ตะลึง!!!! นมแดง ซ่อนตัวในป่าทองผาภูมิ พิมพ์

           นมแดงทองผาภูมิ พืชสกุล “นม” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyaltia kanchanaburiana จัดอยู่ในสกุล Pollyaltia วงศ์  Annonaceae หรือวงศ์กระดังงานั่นเอง สมาชิกของสกุลนี้ที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดีมีอยู่หลายชนิด เช่น นมแมว  นมน้อย

นมแดงทองผาภูมิ (Polyaltia kanchanaburiana)


           พืชชนิดนี้มีลักษณะเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง 1-2.5 เมตร ดอกออกเป็นช่อ 2-3 ดอกต่อหนึ่งช่อ ออกตามบริเวณลำต้นและกิ่งก้าน กลีบดอก 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ เมื่อยังอ่อนสีเขียวสด เมื่อแก่สีเหลือง บริเวณโคนกลีบดอกเป็นสีแดง  เกสรตัวผู้สีชมพู  ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างจากพืชชนิดอื่นในสกุลนี้ ผลกลุ่มเมื่อยังอ่อนสีเขียว เมื่อแก่กลายเป็นสีน้ำตาลแดง ออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน หากใครพลาดช่วงออกดอก ก็จะสามารถเห็นผลได้ในระหว่างเดือน พฤษภาคม-พฤษจิกายน


           นมแดงทองผาภูมิถูกค้นพบครั้งแรกบริเวณพุปูราชินี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี  โดยนางสาวสมพร คำชมภู และ รศ.อารีย์ ทองภักดี นักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เข้าไปทำวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพของพืชวงศ์กระดังงาในพื้นที่นี้ด้วยการสนับสนุนของโครงการ BRT

ข้อมูลอ้างอิง: Thai Forest Bulletin (Botany) No. 33 หน้า 35-41
รูปประกอบ: นางสาวสมพร คำชมภู