“กิ้งกือมังกรสีชมพู” ขึ้นแท่น 1 ใน 10 สุดยอดการค้นพบแห่งปี พิมพ์
              ทุกๆ ปี คณะกรรมการคัดเลือกการค้นพบสิ่งมีชีวิตในโลกของ IISE (International Institute for Species Exploration) ตั้งอยู่ที่ Arizona State University ประเทศสหรัฐอเมริกา จะประกาศรายชื่อ 10 สุดยอดของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ จากจำนวนการค้นพบชนิดใหม่หลายพันชนิดทั่วโลก

          และในปีนี้การประกาศรายชื่อ 10 สุดยอดของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 โดยคณะกรรมการตัดสินผู้ทรงคุณวุฒิจาก 14 สถาบันที่มีชื่อเสียง อาทิ Harvard University, University of Kansas, Natural History Museum London, Royal Botanic Garden Kew UK, ICZN, CSIRO Australia ได้ทำการคัดเลือกจากผลงานการค้นพบที่ได้บรรยายรายละเอียดแล้วใน ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ซึ่งมีหนึ่งการค้นพบสำคัญของ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา และคณะ จากหน่วยปฏิบัติการซิสเทมาติคส์ของสัตว์ (Animal Systematics Research Unit) ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยสำรวจอย่างต่อเนื่องและได้ร่วมงานกับโครงการ BRT มาอย่างยาวนาน คือการค้นพบ "กิ้งกือมังกรชมพู" ทั้งนี้เจ้ามังกรชมพูยังติดอยู่ในอันดับ 3 จาก 10 อันดับอีกด้วย

 

กิ้งกือมังกรสีชมพู

ชื่อวิทยาศาสตร์: Desmoxytes purpurosea

ลักษณะเด่นที่ทำให้ถูกคัดเลือก: สีสันสีชมพูที่โดดเด่นแบบ shocking pink ลักษณะรูปร่างที่สง่างามด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร รวมไปถึงสารพิษประเภทไซยาไนด์ที่ขับออกมาป้องกันศัตรูที่เป็นผู้ล่าทั้งหลาย

          การค้นพบครั้งนี้เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ประเทศไทยยังอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ สามารถที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในแง่มุมต่างๆได้ และคนไทยต้องช่วยกันดูแลรักษาไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไป การประกาศจัดอันดับโลกของ IISE ในครั้งนี้เป็นการนำชื่อเสียงมาสู่คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเอง ที่พร้อมประกาศให้ชาวโลกรู้ว่าเรามีความสามารถไม่แพ้ใคร

 
Reference: H. Enghoff, C. Sutcharit & S. Panha. 2007. The shocking pink dragon millipede, Desmoxytes purpurosea, a colourful new species from Thailand (Diplopoda: Polydesmida: Paradoxosomatidae). Zootaxa 1563: 31-36.

Type material: Holotype, Museum of Zoology, Chulalongkorn University, Bangkok; paratypes, Chulalongkorn University and Natural History Museum of Denmark, University of Copenhagen.


ติดตามได้ที่: http://species.asu.edu/topten2008.php