RocketTheme Joomla Templates
ข่าวประชาสัมพันธ์


หนูขนเสี้ยนเขาหินปูนผู้น่าสงสาร PDF พิมพ์ อีเมล

หนูขนเสี้ยนเขาหินปูนนายสุรชิต แวงโสธรณ์ และคณะนักวิจัยทำการสำรวจประชากรหนูขนเสี้ยนเขาหินปูน Niviventer hinpoon ในช่วงปี พ.ศ. 2548-2549 โดยใช้วิธีวางกับดักหนูที่สั่งทำเป็นพิเศษ จากการสำรวจอย่างเข้มข้นจึงสามารถพบประชากรของหนูชนิดนี้ แต่มีจำนวนน้อยมากมีแค่ 6 ตัว คือ พบในสองบริเวณเท่านั้น คือในถ้ำที่วัดถ้ำพระธาตุ จ. ลพบุรี 1 ตัว และในป่าเขาหินปูน บริเวณวัดกุดขาม จ.ลพบุรี อีก 5 ตัว อาจจะเป็นเพราะแหล่งที่อยู่อาศัยและเขตพื้นที่การแพร่กระจายของประชากรของหนูชนิดนี้แคบ มีการรบกวนของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีจำนวนลดลงอย่างมาก จากจำนวนที่พบนั้นบ่งบอกได้ว่าสัตว์ตัวเล็กชนิดนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์เป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นควรทำการรณรงค์ให้ชาวบ้านได้ทราบข้อมูลและเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ที่กำลังจะหมดไปชนิดนี้ให้คงอยู่คู่ระบบนิเวศถิ่นนี้ต่อไป

หนูขนเสี้ยนเขาหินปูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ (rodents) ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับพวกกระรอก หนูชนิดนี้เป็นสัตว์ถิ่นเดียวของไทย (endemic species) มีรายงานพบใน จ. สระบุรี และ จ. ลพบุรี ภาคกลางของประเทศไทยเท่านั้น หนูชนิดนี้ออกหากินในช่วงเวลากลางคืนบริเวณเขาหินปูน มีการสำรวจพบครั้งแรกพบใน พ.ศ. 2516 ที่พุน้ำตก (วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ในปัจจุบัน) จ. สระบุรี ต่อมาในปี 2518 ได้สำรวจพบที่วัดถ้ำพระธาตุ จ. ลพบุรี หลังจากนั้นก็ไม่เคยมีรายงานว่า พบอยู่ในแหล่งอาศัยนี้อีกเลยเป็นเวลามากกว่า 31 ปี นับตั้งแต่ทำการสำรวจพบในครั้งหลังสุด อย่างไรก็ตามในการสำรวจครั้งนี้ได้พบหนูขนเสี้ยนเขาหินปูนเฉพาะใน จ. ลพบุรีเท่านั้น



อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
Waengsothorn, S. et al. 2007. The ecological distribution of Thai endemic rodents with a new distributional range of Niviventer hinpoon. The Thailand Natural History Museum Journal, 2(1): 31-42.

 
ผีเสื้อกลางคืน 8 ชนิดที่พบครั้งแรกในไทย PDF พิมพ์ อีเมล

Dudua charadraea (Meyrick) ดร.นันทศักดิ์ ปิ่นแก้ว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างผีเสื้อกลางคืนกลุ่มผีเสื้อหนอนม้วนใบในช่วงปี พ.ศ. 2544-2547 ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้รายงานชนิดของผีเสื้อกลางคืนกลุ่มผีเสื้อหนอนม้วนใบในเผ่า Olethreutini พบว่ามีผีเสื้อกลางคืนกลุ่มนี้มากถึง 41 ชนิด ใน 23 สกุล หลังจากได้ค้นพบและทำการบันทึก พบว่า 33 ชนิด เป็นชนิดที่รู้จักแล้ว และอีก 8 ชนิด เป็นชนิดที่พบครั้งแรกในประเทศ เช่น Arcesis anax Diakonoff, Dactylioglypha pallens Diakonoff และ Dudua charadraea (Meyrick) เป็นต้น ผีเสื้อกลางคืนกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในแหล่งอาศัย (habitat) ต่างๆ กัน ได้แก่ แหล่งที่มีน้ำท่วมขัง ริมฝั่งแม่น้ำ ป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ฯลฯ ลักษณะของผีเสื้อกลุ่มนี้จะมีสีลำตัวมัวๆ ออกโทนน้ำตาล แต่ละชนิดจะมีลวดลายลายและสีสันบนปีกแตกต่างกัน

ในการศึกษาครั้งนี้มุ่งสำรวจชนิดของผีเสื้อกลางคืนกลุ่มผีเสื้อหนอนม้วนใบ ผีเสื้อกลางคืนในกลุ่มนี้มีการศึกษาน้อย จึงเป็นที่มาของการสำรวจในครั้งนี้ นับว่าพื้นที่อุทยานแห่งนี้ของประเทศไทยยังคงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของผีเสื้อกลางคืนนานาชนิด และเป็นพื้นที่ที่ยังคงเก็บความหลากหลายทางชีวภาพได้เป็นอย่างดี นักวิจัยได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการออกสำรวจครั้งนี้เพราะได้พบผีเสื้อชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย ถือว่าเป็นการเติมบันทึกหน้าใหม่ให้ศาสตร์ด้านอนุกรมวิธานของแมลงไทยอีกด้วย

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :

Pinkaew, N. 2007. New records and known species of the tribe Olethreutini (Lepidoptera: Tortricidae: Olethreutinae) from Thong Pha Phum National Park, Thailand. The Thailand Natural History Museum Journal, 2(1): 1-18.

 
หนังสือใหม่ ปี 51 PDF พิมพ์ อีเมล
พบกับหนังสือใหม่ปี 51 ที่เนื้อหาอัดแน่นไปด้วยคุณภาพเช่นเคย ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหน้าเก่าแต่เรื่องที่เขียนไม่เคยตกยุคอย่าง ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น กับหนังสือ "พรรณไม้ที่พบครั้งแรกของโลกในเมืองไทย" หรือ นักเขียนหน้าใหม่ อย่าง อ.ดร.จิรศักดิ์ สุจริต ที่พิถีพิถันกับหนังสือ "หอยทากบกในอุทยานแห่งชาติเขานัน" และหนังสือที่ใช้เวลาหลายปี(ในการทำงานวิจัย)  เกือบ1 ปีในการรวบรวม และเกือบ 2 ปีในการทำรูปเล่มอย่าง "รายงานการวิจัยในโครงการ BRT : ชุดโครงการวิจัยทองผาภูมิตะวันตก" รีบจับจองเป็นเจ้าของได้ก่อนใครที่ร้านหนังสือออนไลน์ BRT หรือ ที่สำนักงานโครงการ BRT
 
เปิดโลกจูแรสสิกที่ภูน้อย พบฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่สุดในไทย PDF พิมพ์ อีเมล
นักขุดฟอสซิลพบกระดูกไดโนเสาร์กินพืชยุคจูแรสสิกที่ภูน้อย ใกล้เทือกเขาพูพาน ขนาดใหญ่สุดที่เคยพบในไทย พร้อมกับฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ตัวใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1 เมตร เชื่อเป็นอีกแหล่งฟอสซิลแห่งสำคัญที่เปิดความรู้สู่โลกล้านปี
       
       จากกรณีค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ และซากสัตว์โบราณ ที่บริเวณภูน้อย ติดกับเขตเทือกเขาภูพาน บ้านโคกสนาม ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ดร. วราวุธ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซากดึกดำบรรพ์และพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี และที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า แหล่งฟอสซิลที่พบมีความน่าสนใจมาก เพราะเป็นฟอสซิลที่พบในชั้นหินภูกระดึง หรือชั้นหินในยุคจูแรสสิกตอนปลาย (Jurassic period) อายุราว 150 ล้านปีก่อน นับเป็นยุคที่ไดโนเสาร์รุ่งเรืองมาก ขณะที่ประเทศไทยยังมีข้อมูลเกี่ยวกับยุคจูแรสสิกน้อย
       
       "ผลการสำรวจเบื้องต้นพบซากกระดูกฟอสซิลไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมยุคกระจัดกระจายเป็นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนี้พบกระดูกท่อนขาขวาไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อนำข้อมูลไปเปรียบเทียบกับกระดูกท่อนขาขวาของฟอสซิลไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบคือ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosauraus sirindhornae) ในอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นแล้ว พบว่ามีขนาดใหญ่กว่า 20-30 % จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าเราอาจจะได้พบฟอสซิลไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมาในประเทศไทย
       
       นอกจากนี้ทีมสำรวจยังพบฟอสซิลเกล็ดปลาเลปิโดเทส (Lepidotes) คล้ายกับที่เคยพบในแหล่งภูน้ำจั้นที่ จ.กาฬสินธุ์ แต่มีขนาดใหญ่กว่าที่เคยเจอแล้วถึง 2 เท่า และคาดว่าตัวปลาน่าจะมีขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 1 เมตรทีเดียว เพราะฟอสซิลปลาเลปิโดเทสที่เคยพบมีความยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตรเท่านั้น"
       
       ดร. วราวุธ กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงการสำรวจเบื้องต้น คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งจึงจะบอกได้แน่ชัดว่าพบฟอสซิลชนิดใดบ้าง แต่เชื่อว่าฟอสซิลแหล่งใหม่ที่พบนี้ จะช่วยเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์และสัตว์ร่วมสมัยในยุคจูแรสสิกให้แก่ประเทศไทยได้มากยิ่งขึ้น
       
       
(เรื่องและภาพโดย ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.)


ที่มา :
ผู้จัดการออนไลน์ 27 ตุลาคม 2551 13:46 น.

 
พิฆาตไรฝุ่น ด้วย “สเปรย์น้ำมันหอมระเหยจากพืช” PDF พิมพ์ อีเมล

สเปรย์กำจัดไรฝุ่นนักวิจัย BRT พัฒนาต่อยอดจากสารสกัดสมุนไพร สู่ "สเปรย์น้ำมันหอมระเหยจากพืชกำจัดไรฝุ่น" เผยไม่เพียงมีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นได้ 100 % เท่านั้น แต่ยังสามารถเติมแต่งกลิ่นหอมได้ตามชอบ เช่น กลิ่นมะลิ กาแฟ ลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส ที่สำคัญปลอดภัยต่อผู้บริโภค ไม่มีปัญหาเรื่องสีติดที่นอน หรือสร้างความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์ ระบุยื่นจดสิทธิบัตรแล้วพร้อมขยายผลกับภาคธุรกิจเพื่อผลิตขายในท้องตลาดได้ในอนาคตอันใกล้นี้ 

 

โรคภูมิแพ้  เป็นภาวะภูมิไวเกิน (hypersensitivity) ที่ร่างกายแสดงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมที่เรียกว่า สารก่อภูมิแพ้ (allergen) อาการที่แสดงออกมาได้แก่ เยื่อจมูกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ และหอบหืด เป็นต้น  ซึ่ง 80 % ของการก่อโรคมีสาเหตุมาจากผงฝุ่นที่เกิดจากมูลของสัตว์ตัวจิ๋วที่ชื่อว่า "ไรฝุ่น"  ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีรายว่างานพบผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่มีสาเหตุมาจากไรฝุ่นแล้วประมาณ 10 ล้านคน โดยชนิดไรฝุ่นที่สำคัญ ได้แก่ Dermatophagoides pteronyssinus  (Trouessart) และ Blomia tropicalis  Bronswijk   ที่สำคัญไรฝุ่นกว่า 90%มักพบที่เตียงนอนที่ต้องใช้ทุกวัน
 

ดร.อำมร อินทร์สังข์ ภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า  ที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ค้นพบสารสกัดจากสมุนไพรที่มีฤทธิ์กำจัดไรฝุ่นได้สำเร็จ  แต่เมื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมกลับยังประสบปัญหา เนื่องจากสารสกัดมีการปะปนของสารอื่นๆ อยู่มาก ทำให้ควบคุมคุณภาพได้ยาก  อีกทั้งในสารสกัดของพืชยังมีเม็ดสี จึงทำให้สีติดที่นอน และทำให้เกิดรอยด่างสร้างความเสียหายต่อเฟอร์นิเจอร์บางอย่างได้  ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยซึ่งมีคุณจรงค์ศักดิ์ พุมนวน นักวิทยาศาสตร์ในสังกัดภาควิชาฯ เป็นกำลังหลัก ได้ทำการศึกษาการควบคุมไรฝุ่นชนิด Dermatophagoides  pteronyssinus   ด้วยสารสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืชเพื่อทดแทนการใช้สารสกัดหยาบ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT)
 

" ในการวิจัยได้สกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืช 8 ชนิด ได้แก่ การพลู อบเชย ขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม พริกไทยดำ โหระพา และมะพร้าว ที่ความเข้มข้นระดับต่างๆ  จากนั้นนำน้ำมันหอมระเหยของพืชแต่ละชนิดมาทดสอบประสิทธิภาพการกำจัดไรฝุ่น ด้วยการฉีดสารละลายของน้ำมันหอมระเหยลงในกรงทดสอบซึ่งมีไรฝุ่นตัวเต็มวัยจำนวน 10 ตัว จากนั้นปิดฝาและรมไว้นาน 1 ชั่วโมง และตรวจนับการตายภายในชั่วโมงที่ 24 ซึ่งผลการทดสอบพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากกานพลูและอบเชยที่ความเข้มข้น 1.0%  มีประสิทธิภาพในการกำจัดไรฝุ่นสูงสุดคือ 100 %  รองลงมาคือน้ำมันหอมระเหยจากขมิ้นชัน  ไพล และตะไคร้หอม ที่ความเข้มข้น 1.5 %  โดยกำจัดไรฝุ่นได้  93.3 ,90.0 และ 76.7  ตามลำดับ น้ำมันหอมระเหยจากพริกไทยดำและโหระพากำจัดได้ 50-70 %  ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากมะพร้าวกำจัดได้ต่ำกว่า 50 %


จากนั้นทีมวิจัยได้นำน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพสูงมาผสมเป็นสูตรน้ำมันหอมระเหยสำหรับกำจัดไรฝุ่น  โดยสูตรที่ดีที่สุด คือ   ใช้กานพลูกับอบเชยเป็นสารประกอบหลัก และใช้ไพลกับตะไคร้หอมเป็นสารประกอบรอง ที่ความเข้มข้น 1%  ละลายในเอทานอล   จากนั้นเติมน้ำมันหอมระเหยจากมะลิและกาแฟความเข้มข้น 0.25% เพื่อดับกลิ่นฉุนของสมุนไพร และทำการใส่น้ำมันหอมระเหยจากดอกลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส เพื่อเพิ่มกลิ่นหอม ก่อนที่จะอัดแก๊สทำเป็นสเปรย์กระป๋อง "


ดร.อำมร กล่าวว่า ปัจจุบันสูตรผสมน้ำมันหอมระเหยที่คิดค้นขึ้น ได้มีการทดลองบรรจุเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อทดลองใช้แล้ว ซึ่งไม่เพียงฆ่าไรฝุ่นได้ 100% ทั้งวิธีการรมและการฉีดพ่นโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีกลิ่นหอม ไม่เป็นอันตราย ที่สำคัญไม่มีปัญหาเรื่องสีติดที่นอน หรือสร้างรอยด่างให้แก่เฟอร์นิเจอร์ด้วย ส่วนวิธีการใช้ให้มีประสิทธิผลควรฉีดน้ำมันหอมระเหยลงไปที่ฟูก ที่นอน หรือโซฟา   แล้วนำพลาสติกหรือผ้าหนาๆมาคลุมไว้ 1-2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้ไอระเหยออกไปทำให้ไรฝุ่นที่หนีลงไปใต้ผิวที่นอนหรือโซฟาตายได้ สำหรับระยะการฉีดควรจะฉีด 2-3  เดือนต่อครั้ง  เพราะไรฝุ่นอาจกลับมาภายหลังในช่วง 5-6 เดือนได้ โดยติดมากับหนู สัตว์เลี้ยง หรือติดมากับเสื้อผ้าเมื่อไปนั่งที่โซฟาหรือที่นอนซึ่งมีไรฝุ่นจากที่อื่นๆ


อย่างไรก็ดีขณะนี้สเปรย์น้ำมันหอมระเหยจากพืชกำจัดไรฝุ่นได้ยื่นจดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และมีภาคธุรกิจเข้ามาติดต่อเพื่อนำไปผลิตขายในเชิงพาณิชย์   โดยต้นทุนการผลิตคาดว่าน่าจะมีราคาสูงกว่ายาฉีดยุงทั่วไปไม่มากนัก  จึงนับเป็นทางเลือกใหม่ ที่จะช่วยให้ประชาชนกำจัดไรฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยทั้งผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม  ที่สำคัญยังช่วยป้องกันและลดอัตราการเกิดผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นด้วย


//////////////////////////////////////////

ข้อมูลเพิ่มเติม


ไรฝุ่น  เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูล Phylum Arthopoda เช่นเดียวกับแมลงและแมง แต่มีลักษณะเด่นคือมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเพียง 0.3 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่ในที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียสและอยู่ในที่มีความชื้นสูงร้อยละ60-70 ไม่ชอบแสงสว่าง ดังนั้นในบ้านเรือนจึงพบไรฝุ่นได้ตามในที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรหม บนโซฟา ผ้าม่าน หรือตุ๊กตาที่ใช้วัสดุภายในเป็นเส้นใย


โดยทั่วไปแล้วไรฝุ่นจะมีวงจรชีวิต 5 ระยะ คือเมื่อตัวไรเข้าสู่ช่วงเจริญวัยเต็มที่จะเริ่มทำการผสมพันธุ์ ซึ่งหลังจากผสมพันธุ์ได้ 3-4 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่เฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งสามารถวางไข่ได้เพียงครั้งละ 1 ฟอง โดยตลอดชีวิตของไรฝุ่น 1 ตัว จะสามารถออกไข่ได้ถึง 80-100 ฟอง จากนั้นไข่จะเริ่มฟักเป็นตัวอ่อนภายในเวลา 8-12 วัน เข้าสู่ระยะวัยรุ่น 1 จะมีขา 6 ขา และทำการลอกคราบหลายครั้ง ซึ่งในระยะนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหว เมื่อเริ่มสร้างผิวตัวและเจริญเข้าสู่ระยะวัยรุ่น 3 จะมีขาครบ 8 ขา แล้วก็พัฒนาเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยที่มีลวดลายคล้ายนิ้วมือบนผิวตัว  ไรฝุ่นจะมีช่วงอายุไขทั้งหมดเพียง  2-4 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหาร อุณหภูมิและความชื้นในอากาศด้วย

ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหาร โดยเศษผิวหนัง 1 กรัมสามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ 1,000,000 ตัวนานถึง 1 สัปดาห์ อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25-30?C และความชื้นสัมพัทธ์ 75-80%  สารก่อภูมิแพ้หลัก  มักอยู่ในรูปของมูลและคราบของไรฝุ่น ซึ่งสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศและสูดดมเข้าไปได้ WHOได้กำหนด ระดับสารก่อภูมิแพ้ 2 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม หรือไรฝุ่น 100-500 ตัว/ ฝุ่น 1 กรัม  เป็นระดับมาตรฐานที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืด และ 10 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลันได้  ในประเทศไทยพบสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 11 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม และในกรุงเทพฯ พบปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 5 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม

 การป้องกันกำจัดไรฝุ่น

1. ทิ้งเครื่องนอน  พรม  เฟอร์นิเจอร์ที่ภายในทำจากวัสดุเส้นใย หรือนุ่นที่มีอายุการใช้งานหลายปี พบว่า ที่นอนที่ทำจากนุ่นจะพบไรฝุ่นมากที่สุด  รองลงมาคือ ที่นอนใยสังเคราะห์ เสื่อ และที่นอนใยมะพร้าว อายุการใช้งานของที่นอนมากขึ้นก็จะพบปริมาณของไรฝุ่นมากขึ้นตามลำดับ

2. ใช้ผ้าที่มีเส้นใยสานกันแน่น  พลาสติก หรือเส้นใย vinyl และ nylon หรือเคลือบด้วยสารป้องกันไรฝุ่น

3. การดูดฝุ่น สามารถเคลื่อนย้ายตัวไรฝุ่นออกจากที่นอน หรือพรมได้น้อยกว่า 10 %

4. การซักเครื่องนอนเป็นประจำด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 55 ?C สามารถฆ่าตัวไรฝุ่นและกำจัดสาร ก่อภูมิแพ้ออกจากเครื่องนอนได้ ส่วนการซักด้วยน้ำเย็นหรือการซักผ้าตามปกตินั้น แม้จะไม่สามารถฆ่าไรฝุ่นได้  แต่ลดสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดไรฝุ่น ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ benzyl benzoate, Acarosan โดยมักฉีดพ่นลงบนพรม พื้นห้อง และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ แต่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อาศัย

 

 


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

 โทรศัพท์ 0-2ุ644-8150-4 ต่อ  81811 โทรสาร 0-2644-8106   e-mail : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

ที่มา ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช.
 
<< เริ่มแรก < ย้อนกลับ 21 22 23 24 25 26 27 28 29 30 ถัดไป > สุดท้าย >>

JPAGE_CURRENT_OF_TOTAL