ค้างคาวกิตติ...สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เล็กที่สุดในโลก พิมพ์

ค้างคาวกิตติ (Craseonycteris thonglongyai)ค้างคาวกิตติ Kitti’s Hog-nosed Bat (Craseonycteris thonglongyai) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก (โดยน้ำหนัก) โดยมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 2 กรัม มีความยาวปีกเหยียด 2 ข้าง (wingspan) ประมาณ 15 ซม. ความยาวแขนช่วงข้อมือถึงข้อศอก (forearm) ประมาณ 25 มม. หน้ามีจุดเด่นที่จมูกขนาดใหญ่มองดูคล้ายจมูกหมู ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “Hog-nosed Bat” ขนตามลำตัวค่อนข้างยาว สีขนมีทั้งที่เป็นสีเทา และสีน้ำตาล กินแมลงเป็นอาหาร โดยจะออกไปหากินนอกถ้ำเพียงวันละ 2 ครั้ง คือในตอนเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้นประมาณครึ่งชั่วโมง และตอนเย็นหลังพระอาทิตย์ตกประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง และใช้เวลาถึงวันละประมาณ 23 ชั่วโมงอาศัยอยู่ในถ้ำ

ค้างคาวกิตติถูกค้นพบเป็นครั้งแรกที่ถ้ำวังพระในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ในปี พ.ศ. 2516 โดย คุณกิตติ ทองลงยา นักอนุกรมวิธานชาวไทย ซึ่งหลังจากได้มีการตรวจสอบและทบทวนเอกสารทางด้านอนุกรมวิธานแล้ว จึงได้รับการประกาศเป็นชนิดใหม่ของโลก (new species) ในปี พ.ศ. 2517 พร้อมๆ กับการประกาศยอมรับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก (โดยน้ำหนัก)

เมื่อเริ่มแรกที่มีการค้นพบค้างคาวกิตติ เชื่อกันว่าค้างคาวกิตติเป็นสัตว์ถิ่นเดียวมีการกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะทางตะวันตกของประเทศไทย บริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2544 มีการพบประชากรค้างคาวกิตติทางตะวันออกของประเทศพม่าด้วย โดยประชากรค้างคาวกิตติที่พบทั้งในไทยและพม่ามีรูปร่างลักษณะภายนอกเหมือนกัน แต่พบความแตกต่างกันในเรื่องของการใช้คลื่นเสียงในการนำทางหรือกำหนดทิศทาง (echolocation) ซึ่งต้องการการตรวจสอบอย่างละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการของทั้งสองประชากรต่อไป

ค้างคาวกิตติมีลูกในช่วงฤดูแล้งระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกจะอาศัยเกาะอกแม่ จนกระทั่งสามารถออกไปเกาะอยู่อิสระและบินออกไปหากินได้ด้วยตัวเอง ในขณะที่ลูกค้างคาวยังช่วยตัวเองไม่ได้และแม่ค้างคาวออกไปหากิน มันจะทิ้งลูกเกาะไว้ในถ้ำ

จากการสำรวจถ้ำในเขตจังหวัดกาญจนบุรี พบค้างคาวกิตติจำนวน 35 ถ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่กระจายอยู่ในเขตอำเภอไทรโยคมากถึง 23 ถ้ำ (ประมาณ 66% จากจำนวนถ้ำทั้งหมดที่พบ) ส่วนที่เหลือพบในเขตอำเภอทองผาภูมิ ท่าม่วง และอำเภอเมือง จำนวน 7, 2 และ 3 ถ้ำ ตามลำดับ

สำหรับภัยคุกคามต่อประชากรค้างคาวกิตตินั้นมีทั้งการล่าค้างคาวโดยตรง และการใช้ประโยชน์ในถ้ำที่อยู่อาศัยของค้างคาวไม่ว่าจะเป็นการพักแรม การอยู่อาศัย การประกอบพิธีกรรม การท่องเที่ยว การเก็บ-ขุดปุ๋ยขี้ค้างคาว การขุดถ้ำ การสูบน้ำในถ้ำ ล้วนมีผลทำให้จำนวนประชากรและการปรากฏตัวของค้างคาวกิตติมีแนวโน้มลดลงเมื่อมีการรบกวนภายในถ้ำเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่รอบๆ ถ้ำ ก็เป็นอุปสรรคต่อการใช้พื้นที่หากิน เนื่องจากค้างคาวกิตติหลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่บางลักษณะ เช่น พื้นที่โล่งกว้างอย่างไร่มันสำปะหลัง

เรื่องและภาพ : สุรพล ดวงแข
มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย