RocketTheme Joomla Templates
ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ประโยชน์ มะเดื่อ ชนิด Ficus obpyramidata King PDF พิมพ์ อีเมล

หลังจากที่ได้สำรวจพืชสกุลมะเดื่อ-ไทร ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จ.นราธิวาส จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะนักวิจัยได้สนใจการใช้ประโยชน์ของมะเดื่อ จึงได้สัมภาษณ์ชาวบ้านใน 3 หมู่บ้าน ที่อยู่บริเวณใกล้ป่าบาลา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบว่าชาวบ้านรู้จักมะเดื่อ ชนิด Ficus obpyramidata King เป็นอย่างดี เพราะนิยมนำมาบริโภคเป็นอาหาร และยารักษาโรค

มะเดื่อชนิดนี้มักรับประทานผลสดในขณะยังอ่อนอยู่ ซึ่งผลอ่อนมี 2 แบบ คือ แบบผลสีเขียว และผลสีน้ำตาล ชาวบ้านกล่าวว่าสามารถรับประทานเป็นอาหารได้ทั้ง 2 แบบ แต่แบบสีเขียวจะมีรสชาติดีกว่า โดยจะใช้ผลสดๆ ล้างให้สะอาด กินแกล้มแกงหรือน้ำพริก รสชาติมันและกรุบกรอบ ช่วยลดความเผ็ดลงได้ หรือนำไปต้มให้สุกก่อน จึงหั่นเป็นชิ้นๆ ใส่ในแกงเนื้อสัตว์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ เนื้อแพะหรือเนื้อวัว รสชาติของผลมะเดื่อหลังปรุงเสร็จแล้วจะคล้ายกับมันเทศ และนอกจากนี้ยังอาจใช้ทำเป็นของหวาน โดยต้มให้นุ่มแล้วหั่นก่อนที่จะคลุกกับมะพร้าวขูดและน้ำตาล ส่วนผลสุกนั้นมีสีสันน่ารับประทานไม่น้อยแต่กลับพบว่าไม่นิยมนำมาบริโภค อาจเป็นเพราะรสชาติจืดชืดและไม่อร่อย นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้เป็นยาพื้นบ้าน โดยนำผลอ่อนสดๆ มารับประทานคราวละ 2-3 ผล เพื่อใช้รักษาโรคท้องร่วง เพราะมีรสชาติฝาดและเย็น

ผลอ่อนของมะเดื่อ

ผลอ่อนของมะดื่อ Ficus obpyramidata King  (ซ้าย) แบบผลสีเขียว; (ขวา) แบบผลสีน้ำตาล

 

ผลมะเดื่อที่ต้มสุกแล้ว

 ผลที่ต้มสุกแล้ว สามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน

มะเดื่อเป็นไม้ยืนต้นกลุ่มเดียวกับไทร ถือว่าเป็นไม้มงคลประเภทหนึ่ง มีลักษณะทั่วไปเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูงประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเกลี้ยงเกลา สีน้ำตาล ผลมีรูปร่างกลมแป้นหรือรูปไข่ ผล มักจะออกเป็นช่อกระจุกอยู่ตามกิ่งและลำต้น เมื่อผ่าออกดูจะเห็นดอกเล็กๆ อยู่ภายในผล มะเดื่อมักจะขึ้นตามธรรมชาติ บริเวณริมแม่น้ำลำคลอง ริมลำธาร ในป่าดิบชื้น หรือปลูกตามบ้านเรือนและริมทางเดิน มักขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด



อ้างอิง : Chantarasuwan, B. and Thong-aree, S. 2007. The Utilization of Ficus obpyramidata King in Local Knowledge. The Thailand Natural History Museum Jounal, 2(1): 59-61.

ข้อมูล/ภาพ : นายภานุมาศ จันทร์สุวรรณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ