ชุดโครงการ “ขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้” พิมพ์

   p1   ประเทศไทยตั้งอยู่ในพื้นที่เขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีพื้นที่ประมาณ 513,115 ตร.กม. เป็นป่าเขตร้อนประมาณร้อยละ 25 และมีแนวชายฝั่งยาวประมาณ 2,600 กม.โดยมีพื้นที่ทางทะเลทั้งฝั่งตะวันออก คือ อ่าวไทยและฝั่งตะวันตกด้านทะเลอันดามันรวมกันทั้งหมดประมาณ 420,000 ตร.กม. ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และผลผลิตทางการประมงสูง อีกทั้งยังมีชายหาดที่ขาวสะอาด และแนวปะการังที่สวยสดงดงามรวมทั้งภูเขาสูงชันที่เหมาสำหรับการปีนเขา ซึ่งเป็นแหล่งดึงดูดการท่องเที่ยวทางทะเลได้เป็นอย่างดี

   ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศที่ก่อให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าและสร้างปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งนำไปสู่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างมากมาย  อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีทรัพยากรชีวภาพและความงามของธรรมชาติเหลืออยู่มากเพียงพอที่จะให้ความรื่นรมย์แก่ผู้มาเยือนและนักธรรมชาติวิทยารวมทั้งนักชีววิทยาด้วย ดังเช่นกรณีขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ซึ่งรวมเกาะสมุยในอ่าวไทย พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นสมบัติทางธรรมชาติที่มีทิวทัศน์สวยสดงดงามรวมทั้งชายหาดและแหล่งดำน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก อีกทั้งถ้ำที่สวยงามและความหลากหลายทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียนมประเพณีของชาวบ้าน ทำให้พื้นที่หมู่เกาะทะเลใต้ดึงดูดความสนใจและเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน

   Picture2  โครงการ BRT ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ชายฝั่งดังกล่าวจึงได้พัฒนาชุดโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ (area-based research) เรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล : ขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้” หมู่เกาะทะเลใต้ประกอบด้วยเกาะที่สำคัญ 5 เกาะ คือ เกาะแตน, เกาะราบ, เกาะวังนอก, เกาะวังใน และเกาะมัดสุ่ม ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งบริเวณพื้นที่ทะเลโดยรอบ เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและฝึกอบรมความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลสำหรับนักชีววิทยารุ่นใหม่ให้ทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตในทะเลแห่งนี้ที่ยังคงมีถิ่นอาศัยที่สมบูรณ์ ชุดโครงการวิจัยนี้มีระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ 2549-2551) โดยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการโดยกลุ่มนักวิจัยจากหลากหลายสาขาวิชาการ และเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างบูรณาการทั้งทางด้านชีวภาพและกายภาพ เพื่อสำรวจและประมวลความรู้พื้นฐานทางด้านทะเลไทย และเพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาวตามการตอบสนองต่อผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ โดยเฉพาะอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นและมลพิษทางน้ำ


   Picture3   ผลการวิจัยในพื้นที่ขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้มีความก้าวหน้าเป็นลำดับ และได้เปิดโลกใต้ทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเกื้อกูลสัตว์ประจำเขตที่มีจำนวนมากถึง 719 ชนิด ทั้งชนิดที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น โลมาสีชมพู (โลมาหัวบาตรหลังเรียบ), ดาวตระกร้าหรือดาวตาข่าย (Euryle aspera) , ดาวเปราะกัลปังหาร่อง (Ophiopsammium semperi) รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลที่ขึ้นอยู่หนาแน่นในพื้นที่ขนาดเล็กเพียง 0.1 ตร.กม. เท่านั้นซึ่งยังคงทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหารและอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญหลายชนิด นอกจากนั้นยังพบสาหร่ายทะเลมากกว่า 46 ชนิด รวมทั้งสาหร่ายใบมะกรูด (Halimeda macroloba) ที่นำคาร์บอนไดออกไซด์มาเปลี่ยนรูปเป็นหินปูนสะสมไว้ที่ใบ ซึ่งสามารถนำมาศึกษาวิจัยต่อยอดเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อนได้  นอกจากนั้นผลงานวิจัยในโครงการนี้ยังได้เปิดเผยสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ที่อยู่ใต้ทะเลที่มีความสัมพันธ์เกื้อกูลกันอย่างสมดุล ทำให้บริเวณขนอม - หมู่เกาะทะเลใต้ยังคงความอุดมสมบูรณ์และมีคุณค่าแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศไทย

    อาจกล่าวได้อย่างภาคภูมิใจว่าชุดโครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลที่ขนอมได้จุดประกายและสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในวารสารวิทยาศาสตร์ที่เป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาวิจัยต่อยอด ตลอดจนการตีพิมพ์ในสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือและสารคดีเพื่อปลุกจิตสำนึกของสาธารณชนและบุคคลทั่วไปให้รู้ถึงคุณค่าของทรัพยากรชีวภาพของไทย พร้อมกันนั้นยังได้เชื่อมโยงความรู้ไปสู่ท้องถิ่น โดยการจัดเวทีอบรมและการจัดค่ายเยาวชนเพื่อนำความรู้สู่ชุมชนและนักเรียนในท้องถิ่น เพื่อการบริหารจัดการและการอนุรักษ์โลมาสีชมพูและหิ่งห้อยเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ


   ชุดโครงการวิจัย “ขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้” ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ BRT ร่วมกับมูลนิธิโททาล (TOTAL FOUNDATION) สาธารณรัฐฝรั่งเศส และบริษัทโททาล อีแอนด์พี ไทยแลนด์ (TOTAL E&P THAILAND) ซึ่งประกอบธุรกิจด้านพลังงาน  และเป็นผู้ร่วมมือลงทุนสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย โดยบริษัทต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมเชิงบรรษัทหรือธุรกิจ (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ด้วยการสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกับโครงการ BRT และชุมชนท้องถิ่น เพื่อพยายามส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย


   หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาสาระและสีสันสวยสดงดงามของสิ่งมีชีวิตทางทะเลและระบบนิเวศเพื่อเป็นการแนะนำเบื้องต้นให้กับนักท่องเที่ยวและผู้รักธรรมชาติทั่วไปได้รับรู้เกี่ยวกับความมั่งคั่งทางชีววิทยา ทางวัฒนธรรม และทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ยังคงความเร้นลับอยู่ในพื้นที่ตอนใต้ของประเทศไทย


-------------------------------------------------------