พิฆาตไรฝุ่น ด้วย “สเปรย์น้ำมันหอมระเหยจากพืช” |
นักวิจัย BRT พัฒนาต่อยอดจากสารสกัดสมุนไพร สู่ "สเปรย์น้ำมันหอมระเหยจากพืชกำจัดไรฝุ่น" เผยไม่เพียงมีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นได้ 100 % เท่านั้น แต่ยังสามารถเติมแต่งกลิ่นหอมได้ตามชอบ เช่น กลิ่นมะลิ กาแฟ ลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส ที่สำคัญปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีปัญหาเรื่องสีติดที่นอน หรือสร้างความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์ ระบุยื่นจดสิทธิบัตรแล้วพร้อมขยายผลกับภาคธุรกิจเพื่อผลิตขายในท้องตลาดได้ในอนาคตอันใกล้นี้
โรคภูมิแพ้ เป็นภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ (allergen) อาการที่แสดงออกมาได้แก่ เยื่อจมูกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ และหอบหืด เป็นต้น ซึ่ง 80 % ของการก่อโรคมีสาเหตุมาจากผงฝุ่นที่เกิดจากมูลของสัตว์ตัวจิ๋วที่ชื่อว่า "ไรฝุ่น" ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีรายว่างานพบผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มีสาเหตุมาจากไรฝุ่นแล้วประมาณ 10 ล้านคน โดยชนิดไรฝุ่นที่สำคัญ ได้แก่ Dermatophagoides pteronyssinus (Trouessart) และ Blomia tropicalis Bronswijk ที่สำคัญไรฝุ่นกว่า 90%มักพบที่เตียงนอนที่ต้องใช้ทุกวัน ดร.อำมร อินทร์สังข์ ภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ค้นพบสารสกัดจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นได้สำเร็จ แต่เมื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมกลับยังประสบปัญหา เนื่องจากสารสกัดมีการปะปนของสารอื่นๆ อยู่มาก ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ยาก อีกทั้งในสารสกัดของพืชยังมีเม็ดสี จึงทำให้สีติดที่นอน และทำให้เกิดรอยด่างสร้างความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์บางอย่างได้ ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยซึ่งมีคุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน นักวิทยาศาสตร์ในสังกัดภาควิชาฯ เป็นกำลังหลัก ได้ทำการศึกษาการควบคุมไรฝุ่นชนิด Dermatophagoides pteronyssinus ด้วยสารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อทดแทนการใช้สารสกัดหยาบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) " ในการวิจัยได้สกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืช 8 ชนิด ได้แก่ การพลู อบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพา และมะพร้าว ที่ความเข้มข้นระดับต่างๆ จากนั้นนำน้ำมันหอมระเหยของพืชแต่ละชนิดมาทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดไรฝุ่น ด้วยการฉีดสารละลายของน้ำมันหอมระเหยลงในกรงทดสอบซึ่งมีไรฝุ่นตัวเต็มวัยจำนวน 10 ตัว จากนั้นปิดฝาและรมไว้นาน 1 ชั่วโมง และตรวจนับการตายภายในชั่วโมงที่ 24 ซึ่งผลการทดสอบพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0% มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรฝุ่นสูงสุดคือ 100 % รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นชัน ไพล และตะไคร้หอม ที่ความเข้มข้น 1.5 % โดยกำจัดไรฝุ่นได้ 93.3 ,90.0 และ 76.7 ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยจากพริกไทยดำและโหระพากำจัดได้ 50-70 % ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากมะพร้าวกำจัดได้ต่ำกว่า 50 %
////////////////////////////////////////// ข้อมูลเพิ่มเติม ไรฝุ่น เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูล Phylum Arthopoda เช่นเดียวกับแมลงและแมง แต่มีลักษณะเด่นคือมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเพียง 0.3 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่ในที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียสและอยู่ในที่มีความชื้นสูงร้อยละ60-70 ไม่ชอบแสงสว่าง ดังนั้นในบ้านเรือนจึงพบไรฝุ่นได้ตามในที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรหม บนโซฟา ผ้าม่าน หรือตุ๊กตาที่ใช้วัสดุภายในเป็นเส้นใย โดยทั่วไปแล้วไรฝุ่นจะมีวงจรชีวิต 5 ระยะ คือเมื่อตัวไรเข้าสู่ช่วงเจริญวัยเต็มที่จะเริ่มทำการผสมพันธุ์ ซึ่งหลังจากผสมพันธุ์ได้ 3-4 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่เฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งสามารถวางไข่ได้เพียงครั้งละ 1 ฟอง โดยตลอดชีวิตของไรฝุ่น 1 ตัว จะสามารถออกไข่ได้ถึง 80-100 ฟอง จากนั้นไข่จะเริ่มฟักเป็นตัวอ่อนภายในเวลา 8-12 วัน เข้าสู่ระยะวัยรุ่น 1 จะมีขา 6 ขา และทำการลอกคราบหลายครั้ง ซึ่งในระยะนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหว เมื่อเริ่มสร้างผิวตัวและเจริญเข้าสู่ระยะวัยรุ่น 3 จะมีขาครบ 8 ขา แล้วก็พัฒนาเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยที่มีลวดลายคล้ายนิ้วมือบนผิวตัว ไรฝุ่นจะมีช่วงอายุไขทั้งหมดเพียง 2-4 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหาร อุณหภูมิและความชื้นในอากาศด้วย ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหาร โดยเศษผิวหนัง 1 กรัมสามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ 1,000,000 ตัวนานถึง 1 สัปดาห์ อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25-30?C และความชื้นสัมพัทธ์ 75-80% สารก่อภูมิแพ้หลัก มักอยู่ในรูปของมูลและคราบของไรฝุ่น ซึ่งสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศและสูดดมเข้าไปได้ WHOได้กำหนด ระดับสารก่อภูมิแพ้ 2 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม หรือไรฝุ่น 100-500 ตัว/ ฝุ่น 1 กรัม เป็นระดับมาตรฐานที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืด และ 10 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลันได้ ในประเทศไทยพบสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 11 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม และในกรุงเทพฯ พบปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 5 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม การป้องกันกำจัดไรฝุ่น1. ทิ้งเครื่องนอน พรม เฟอร์นิเจอร์ที่ภายในทำจากวัสดุเส้นใย หรือนุ่นที่มีอายุการใช้งานหลายปี พบว่า ที่นอนที่ทำจากนุ่นจะพบไรฝุ่นมากที่สุด รองลงมาคือ ที่นอนใยสังเคราะห์ เสื่อ และที่นอนใยมะพร้าว อายุการใช้งานของที่นอนมากขึ้นก็จะพบปริมาณของไรฝุ่นมากขึ้นตามลำดับ 2. ใช้ผ้าที่มีเส้นใยสานกันแน่น พลาสติก หรือเส้นใย vinyl และ nylon หรือเคลือบด้วยสารป้องกันไรฝุ่น 3. การดูดฝุ่น สามารถเคลื่อนย้ายตัวไรฝุ่นออกจากที่นอน หรือพรมได้น้อยกว่า 10 % 4. การซักเครื่องนอนเป็นประจำด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 55 ?C สามารถฆ่าตัวไรฝุ่นและกำจัดสาร ก่อภูมิแพ้ออกจากเครื่องนอนได้ ส่วนการซักด้วยน้ำเย็นหรือการซักผ้าตามปกตินั้น แม้จะไม่สามารถฆ่าไรฝุ่นได้ แต่ลดสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 5. การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดไรฝุ่น ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ benzyl benzoate, Acarosan โดยมักฉีดพ่นลงบนพรม พื้นห้อง และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ แต่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อาศัย
|