RocketTheme Joomla Templates
รวมสิ่งมีชีวิตสุดยอดวิวัฒนาการ PDF พิมพ์ อีเมล
เรียกน้ำย่อยก่อนนิทรรศการเปิดโลกมหัศจรรย์วิวัฒนาการ  

ผ่านไปแล้วกับงานแถลงข่าว "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร" เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง และสื่อมวลชนหลายแขนง ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์


ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวได้มีการนำเสนอกิจกรรมที่จะจัดขึ้นในนิทรรศการ "เปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการ" อาทิ ไซยาโนแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตแรกที่กำเนิดขึ้นบนโลก พฤกษาฆาตกรรม การปรับตัวของพืชกินแมลง และหอยมรกต กระบวนการเกิดสปีชีส์ใหม่ในเมืองไทย โดยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยโครงการ BRT ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของนิทรรศการ เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยก่อนจะถึงงานจริง

อ.วันเชิญ โพธาเจริญ ผู้จัดการธนาคารจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ได้บรรยายเกี่ยวกับไซยาโนแบคทีเรีย สิ่งมีชีวิตแรกที่กำเนิดขึ้นบนโลกว่า สาหร่ายสีน้ำเงินแกมเขียวหรือไซยาโนแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีโครงสร้างของเซลล์ไม่ซับซ้อน  เกิดขึ้นเมื่อ 3,500 ล้านปีที่แล้ว ในขณะที่โลกยังเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีก๊าซออกซิเจนซึ่งจำเ ป็นต่อสิ่งมีชีวิตน้อยมาก แต่ไซยาโนแบคทีเรียได้ปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ โดยสร้างเมือกขึ้นมาคลุมเซลล์เอาไว้ และสร้างสารสีเพื่อป้องกันรังสี UV  หลังจากที่ไซยาโนแบคทีเรียใช้คลอโรฟิลด์ที่มีอยู่ในการสังเคราะห์แสง ก๊าซออกซิเจนที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตได้ปล่อยออกมาสู่บรรยากาศมากขึ้น   โลกจึงได้สดใสและมีชีวิตชีวามากขึ้น  จากเซลล์เล็กๆ นี้เองที่ได้ผ่านกาลเวลากว่าหลายพันล้านปี เกิดวิวัฒนาการกลายเป็นสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ที่มีหน้าตารูปร่างแตกต่างกันออกไป  จึงเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ไซยาโนแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตแรกเริ่มบนโลกนี้ก็ยังคงดำรงชีวิตอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน


ด้าน ศ.ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการปรับตัวของพืชกินแมลงในสภาวะแวดล้อมที่พืชได้รับธาตุไนเตรเจนจากดินไม่เพียงพอ จึงต้องปรับเปลี่ยนรูปร่างบางอย่างเพื่อจับสัตว์กินเป็น อาหาร หรือที่เรียกว่า พฤกษาฆาตกรรมที่น่าอัศจรรย์ ยกตัวอย่างเช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ไม้เถาเลื้อยที่วิวัฒนาการปรับเปลี่ยนลักษณะของใบให้กลายเป็นกับดักจับสัตว์ โดยปรับเปลี่ยนเส้นกลางใบให้ยืดยาวและขดงอเป็นมือจับ เพื่อใช้ยืดเกาะกับต้นไม้อื่นให้สามารถชูลำต้นและใบให้สูงขึ้นเพื่อรับแสงแดดได้เต็มที่ และปลายของมือจับนี้จะเป็นแผ่นใบ ที่เปลี่ยนรูปทรงให้เป็นทรงกระบอก ซึ่งภายในกระบอกจะมีต่อมผลิตน้ำย่อยที่มีสภาพเป็นกรด สามารถย่อยอาหารที่มีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแมลง หรือสัตว์ที่มีขนาดเล็ก นอกจากหม้อข้าวหม้อแกงลิงแล้ว ยังมีพืชที่มีการปรับตัวเพื่อจับสัตว์อีกหลายชนิด เช่น กาบหอยแครง หยาดน้ำค้าง และบัตเตอร์เวิร์ต เป็นต้น


และ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพร้อมกับหอยมรกต และปริศนาการเวียนซ้าย เวียนขวาของเปลือกหอย กล่าวคือ การเวียนซ้ายและเวียนขวาของหอยถูกกำหนดขึ้นด้วยยีนส์ ทิศทางการเวียนของเปลือกหอยที่ต่างกัน ทำให้อวัยวะภายในทั้งหมดพลิกกลับไปอยู่กันคนละด้านรวมถึงอวัยวะสืบพันธุ์ของหอยด้วย และปัจจัยนี้เองทำให้หอยที่มีการเวียนต่างกันผสมพันธุ์กันได้ยาก

ส่วนหอยมรกต หอยที่พบได้เฉพาะที่เกาะตาชัย จังหวัดพังงาแห่งเดียวเท่านั้น เป็นหอยกลุ่มเดียวกับหอย ต้นไม้ที่พบเฉพาะบนบก แต่เนื่องจากพื้นที่เกาะตาชัย ซึ่งเดิมเคยเชื่อมติดกับแผ่นดินได้ถูกน้ำท่วมและแยกตัวออกจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้หอยที่อยู่บนเกาะตาชัยเริ่มมีการวิวัฒนาการสายพันธุ์แตกต่างจากหอยบนแผ่นดิน หรือเริ่มจะแยกออกจากสปีชีส์เดิม เป็นสปีชีส์ใหม่ โดยหอยมรกตจะมีลักษณะเปลือยเวียนซ้าย ขณะที่หอยสปีชีส์เดิมมีทั้งเวียนซ้ายและเวียนขวา นอกจากนี้อวัยวะภายในยังมีขนาดเล็กลง อวัยวะสืบพันธุ์สั้นลง และรายละเอียดบางอย่างของอวัยวะสืบพันธุ์ต่างกัน จากผลการวิจัยข้อมูลทางธรณีวิทยาในอดีต ทำให้สามารถทำนายได้ว่า หอยมรกตเริ่มแยกตัวออกจากสปีชีส์เดิมเมื่อตอนที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดเมื่อราว 4 พันปีก่อน ทำให้เกาะแยกจากแผ่นดินใหญ่ และใช้เวลาประมาณพันปีที่หอยมรกตเริ่มแยกตัวออกจากหอยสปีชีส์เดิม คาดว่าอีกไม่กี่สิบปี หรือไม่กี่ร้อยปีหอยมรกตจะกลายเป็นสปีชีส์ใหม่ที่สมบูรณ์ หากไม่สูญพันธุ์ไปเสียก่อน


ทั้งนี้ นอกจากการแถลงข่าวเปิดตัวนิทรรศการที่บ้านวิทยาศาสตร์แล้ว ในงานยังได้ถือโอกาสเฉลิมฉลองงานวันเกิดครบรอบ 200 ปี ให้กับชาร์ลส์ ดาร์วินด้วย โดยการร่วมตัดเค้กก้อนโตที่จำลองเกาะกาลาปากอส และเรือบีเกิ้ล ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน


สำหรับผู้ที่สนใจติดตามเรื่องราวที่น่ามหัศจรรย์ของวิวัฒนาการ สามารถเข้าชมนิทรรศการเปิดโลกมหัศจรรย์แห่งวิวัฒนาการได้ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม เป็นต้นไป

///////////////////////


 
เค้กวันเกิดดาร์วิน