RocketTheme Joomla Templates
ผลการดำเนินงานระยะที่ 1 PDF พิมพ์ อีเมล

        ผลการดำเนินงานในช่วงเวลา 3 ปี ( 2545- 2547) มีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี มีโครงการวิจัยและวิทยานิพนธ์เข้าร่วมในชุดโครงการรวมทั้งสิ้น 62 เรื่อง ประกอบด้วยงานวิจัยด้านพืชทั้งที่มีท่อลำเลียงและไม่มีท่อลำเลียงสัตว์ มีกระดูกสันหลังและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง จุลินทรีย์ การศึกษาวิจัยชุมชนท้องถิ่น การจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสน เทศภูมิศาสตร์ และการเข้ามาร่วมขบวนการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะการวิจัยภาคสนามและการเป็น "นักธรรมชาติ วิทยา" ของผู้ช่วยนักวิจัยระดับปริญญาตรีจำนวนทั้งสิ้น 13 คน ข้อมูลจากการวิจัยบางส่วนได้รับการบันทึกข้อมูล ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเห็นภาพการกระจายตัวของงานวิจัยในระบบนิเวศต่างๆ ในภาพกว้างซึ่งจะช่วย ในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นร่วมกันได้ซึ่งพอจะสรุปกิจกรรมในด้านต่างๆ ได้ดังนี้       

        การขับเคลื่อนชุมชน 8 หมู่บ้านในตำบลห้วยเขย่ง ได้มีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำในการประสานงาน ระหว่างโครงการ BRT และหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้ามาร่วมอีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ โครงการหลวง กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น การพัฒนาชุมชนใช้ฐานความคิดของการสร้างพลังชุมชนด้วยตัวของชุมชนเอง การทำงานจึงต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันโดยการจัดเวทีพูดคุยระหว่างผู้ทำงานและชาวบ้านเป็นระยะๆ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาปรากฏผลสำเร็จพอสมควร ได้แก่ การตั้งกลุ่มแกนนำชาวบ้านเพื่อดูแลงานด้านต่างๆ ของชุมชน การจัดตั้งสภาผู้นำชาวบ้านเพื่อเป็นศูนย์รวมในการพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนขับเคลื่อนชุมชนหลายๆ ฝ่าย มีการศึกษาหาข้อมูลพื้นฐานของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐศาสตร์ครัวเรือน เช่น รายรับรายจ่ายของแต่ละครัวเรือน ซึ่งทำให้ชาวบ้านเริ่มเห็นภาพของค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และหนี้สินรวมของแต่ละหมู่บ้าน ทำให้ชุมชนต้องทบทวนสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองมากยิ่งขึ้น มีการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้นำจุดเด่นของภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มาเป็นฐานในการสร้างงานและอาชีพให้กับชุมชน

        นอกจากนี้ ในเวทีชาวบ้านยังได้มีการพูดคุยเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการปนเปื้อนของแหล่งน้ำด้วยสารเคมีต่างๆ แนวทางการอนุรักษ์แหล่งน้ำส่วนการพัฒนาด้านการเกษตรได้มีโครงการใหม่เข้ามาเสริมอีกหลายโครงการ เช่น การส่งเสริมให้ปลูกยางพาราเพื่อเป็นพืชกันชนให้กับพื้นที่อนุรักษ์การพัฒนาที่ดินด้วยการปลูกหญ้าแฝกคลุมหน้าดิน เป็นต้น ส่วนในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพก็ได้มีการนำความรู้จากการศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปเสวนาในเวทีชาวบ้านเป็นระยะๆ เช่น การจัดให้พื้นที่พุหนองปลิงเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและครูกับนักเรียนที่บ้านท่ามะเดื่อ การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สัตว์หน้าดินเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำอย่างง่าย การนำกลุ่มผู้ช่วยนักวิจัยรุ่นใหม่เข้าไปเผยแพร่ผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านรวมทั้งการทำกิจกรรมด้านวัฒนธรรมประเพณีร่วมกับชาวบ้านเพื่อจะได้เข้าใจปัญหาจุดอ่อนและจุดแข็งของชุมชนเพื่อนำมาปรับกระบวนการสร้างโจทย์วิจัยที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนได้ต่อไป        

        ในด้านการวิจัยได้ค้นพบชุดความรู้ซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่รอคอยการนำมาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นคือทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่อย่างมากมายหลากหลายทั้งจุลินทรีย์ พืช สัตว์ทั้งบนบก ในดิน และในน้ำ ซึ่งนอกจากจะใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้านได้แล้ว ยังช่วยพัฒนาคน การศึกษา ดำรงรักษาวิถีชีวิต และศักดิ์ศรีความภูมิใจของตนท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ โดยมีสรุปผลการวิจัยที่น่าสนใจไว้ดังนี้

ระบบนิเวศทางน้ำ :        

        ผลงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการรายงานคุณภาพน้ำทั้งทางกายภาพและชีวภาพในลำธารสายต่างๆ ในตำบลห้วยเขย่ง โดยพบว่าลำน้ำส่วนใหญ่ยังมีคุณภาพน้ำที่ดีถึงปานกลาง ถึงแม้ว่าจะมีการปนเปื้อนจากสารเคมีจากการเกษตร เช่น การใช้ปุ๋ย การพังทลายของดิน และการสะสมของตะกอนละเอียดปกคลุมท้องน้ำ แต่เนื่องจากสารเคมีและการรบกวนดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่ธรรมชาติพอรับได้ และด้วยพลังของธรรมชาติทำให้การปนเปื้อนเหล่านั้นเจือจางไปโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาลำน้ำ เพียงแต่ดูแลรักษาระบบของธรรมชาติให้มีสมดุล และไม่สร้างมลพิษมากเกินกว่าธรรมชาติจะรับไหว ธรรมชาติก็จะช่วยบำบัดไปเอง วิธีการนี้ตามหลักวิทยาศาสตร์เรียกว่าเป็นการใช้ธรรมชาติเป็นแหล่งให้บริการทางระบบนิเวศ (ecological services)   

        ในส่วนของการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในลำน้ำ พบว่า ที่ทองผาภูมิตะวันตกมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูงมาก และหลายชนิดสามารถนำมาใช้เป็นดัชนีในการบ่งบอกคุณภาพของลำน้ำได้ เช่น สาหร่าย ไรน้ำ ไดอะตอม และแมลงน้ำ ซึ่งแต่ละชนิดมีศักยภาพและมีความโดดเด่นแตกต่างกันไป พื้นที่ทองผาภูมิยังเป็นแหล่งที่ค้นพบ "สาหร่ายสีแดงน้ำจืด" ซึ่งปกติแล้วจะพบได้ยากมากในพื้นที่อื่นๆ แสดงถึงความพิเศษของพื้นที่ที่น่าจะได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดต่อไป การตรวจสภาพแหล่งน้ำที่ถูกรบกวนและไม่ถูกรบกวนก็สามารถใช้สิ่งมีชีวิตในลำน้ำเป็นดัชนีชี้วัดได้ เพราะได้มีผลการวิจัยบ่งบอกว่า แมลงเกาะหินและริ้นดำบางชนิด สามารถเป็นตัวบ่งชี้สภาพของแหล่งน้ำเหล่านี้ได้ ผลการวิจัยเช่นนี้ถ้าทำต่อเนื่องและติดต่อกันไปเป็นระยะเวลายาวนานโดยชาวบ้านและครูกับนักเรียน ก็จะทำให้ทราบพลวัตของการเปลี่ยนแปลงลำน้ำทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ซึ่งจะทำให้การดูแลรักษาลำน้ำเกิดขึ้นทันทีโดยคนในชุมชนเอง    

        นอกจากนั้น ยังพบสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนได้ด้วย เช่น ไรน้ำ บางชนิดมีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนเนื่องจากมีขนาดโตกว่าไรน้ำตัวอื่นๆ และมีความหนาแน่นสูงมากที่ลำน้ำห้วยเขย่ง หรือกุ้ง Macrobrachium yui เป็นกุ้งท้องถิ่นที่โตเร็ว ทนทานต่อโรค สามารถเพาะเลี้ยงได้ง่าย น่าจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่นิยมทานของในท้องถิ่นที่เป็นอาหารประเภท Green food ได้อีกด้วย ส่วนมวนน้ำในทองผาภูมิตะวันตกมีความหลากหลายทางชีวภาพ สูงมากประกอบกับมีรูปร่างและพฤติกรรมรวมทั้งวงจรชีวิตที่น่าสนใจ จึงน่าจะนำองค์ความรู้ของมวนน้ำเข้ามาสู่ กระบวนการเรียนรู้ของชุมชนและเยาวชนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ระบบนิเวศทางบก :      

        ผลการศึกษาระบบนิเวศทางบกอาจทำให้อุปมาอุปมัยได้ว่า ทองผาภูมิตะวันตกคือประเทศไทยเพราะพบว่ามีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่ค้นพบมีการกระจายที่แปลก คือ สามารถพบได้ทั้งทางเหนือและทางใต้ จึงอาจกล่าวได้ว่า ทองผาภูมิตะวันตกเป็นแหล่งรวมความหลากหลายของพรรณสัตว์ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นคำถาม ที่ยังรอคำตอบอยู่ เช่น เทียนลิง (Dendrobium trinervium) เป็นกล้วยไม้ที่พบยาก มีรายงานว่าพบที่จังหวัดสตูลและ จังหวัดพังงาเท่านั้น แต่ก็มาพบที่ทองผาภูมิตะวันตก คางคกห้วยอินทนนท์ (Ansonia inthanon) ซึ่งเคยสำรวจพบ ที่ดอยอินทนนท์แต่การกระจายกระโดดมาที่ อ.ทองผาภูมิ เฟิร์น (Asplenium perakense) มีรายงานว่าเป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์เฉพาะทางภาคใต้ทางนั้น แต่ก็มาพบที่ทองผาภูมิตะวันตก เป็นต้น      

        นอกจากนั้น ผลงานวิจัยบางส่วนที่ค้นพบยังมีความสำคัญทางวิชาการ เช่น การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ๆ ที่ค้นพบเป็นครั้งแรกของโลก (new species) และค้นพบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (new record) เช่น เอื้องสิงโตทอง ผาภูมิ เอื้องหมากทองผาภูมิ ผีเสื้อหนอนม้วนใบ เฟิร์น กบ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ ในขณะเดียวกันหอยบางชนิด เช่น หอยต้นไม้ลายที่พบเป็นชนิดเด่นในพื้นที่ทองผาภูมิตะวันตก ก็เป็นกุญแจที่สำคัญในการวิจัยเชิงวิวัฒนาการของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอีกด้วย สัตว์บางชนิดเช่น มด สามารถใช้ในการบ่งชี้สภาพแวดล้อมและสังคมพืชได้ และผลงานวิจัยบางเรื่องยังมีความเชื่อมโยงและสำคัญต่อการเกษตรของชุมชน เช่น ผึ้งชันโรงที่ช่วยในการผสมเกสร ซึ่งหากสามารถทำการเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้จะช่วยทำให้สวนผลไม้ของเกษตรกร ติดดอกออกผลและมีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น      

        การศึกษาสัตว์ท้องถิ่นบางชนิดที่สำคัญ เช่น ปูราชินี ซึ่งเป็นปูเฉพาะถิ่นที่มีความสวยงามและเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ทองผาภูมิตะวันตก แต่ที่ผ่านมามีงานวิจัยน้อยมาก ข้อมูลจากการศึกษาที่ได้ในครั้งนี้มีความน่าสนใจหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความแปรผันด้านสีสันของปูราชินี ที่มีความหลากหลายมากตั้งแต่ปูราชินีที่มีก้ามขาขาวไปจนถึงปูราชินีที่มีก้ามขาสีส้ม การศึกษาลักษณะของรูปูราชินีที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป รวมทั้งพฤติกรรมบางประการ เช่น การเปลี่ยนถ่ายน้ำ การขุดรู การพ่นน้ำ การออกไข่ ตลอดจนการแพร่กระจายของปูราชินีที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะช่วยทำให้การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรปูราชินีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น    

        ผลการศึกษาพืชในกลุ่มเฟิร์นหลายชนิดสามารถใช้เป็นดัชนีชี้วัดพื้นที่ป่าธรรมชาติเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ถูกรบกวนได้ เช่น ตามแนวท่อก๊าซ หรือบริเวณเหมืองร้าง เป็นต้น โดยสามารถแบ่งเฟิร์นได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีบริเวณตามแนวท่อก๊าซ และอีกกลุ่มหนึ่งที่เลือกจะเจริญในพื้นที่ตามธรรมชาติ การพบกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเป็นพิเศษ ก็จะเป็นดัชนีบ่งชี้สภาพของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นการศึกษาวิจัยในกลุ่มพืชบางชนิดยังได้เพิ่มมิติทางด้านการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมเข้ามาด้วย เช่น การรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นจากไผ่ วัฒนธรรมจากการปลูกข้าว ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากพืชผักพื้นบ้าน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล   

       พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีระบบนิเวศพิเศษที่เรียกว่า "พุ" ยังเป็นแหล่งสะสมพันธุกรรมของพืชและสัตว์ที่หายากบางชนิด เช่น กระชายสยาม ซึ่งเป็นพืชเฉพาะถิ่น เทียนลิง กล้วยไม้ที่จัดว่าเป็นพืชหายาก และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกบางชนิดที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เป็นต้น และที่น่าสนใจ คือ การศึกษาปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศที่มีเนื้อที่ขนาดเล็ก เช่น การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิตในสังคมเตยหนาม ความสัมพันธ์ระหว่างนกและพืชอาหารนก เป็นต้น น่าจะเป็นแบบจำลองในการศึกษาวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในเชิงลึกได้อย่างเป็นระบบ   

       ผลงานดังข้างต้นเป็นเพียงภาพสรุปของการดำเนินงานด้านต่างๆ ในชุดโครงการวิจัยทองผาภูมิตะวันตกที่กำลังอยู่ในระหว่างการสอดสานและขยายผลร่วมกันระหว่างนักวิจัย นิสิตนักศึกษา ผู้ช่วยนักวิจัย และผู้ที่มีส่วนร่วมทุกคนผล การดำเนินงานทั้งหมดคงไม่สามารถนำมากล่าวไว้ในที่นี้ได้

เอื้องหมากทองผาภูมิ เฟิร์นตามแนวท่อก๊าซ นมแดงทองผาภูมิ

หอยข้าวสาร ปูราชินี ไรน้ำนางฟ้า

 


สุดยอดช๊อดเด็ด
เรามี 106 บุคคลทั่วไป ออนไลน์