ราทะเล ความหวังใหม่ของวงการยา พิมพ์

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในบริเวณอุทยานแห่งชาติขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สิ่งมีชีวิตที่เราสามารถมองเห็นได้ เพราะในโลกของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจำพวกแพลงก์ตอน แบคทีเรีย หรือแม้แต่เชื้อราก็มีความหลากหลายสูงมากเช่นเดียวกัน

 

ราทะเลเป็นเชื้อราประเภทหนึ่งที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาวะที่มีความเค็มสูงได้ ซึ่งเราสามารถพบราทะเลได้ในระบบนิเวศป่าชายเลน ป่าชายหาด หรืออยู่ในทะเลโดยจะเกาะอยู่ตามหญ้าทะเล หรือ สาหร่ายทะเล

 

         ดร. จริยา สากยโรจน์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ผู้ทำการศึกษาและเก็บตัวอย่างราทะเลในประเทศไทย ทำการศึกษาราทะเลที่สัมพันธ์กับหญ้าทะเล สาหร่ายทะเล และปะการัง บริเวณอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ภายใต้ชุดโครงการขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ พบว่าเฉพาะบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ราทะเลถึง 174 ชนิด ซึ่งถือว่าประเทศไทยยังมีความหลากหลายของราทะเลในระดับที่ดี

 

ราทะเลมักอยู่อาศัยในระบบนิเวศที่มีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางกายภาพอยู่ตลอดเวลา ทำให้มีการแข่งขันเพื่อความอยู่รอดในระบบนิเวศสูง ราทะเลจึงต้องสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพขึ้นเพื่อป้องกันตัวเองสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และเพื่อความอยู่รอด ซึ่งสารดังกล่าวอาจมีศักยภาพในการสร้างสารต้านจุลินทรีย์ ที่เป็นทางเลือกในการศึกษาค้นคว้าสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพชนิดใหม่ และพัฒนาไปเป็นยาชนิดใหม่ ทดแทนตัวเดิมๆ ที่อาจดื้อยา เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวและกลายพันธุ์ของเชื้อโรคมีมากขึ้น"

 

 จากตัวอย่างราทะเลที่พบในบริเวณดังกล่าว ได้มีการคัดเลือกราทะเลบางส่วนมาตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อค้นหาฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรค ได้แก่ แบคทีเรียกรัมบวก แบคทีเรียกรัมลบ และยีสต์ก่อโรค  ผลการทดสอบน้ำเลี้ยงเบื้องต้นปรากฎว่า ราทะเลที่เลือกมาทดสอบ 132 สายพันธุ์ มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรคทั้งสิ้นประมาณ 19% ทั้งนี้ราที่คัดแยกได้ทั้งหมดได้เก็บรักษาไว้ที่ห้องปฏิบัติการเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์หรือธนาคารจุลินทรีย์ ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ภายใต้สภาวะที่เหมาะสมและปลอดภัย และยังส่งตัวอย่างราทะเลไปสกัดด้วยตัวทำละลายชนิดต่างๆ เพื่อทดสอบหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเชิงลึกในห้องปฏิบัติการอื่นๆ ต่อไป ดร.จริยา กล่าว

 

 

  

                                              

รา  Aigialus parvus ผลิตสารที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย     เชื้อราที่พบตามเปลือกไม้ ซากใบไม้ในป่าชายเลน