RocketTheme Joomla Templates
ปุ๋ยบำรุงดินจาก 'สาหร่าย' ใช้ธรรมชาติช่วยบำบัด...ธรรมชาติ PDF พิมพ์ อีเมล
           หลายประเทศกำลังเผชิญกับการเอาชนะปัญหาความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน (sustainable food security) ทำให้ต้องเพิ่มขีดความสามารถด้านเพาะปลูก และจากราคาน้ำมันโลกที่ถีบตัวสูงขึ้น ภาคเกษตรของไทยโดยเฉพาะ "ชาวนา" จึงตกอยู่ภาวะเสี่ยงทั้งต้นทุน การแข่งขันด้านส่งออก ซื้อ-ขาย ส่วนหนึ่งเพราะยังต้องนำเข้า "ปุ๋ย" จากต่างประเทศ ในวันนี้ดินหลายแห่งเริ่มมีสภาพเสื่อมโทรม อันเป็นผลพวงจาก "การจัดการ" ที่มุ่งแต่ "เร่งรัด อย่างรวดเร็ว" ในระยะเวลาสั้น

          เพื่อฟื้นฟูดิน แหล่งน้ำ ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ นักวิชาการศูนย์ จุลินทรีย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงทำการศึกษาวิจัยโดยนำ "สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว" มาใช้ปรับสภาพดิน

          ดร.อาภารัตน์ บอกว่า เมื่อก่อนเกษตรกรชาวนารู้จัก "ปุ๋ยชีวภาพ" น้อยมาก ประกอบกับ "เคมี" เป็นที่นิยมนำมาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มผลผลิต ซึ่งนับวันจะต้องใช้จำนวนมากขึ้น ไม่เช่นนั้นผลิตผลที่ได้อาจ "เท่าเดิมหรือลดน้อยถอยลง"

         ทั้งนี้ เมื่อสำรวจแปลงนาหลายแห่งแถบภาคอีสานที่ไม่ใส่ปุ๋ยพบว่าจำนวนข้าวที่ได้ยังคงเดิม ดังนั้น ดร.พงษ์เทพ อันตะริกานนท์ เป็นคนแรกเริ่มโครงการนี้ใน วว. (23 ปีก่อน) จึงเก็บตัวอย่างดินนาทุกอำเภอของจังหวัดในประเทศไทย ศึกษาโดยเติมอาหารที่เป็นสูตรสายพันธุ์คัดเลือกเฉพาะกับสาหร่ายที่มีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจน นำมาเพาะเลี้ยงทดสอบห้องปฏิบัติการ ศูนย์จุลินทรีย์ (ศจล.) ของสถาบันฯ พบว่า "สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียว" อยู่ได้เกือบทุกสภาพแวดล้อม ปรับตัวเก่ง ทั้งยังสะสมอาหารหน้าแล้ง เมื่อมาแช่น้ำสามารถเจริญเติบโตได้ เป็นเช่นนี้เนื่องจากตัวเคลือบ (พอลิแซคคาร์ไลด์) ที่ห่อหุ้มและป้องกันรังสียูวี ทนต่อความร้อน ทำให้อยู่รอดในสิ่งแวดล้อมได้ดี

         จึงนำมาเข้าสู่ขบวนการเติมสารอาหารที่ดินต้องการในรูป "ปุ๋ยชีวภาพ" ซึ่งมีจุลินทรีย์มีชีวิต เสมือนใส่โรงงานผลิตปุ๋ยเล็กๆ ลงไปในดิน บางส่วนตาย ส่วนที่รอดจะปรับตัวพร้อมขยายพันธุ์ต่อไป ซึ่งวิธีนี้เป็นการใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ

         เพื่อให้สะดวกต่อการใช้จึงทำออกมาแบบผง ผสมกับวัสดุรองรับ (ฟิลเลอร์) แต่เกษตรกรไม่นิยมเพราะใช้ยากจึงปั้นเป็นเม็ด จากนั้นเอาไปใช้ในแปลงนาทดสอบในพื้นที่หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ปทุมธานี สกลนคร และสุพรรณบุรี

        โดยทำแปลงเปรียบเทียบคือ แปลง A ใช้ปุ๋ยชีวภาพร่วมกับปุ๋ยเคมี 50 เปอร์เซ็น และ แปลง B ใช้ปุ๋ยเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ในหนึ่งฤดูการเพาะปลูก พบว่าแปลง A สภาพดินดีขึ้น รากต้นข้าวสามารถชอนไชหาอาหารได้ยาว ลำต้นแข็งแรง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เฉลี่ย 75-80 ถัง/ไร่

         ส่วนแปลง B ได้ผลผลิต 80 ถัง/ไร่ ต้นข้าวไม่แข็งแรง รากมีน้อย ปีที่ 2 ใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณ 1 ใน 4 หลังเก็บเกี่ยวพบว่าปริมาณผลผลิต แปลง A เพิ่ม 10-20 เปอร์เซ็นต์ สรุปว่า ปริมาณข้าวเปลือกที่ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพดิน ระยะเวลาการใช้ แม้ฤดูแรกผลิตผลน้อยลงหรือคงที่ แต่มีการลงทุนที่น้อยลงกว่าเดิม

         ฉะนี้...แม้จะเห็นผลช้า แต่เกษตรกรต้องช่วยตัวเองทำทุกอย่าง ยอมที่จะได้ผลน้อยๆในช่วงแรก กระทั่งเมื่อดินมีการพักฟื้นตัว ผลผลิตจึงเพิ่มขึ้นเหมาะสมกับต้นทุนที่ใช้ไป ใครปรับตัวเปิดใจย่อมประสบผลสำเร็จไปยังจุดคุ้มทุนก่อน

         ชาวนาทั้งมือใหม่หัดไถ และมือ อาชีพที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2577-9000 ในวันและเวลาราชการ.


                                                                        เพ็ญพิชญา เตียว [16 มิ.ย. 51 - 00:18]


ที่มา : http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=93631

ข่าวการเกษตร หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ปีที่ 59 ฉบับที่ 18411 วันพุธ ที่ 18 มิถุนายน 2551