ไก่ฟ้า ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน พิมพ์

เชื่อหรือไม่ว่า สัตว์ป่าอย่างไก่ฟ้า ก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลก

 

ในประเทศไทยมีนกที่จัดอยู่ในกลุ่มไก่ฟ้าทั้งหมด 10 ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีลักษณะถิ่นที่อยู่อาศัยแต่งต่างกันออกไป บางชนิดอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ระดับต่ำ หรือ low areas เช่น นกแว่นสีน้ำตาล (Polyplectron malacense) ไก่ฟ้าหน้าเขียว (Lophura ignita) และ ไก่ฟ้าพญาลอ (Lophura diardi) เป็นต้น

บางชนิดอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ระดับสูง หรือ montane areas เช่น ไก่ฟ้าหางลายขวาง (Syrmaticus humiae) และำไก่ฟ้าหลังขาว (Lophura nycthemera) เป็นต้น

แต่ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านปักษีวิทยา (คุณฟิลิป ดี ราวด์ และ ดร.จอร์จ เอ เกล) พบว่าในบริเวณพื้นที่รอบๆ ที่ทำการอุทยานแ่ห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ระดับสูง มีการพบเห็นไก่ฟ้าพญาลอ ซึ่งเป็นนกที่อาศัยอยู่ในระดับต่ำ เพิ่มมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านได้ให้ความเห็นว่า "น่าจะเกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้พื้นที่ระดับต่ำเกิดความแห้งแล้ง ในขณะที่พื้นที่ระดับสูงมีความชื้นในบรรยากาศสูงกว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระดับต่ำ อย่างไก่ฟ้าพญาลอจึงขยายขอบเขตการหากินออกไปในพื้นที่ที่สูงขึ้น และมีความชื้นมากกว่าพื้นที่อยู่อาศัยเดิม"

 

ทุกวันนี้เราจะสามารถพบเห็นไก่ฟ้าพญาลอ และไก่ฟ้าหลังขาว มาใช้พื้นที่หากินร่วมกัน ในบริเวณรอบที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และแปลงศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพมอสิงโต ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งการวมฝูงเพื่อหากินของไก่ฟ้าทั้งสองชนิดนี้ ไม่เคยมีรายงานมาก่อน จึงเกิดข้อสงสัยว่า ในอนาคตอาจจะเกิดการผสมข้ามสายพันธุ์ (Hybridization) ระหว่างไก่ฟ้าสองชนิดนี้ได้

 

และจากการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับการขยายพื้นที่หากินของไก่ฟ้าพญาลอ พบว่าแม้ไก่ฟ้าพญาลอจะขึ้นมาหากินในพื้นที่ระดับสูงขึ้น แต่มันก็ยังเลือกใช้บริเวณที่เป็นพื้นที่ราบ หรือลาดชันน้อย ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ในบริเวณพื้นที่ระดับต่ำ ในขณะที่ไก่ฟ้าหลังขาว มักจะเลือกใช้พื้นที่ที่มีความลาดชันสูง บริเวณไหล่เขา จึงเห็นได้ว่าแม้จะหากินอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ไก่ฟ้าทั้งสองชนิดก็ยังคงเลือกลักษณะพื้นที่หากินที่แตกต่างกัน

 

การศึกษานิเวศวิทยาของไก่ฟ้าพญาลอและไก่ฟ้าหลังขาว ณ แปลงศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพมอสิงโตในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จะยังคงดำเนินต่อไปเพื่อหาคำตอบที่ว่า เหตุใดไก่ฟ้าทั้งสองชนิดจึงเลือกใช้พื้นที่ที่มีความลาดชันแตกต่างกัน อีกทั้งจะเกิดอะไรขึ้นหากไก่ฟ้าพญาลอยังคงขยายพื้นที่หากินไปยังบริเวณที่สูงขึ้น จะเกิดการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไก่ฟ้าทั้งสองชนิดหรือไม่ ทั้งหมดนี้ยังเป็นเรื่องที่ยังต้องหาคำตอบและเฝ้าติดตามกันต่อไป

ข้อมูล/ภาพ นายนิติ สุขุมาลย์

เอกสารอ้างอิง

Johnsgard, P. (1999) The Pheasants of the world: Biology and Natural History.

Smithsonian Institution Press, Washington, D.C.

Robson, C. (2000) A field guide to the birds of South-East Asia. New Holland, London, England.

Round, P.D. & Gale, G.A. (2008) Changes in the status of Lophura pheasants in Khao Yai National Park, Thailand: a response to warming climate? Biotropica.