ไรน้ำนางฟ้าที่ตำบลห้วยเขย่ง พิมพ์

พื้นที่ตำบลห้วยเขย่งตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรีที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 162-286 เมตร จากการสำรวจไรน้ำนางฟ้าพบว่ามีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ไรน้ำนางฟ้าไทยและไรน้ำนางฟ้าสิรินธร  พบอยู่ตามแหล่งน้ำชั่วคราวที่มีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและแห้งในฤดูแล้ง และอยู่นอกพื้นที่ที่มีน้ำไหลบ่าในช่วงที่ฝนตก

ไรน้ำนางฟ้าไทย ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร

                      ไรน้ำนางฟ้าไทย                                          ไรน้ำนางฟ้าสิรินธร

แหล่งน้ำที่มีลักษณะดังกล่าวถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดเท แต่ก็พบแหล่งน้ำที่มีสภาพเหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยของไรน้ำนางฟ้ากระจายอยู่ทั่วพื้นที่ในตำบลห้วยเขย่ง แหล่งน้ำที่พบไรน้ำนางฟ้าประกอบด้วยแอ่งข้างถนน คูระบายน้ำธรรมชาติ แอ่งตื้นในแปลงนา แอ่งรับน้ำ บ่อตื้น และบ่อลึกที่ขุดไว้สำหรับเก็บกักน้ำ โดยพบไรน้ำนางฟ้าถึงร้อยละ 73 ของแหล่งน้ำที่สำรวจ (19 แหล่งจาก 26 แหล่ง) นอกจากนี้ยังพบว่าทั้งไรน้ำนางฟ้าไทย และไรน้ำนางฟ้าสิรินธร อาศัยอยู่ร่วมกันหรือแยกกันอยู่ในแต่ละแหล่งน้ำ จำนวนแหล่งน้ำที่พบไรน้ำนางฟ้าทั้ง 2 ชนิดอยู่ร่วมกันคิดเป็นร้อยละ 36.84 ส่วนที่พบเฉพาะไรน้ำนางฟ้าสิรินธรคิดเป็นร้อยละ 42.11 และที่พบเฉพาะไรน้ำนางฟ้าไทยคิดเป็นร้อยละ 21.05

ไรน้ำนางฟ้าที่อยู่บนพื้นที่สูงนี้มีพฤติกรรมการฟักแตกต่างจากไรน้ำนางฟ้าที่อยู่ตามพื้นราบอย่างชีวิตมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ การฟักเป็นตัวจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเติมน้ำครั้งที่ 2 และ 3 ซึ่งการฟักทั้งสองครั้งนี้มีจำนวนใกล้เคียงกัน

ถ้าชาวบ้านในตำบลห้วยเขย่งเก็บไข่ไรน้ำนางฟ้าในท้องถิ่นมาฟักเพื่อการเพาะเลี้ยงจะต้องเติมน้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง จึงจะได้ไรน้ำนางฟ้าในปริมาณที่มากพอ โดยครั้งแรกเติมน้ำและปล่อยไว้ 1 วัน จึงเทน้ำออก ตากแดดไว้ 3 วันและเติมน้ำใหม่เพื่อกระตุ้นการฟักครั้งที่ 2 และ 3 ตามลำดับ หลังจากเติมน้ำแล้วควรปล่อยไว้ 5 วัน จึงเทน้ำออกพร้อมกับแยกไรน้ำนางฟ้าออกมาเลี้ยงในน้ำที่สะอาด ส่วนไข่ที่เหลือนำไปตากแดดก่อนที่จะนำมาฟักอีกครั้งหรือหลายครั้ง จากดินประมาณ 1 กิโลกรัม จะได้ไรน้ำนางฟ้า 1-10 ตัว

เรื่องและภาพ : นุกูล แสงพันธุ์ และราเมศ  ชูสิงห์
คณะวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี