RocketTheme Joomla Templates
หอยกะพงเทศบุกทะเลสาบสงขลา PDF พิมพ์ อีเมล

 

 
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่อแวววิกฤต หอยกะพงเทศระบาด หวั่นทำลายระบบนิเวศ กระทบธุรกิจประมง


นักศึกษา มอ. พบหอยกะพงเทศ ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นจากทวีปอเมริกา ชนิดเดียวกับที่ระบาดในหลายประเทศ เผยขณะนี้กำลังระบาดในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา หาดแก้วลากูน ท่าเรือน้ำลึก จ.สงขลา ระบาดหนัก และกำลังแพร่กระจายเข้าสู่ทะเลสาบสงขลา ระบุหากไม่มีมาตรการป้องกันและกำจัดอาจจะส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศ และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

 นางสาวกริ่งผกา วังกุลางกูร นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ทำการศึกษาวิจัยการแพร่ระบาดของหอยกะพงเทศ ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยการสนับสนุนของโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (โครงการ BRT) ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ได้มีการสำรวจพบหอยสองฝาชนิดหนึ่งเกาะกลุ่มหนาแน่นบริเวณหาดแก้วลากูน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับปากทะเลสาบสงขลา และ ท่าเรือน้ำลึก จ.สงขลา หลังผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานหอยสองฝาวิเคราะห์ ระบุว่าเป็น หอยกะพงเทศ (Mytilopsis adamsi Morrison, 1946) สัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีแหล่งกำเนิดในตอนกลางของทวีปอเมริกาด้านฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค

 “หอยกะพงเทศ เป็นหอยสองฝาที่มีต้นกำเนิดในตอนกลางของทวีปอเมริกา แต่มีการแพร่กระจายพันธุ์ รุกรานไปในประเทศต่างๆ หลายประเทศ เช่น เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย สิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับการแพร่กระจายนั้น คาดว่าน่าจะติดมากับน้ำในถังอับเฉาเรือเดินสมุทรที่มีตัวอ่อนของหอยกะพงเทศเจริญเติบโตอยู่ หรือจากตัวเต็มวัยที่เกาะติดมากับตัวเรือ และได้มาแพร่พันธุ์ในพื้นที่ โดยเฉพาะในบริเวณหาดแก้วลากูน เป็นบริเวณอยู่ใกล้กับท่าเรือน้ำลึก” น.ส.กริ่งผกา กล่าว

จากการศึกษาวิจัยการแพร่กระจาย และการดำรงชีวิตของหอยกะพงเทศ พบว่าเป็นหอยที่ทนทานต่อความเค็มและอุณหภูมิได้ในช่วงกว้าง รวมทั้งทนต่อมลภาวะได้ดี และมีความสามารถในการสร้างกลุ่มประชากรหนาแน่นซึ่งเป็นการกำจัดสิ่งมีชีวิตพวกเกาะติดอื่นๆ และนอกจากนี้ยังสามารถยึดเกาะได้บนทุกพื้นผิววัสดุที่จมน้ำ  ดังนั้นการครอบครองพื้นที่ของหอยกะพงเทศจึงสามารถก่อให้เกิดปัญหาต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมดุลของระบบนิเวศ และปัญหาทางเศรษฐกิจ

น.ส. กริ่งผกา กล่าวต่อว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ชายฝั่งของทะเลสาบสงขลา (ทะเลสาบตอนล่าง) และพบหอยกะพงเทศจำนวนมากที่บริเวณปากคลองวง บ้านบ่ออ่าง และตำบลสทิงหม้อ แสดงให้เห็นว่าขณะนี้หอยกะพงเทศได้รุกรานเข้าสู่ทะเลสาบสงขลาแล้ว

นอกจากนี้ จากการศึกษาความแปรผันของการเข้าสู่พื้นที่บริเวณหาดแก้วลากูน พบช่วงที่หอยกะพงเทศขยายพันธุ์ และเพิ่มจำนวนประชากร 2 ช่วงในรอบปี คือ ช่วงเดือนกรกฎาคม และเดือนมกราคม โดยมีความสัมพันธ์กับความเค็มของน้ำ และความหนาแน่นของแพลงก์ตอนพืชที่เป็นอาหารของหอยกะพงเทศ  หากน้ำมีความเค็มต่ำ และมีแพลงก์ตอนพืชจำนวนมาก หอยกะพงเทศมีขยายพันธุ์และมีความหนาแน่นของประชากรหอยมากขึ้น การลงเกาะของหอยกระพงเทศจะเกาะกลุ่มหนาแน่นบนพื้นดิน เลน หรือวัสดุจมน้ำ จึงจำกัดการลงเกาะของสิ่งมีชีวิตเกาะติดชนิดอื่นๆ ก่อให้เกิดปัญหาต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ความสมดุลของระบบนิเวศ นอกจากนี้ การลงเกาะบนตาข่ายกระชัง และเครื่องมือประมงของชาวบ้าน ยังทำให้เกิดปัญหากระแสน้ำไม่หมุนเวียนและทำให้ประสิทธิภาพของเครื่องมือประมงลดลง อาจส่งผลถึงปัญหาทางเศรษฐกิจในบริเวณดังกล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลการศึกษาชีววิทยาของหอยกะพงเทศ คาดว่ามีความน่าจะเป็นที่จะเกิดการระบาดของหอยกะพงเทศในทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางการประมงที่สำคัญของคนในท้องถิ่นได้ ดังนั้นหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่ระบาดและควบคุมประชากรหอยกะพงเทศ ก่อนจะเกิดการระบาดอย่างรุนแรง และสายเกินแก้ไข โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับชีววิทยาพื้นฐานของหอยกะพงเทศ ซึ่งจะข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกับสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นชนิดนี้ต่อไป

 

อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมได้ที่ :

หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วันที่ 15 ก.พ. 53

เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 13 ก.พ. 53
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/science/20100213/100272/ทะเลสาบสงขลาวิกฤติ-หอยกะพงเทศระบาด.html

เว็บไซต์ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ 12 ก.พ. 53
http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255302120227&tb=N255302&return=ok