หอยหอม.......หอยแห่งภูเขา พิมพ์

หอยหอม (cyclophorid snails)  เป็นหอยทากบกกลุ่มที่มีฝาปิดเปลือก (operculum) จัดอยู่ในวงศ์ Cyclophoridae อาศัยอยู่บนพื้นดินที่ชื้นตามแนวเทือกเขาหรือที่ราบสูง โดยเฉพาะภูเขาหินปูน บางแห่งจึงเรียกหอยชนิดนี้ว่า หอยภูเขา ส่วนชื่อหอยหอมนั้น มีที่มาจากมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์เมื่อนำมาประกอบอาหาร เช่น ย่าง เผา หรือต้ม หอยหอมมีเปลือกหนาและแข็ง มีความกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตร สีเปลือกมีความผันแปรมากพบตั้งแต่ สีขาวขุ่น น้ำตาลเข้ม และสีดำ หลายชนิดเปลือกมีลวดลายสะดุดตา ที่สำคัญตัวเต็มวัยมักมีขอบปากเปลือกที่หนา หรือบานออกคล้ายปากแตร

ในฤดูฝนมักพบหอยหอมเดินบนเศษซากใบไม้  ในช่วงที่อากาศแห้งแล้งหอยหอมจะจำศีลหลบอยู่ในรูหรือโพรง หอยหอมมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหารในการเป็นผู้ย่อยเศษซากใบไม้ให้มีขนาดเล็กลง เพิ่มสารอินทรีย์ให้แก่ดิน นอกจากนี้หอยหอมยังถูกสัตว์อื่นกินเป็นอาหาร เช่น นก หนู สัตว์ฟันแทะอื่นๆ รวมทั้งลิงด้วย

ปัจจุบันมีรายงานชนิดของหอยหอมทั่วโลกมากกว่า 100 สปีชีส์ แพร่กระจายในประเทศแถบเขตร้อน และกึ่งเขตร้อนของทวีปเอเชีย ไทยพบแล้ว 10 สปีชีส์ จากการศึกษารูปแบบของโครโมโซมหรือคาริโอไทป์ พบว่ามีจำนวนโครโมโซม 2n = 28 และการวิจัยครั้งนี้เป็นการรายงานระบบโครโมโซมเพศแบบ ZW/ZZ (ZW type) ในหอยทากบกวงศ์นี้เป็นครั้งแรกของโลก




หอยหอม Cyclophorus saturnus จากอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว จ. จันทบุรี

หอยหอมเพศผู้แสดงอวัยวะสืบพันธุ์ อยู่ด้านขวาของลำตัวใกล้หนวด

 

ไข่หอยหอมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มม. ก่อนที่ตัวอ่อนจะฟักออกมาถุงหุ้มจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นใส



Cyclophorus aurantiacus เป็นหอยหอมชนิดที่มีขอบปากเปลือกหนาและมีสีส้มแดงสวยงาม




ก้อยหอยหอม (ยำอิสาน) โดยต้มให้สุกแล้วปรุงรสและเติมผัก

ข้อมูล/ภาพ น.ส. บังอร กองอิ้ม และ ศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหา 
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย