบด้าน ทั้งในการเจริญเติบโต การรองรับประชาชนในพื้นที่ และการอนุรักษ์สายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ"


นอกจากนี้ข้อมูลวิจัยที่วิเคราะห์เรื่องปริมาณปลาจากแม่น้ำโขง คุณวิเชียร อันประเสริฐ หนึ่งในทีมวิจัย ได้กล่าวว่า มีการเก็บข้อมูลเรื่องปลา โดยการพูดคุยกับชาวบ้านพบว่าเฉพาะที่ชุมชนปากแม่น้ำอิง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากปลาถึง 3,373,821 บาท แต่เมื่อมีการพัฒนาแม่โขง สร้างเขื่อน ระเบิดแก่ง ทำให้ปลาหายไปถึง 3 เท่า ซึ่งถ้าคิดทั้งหมดมูลค่าที่หายไปของปลาทั้งลำน้ำอาจมีมูลค่าเป็น 10 ล้านบาท


               
ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการBRT) ได้กล่าวถึงเรื่องของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่สำคัญคือ ดิน และ น้ำ ที่เป็นรากฐานทรัพยากรที่สำคัญอันจะนำไปสู่ความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นยอดของทรัพยากร

               
หากย้อนกลับไปดูภูมิศาสตร์ในเอเชีย ดูแล้วเหมือนปลาหมึก โดยหิมาลัยคือตัวปลาหมึกยักษ์ และหนวดของมันคือสายน้ำ ต้นน้ำคือหิมาลัย ลงไปแม่น้ำแยงซี แม่น้ำอิระวดี แม่น้ำคงคา ฯลฯ เป็นปลาหมึกที่มีอำนาจมาก เป็นแหล่งสร้างสรรค์สายน้ำ สะสมความหลากหลาย รวมถึงมนุษย์ด้วย แต่ขณะนี้หนวดปลาหมึกทั้งหลาย ถูกตัดออกไป ถามว่าถ้าหนวดปลาหมึกถูกตัดแล้ว ปลาหมึกจะอยู่ได้หรือไม่ เพราะตอนนี้หนวดทุกหนวดได้ถูกตัดสิ้นเลย


ในวิกฤตทางเศรษฐกิจที่กำลังถดถอยนี้ ความหลากหลายคือความอยู่รอด ถ้าไม่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะสูญพันธุ์ได้ง่าย เพราะฉะนั้นสังคมที่ปราศจากความหลากหลายมีโอกาสสูญพันธุ์ได้  เราจะอยู่รอดได้อย่างยาวนานถ้าอยู่บนฐานของความหลากหลาย ทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมจะเป็นฐานสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงของอาหาร ในประเทศแถบตะวันตก การเกษตรเป็นทุ่งไร่ทุ่งนาที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวทั้งนั้น ซึ่งไม่มีความมั่นคง เพราะอยู่บนวิธีคิดทางเศรษฐกิจ แต่บ้านเราและประเทศในเอเชียอยู่บนฐานความหลากหลาย ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำแต่เราก็ยังมีพืชพรรณ ธัญญาอาหารให้กินโดยที่เราไม่ต้องซื้อ ความหลากหลายจึงเป็นเบาะนุ่มๆของประเทศไทย และประเทศในเอเชียทั้งหมด ถึงแม้เศรษฐกิจไม่ดี คนจะตกงาน แต่ไม่มีวันอดตาย เพราะว่าเรามีอาหารรองรับอยู่ แต่ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาให้คงสภาพความหลากหลายเอาไว้ได้ บนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาหารที่เรามีอยู่ พออยู่พอกิน ถ้าเหลือก็ส่งขาย ไม่ใช่ส่งขายหมดแล้วก็ต้องกลับไปซื้อเขามากิน อันนี้ไม่ใช่ความมั่นคงด้านอาหารแน่นอน


 รศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ด้าน รศ.ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษาศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค กล่าวว่าเรื่องสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพเราจะมองเฉพาะที่ใดที่หนึ่งไม่ได้ อาจจะต้องมีหลายจุดที่เข้าไปรักษา ซึ่งเราเองก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้เข้าไปสู่นโยบายระดับประเทศได้ ดังนั้นจึงเราต้องทำงานกันเป็นเครือข่าย จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับสูงและเอาความรู้ที่เรามีเข้าไปสู่กรรมการลุ่มน้ำโขงให้ได้  แต่ต้องมีคนที่ทำงานระดับภูมิภาคเข้ามาทำงาน อย่างที่รู้กันดีว่าเราไม่สามารถหยุดยั้งกระแสโลกได้ เพราะฉะนั้นจากความรู้เล็กๆน้อยๆ ของชาวบ้านที่เกิดจากการพยายามปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง เราต้องหยิบยกสิ่งนี้ขึ้นมาและก็ศึกษา เผยแพร่ให้ความรู้พวกนี้ให้กระจายไป พวกนักวิทยาศาสตร์น่าจะเข้าไปศึกษา และกระจายความรู้นี้ออกไป


ข้อมูลจากองค์การวิจัยป่าไม้ระหว่างประเทศที่ประเทศอินโดนีเซีย เป็นข้อมูลรายได้จากป่าเล็กๆ ที่เรียกว่าป่าชุมชน ครอบครัวที่ใช้ประโยชน์จากป่ามีประมาณ 20-25 ล้านครัวเรือน เศรษฐกิจตกต่ำก็กระทบต่อป่าชุมชน มีกลุ่มคนที่เข้าไปตัดไม้ในป่าชุมชน เพราะว่าคนจนจริงๆ จะเข้าป่า จะเห็นว่าป่าที่เราช่วยกันสร้าง พอถึงวิกฤตชาติ ป่าก็สามารถช่วยคนที่จนจริงๆ ถือว่าป่าได้ทำหน้าที่ต่อประเทศแล้ว อย่างน้อยก็ช่วยเรื่องความยากจน

               
เรามีปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม เราจะเอาประเด็นเหล่านี้เข้ามาเป็นกระแสหลักได้อย่างไร เราคงเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่อยากให้มองว่าถ้าจะขยายอุตสาหกรรม แต่อย่างน้อยก็ควรช่วยรักษาป่า ดิน ลำน้ำ เอาไว้ด้วย ช่วยให้สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ได้มีที่อาศัยอยู่บ้าง


ทั้งนี้ ศ.ดร.ยศ ได้กล่าวสรุปเวทีเสวนาครั้งนี้ไว้ว่า การอนุรักษ์หรือการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยที่สำคัญที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นชุมชนเล็กๆที่เขาอยู่กับทรัพยากรมายาวนาน ชาวบ้านไม่มีใครบอกให้เขาอนุรักษ์ปลา แต่เขารู้เองว่าปลาหายมีผลกระทบกับชีวิตเขา และลูกเมียจะกินอะไร ลูกจะไม่ได้เห็นปลาเหล่านี้แล้ว ขบวนการทางสังคมที่จะอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพมักจะเริ่มต้นจากชาวบ้านที่มาคุยกัน จนเกิดเป็นขบวน หน้าที่ของเราคือเข้าเสริมขบวนการของชาวบ้าน แล้วขยายขึ้นไปให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น อย่างน้อยชนชั้นกลางน่าจะได้รับข้อมูลเหล่านี้เพื่อกดดันให้รัฐบาลเริ่มหันมาสนใจประเด็นเหล่านี้บ้าง แต่ทางออกและคำตอบที่แท้จริงอยู่ที่ชาวบ้าน นโยบายที่สำคัญคือการกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรลงไปที่ระดับรากหญ้า ทำอย่างไรจะยกระดับนโยบายของชาวบ้านขึ้นมาผลักดัน เพราะชาวบ้านมีความรู้เยอะมาก เขารู้ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเขา ความรู้เรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่เรามีทุกวันนี้ มีข้าวพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก มีผลไม้ที่อร่อยที่สุดในโลกไม่ใช่โชคช่วย แต่เป็นเพราะภูมิปัญญาของชาวบ้านทั้งนั้น เราจึงต้องเรียนรู้จากชาวบ้าน แล้วไปเสริมเขา ยกระดับจากชาวบ้านให้ขึ้นมาเป็นนโยบาย หากเรายังอยากจะรักษาธรรมชาติเอาไว้