“กัลปังหา” หนวดพิษในม่านพริ้วไหว พิมพ์

         กัลปังหา (Gorgonians) เป็นสิ่งมีชีวิตในทะเลที่บางชนิดมีรูปร่างแผ่แบนคล้ายพัด ก็จะเรียกว่าพัดทะเล (Sea fan) หรือบางชนิดมีลักษณะเป็นเส้นเดี่ยวคล้ายแส้ ก็จะเรียกว่าแส้ทะเล (Sea whip) ซึ่งถ้ามองเผินๆ แล้วกัลปังหาจะดูเหมือนต้นไม้ แต่ความจริงแล้ว กัลปังหาเป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับปะการัง แต่ถูกแยกออกมาเป็น Subclass Octocorallia ซึ่งมีสมมาตรของร่างกายแบบรัศมี นอกเหนือจากรูปร่างลักษณะภายนอกที่เห็นแตกต่างกับปะการังแข็งแล้ว ตัวของกัลปังหาหรือที่เรียกว่า “โพลิป” (Polyp) แต่ละตัวนั้นจะมีหนวด (Tentacle) 8 เส้น ในขณะที่โพลิปของปะการังแข็งแต่ละตัวจะมีหนวด 6 เส้น หนวดเหล่านี้มีลักษณะคล้ายขนนก ทำหน้าที่กรองดักสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในมวลน้ำแล้วนำมากินเป็นอาหาร บริเวณหนวดของมันยังมีเข็มพิษที่คอยช่วยในการจับเหยื่อพวกแพลงก์ตอนสัตว์อีกด้วย โดยจะพบกัลปังหามากในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล เนื่องจากกระแสน้ำมีส่วนช่วยในการพัดพาอาหารมาให้ และช่วยพัดพาสิ่งขับถ่ายหรือของเสียที่ถูกปลดปล่อยจากตัวกัลปังหาออกไป

         กัลปังหาสามารถสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศเช่นเดียวกับปะการัง การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้นใช้วิธี “แตกหน่อ” (Budding) หรือ “การแยกออกจากกัน” (Fragmentation) ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเป็นการผสมภายในระหว่างเซลสืบพันธุ์ของเพศผู้และเพศเมียที่มาจากต่างโคโลนี (Colony) กัน โดยที่แต่ละโคโลนีของกัลปังหาส่วนใหญ่จะมีเซลสืบพันธุ์เพียงเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

        กัลปังหามีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ทะเลขนาดเล็ก หลายชนิด ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ อาจพบดาวเปราะ หอยเบี้ย ปู หรือกุ้ง เกาะติดอยู่ตามกิ่งก้านของกัลปังหาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้ว การที่กัลปังหามีรูปร่างและสีสันที่สวยงาม จึงเป็นที่นิยมในการนำมาประดับตู้ปลา และนำมาใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งนำส่วนที่เป็นแกนในสีดำมาทำเป็นครื่องรางของขลัง และที่สำคัญ ชาวจีนโบราณมีความเชื่อว่ากัลปังหาเป็นสมุนไพรที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง

Ctenocella sp. Melithaea sp.

Junceella sp. Mopsella sp.

กัลปังหาที่มีรูปร่างแตกต่างกันไป ซึ่งจะแผ่กิ่งก้านเพื่อกรองดักสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มากับกระแสน้ำ

เรื่องและภาพ : วรณพ วิยกาญจน์
ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย