โฮย่า (Hoya) ชนิดใหม่ของโลก พิมพ์
Hoya balaensis Kidyoo & Thaithong         โฮย่าชนิด Hoya balaensis Kidyoo & Thaithong เป็นชนิดใหม่ของโลกที่พึ่งสำรวจพบ โดย ดร.มานิต คิดอยู่ และคณะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีลักษณะเป็นไม้เลื้อย ใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ช่อดอกคล้ายแบบช่อซี่ร่ม (umbelliform) มีกลีบดอกสีครีมหรือขาวอมเหลือง กระบังรอบ (corona) เป็นรูปดาวห้าแฉกสีขาวอมชมพูสวยเด่น และกลุ่มเรณู (pollinium) สีเหลือง พบโฮย่าชนิดใหม่นี้ขึ้นอยู่ในป่าดิบชื้น โดยพันรอบต้นไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 200 เมตร ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2547


        โฮย่าอยู่ในกลุ่มพืชที่มียางสีขาวคล้ายนม (milkweed family, Asclepiadaceae) กลุ่มเดียวกับพวกดอกรักที่นำมาร้อยพวงมาลัย ลักษณะเด่นจะมียางสีขาวทั่วทั้งต้น คล้ายน้ำยางของพวกยางพารา และมีช่อดอกสวยงาม พืชสกุลนี้สามารถพบได้ในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย ทั่วโลกน่าจะมีสมาชิกมากกว่า 100 ชนิด ในไทยพบประมาณ 40 ชนิด  


        เป็นที่น่าภูมิใจสำหรับคนไทยที่มีพืชพันธุ์หลากหลายชนิดอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลาที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหารของสัตว์ และเป็นแหล่งสนองปัจจัย 4 ให้กับชาวบ้านในแถบนั้นได้ใช้สอย อีกทั้งยังเป็นแหล่งห้องสมุดที่มีชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง



ผลงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร BLUMEA

อ้างอิง : Kidyoo, M. and Thaithong, O. 2007. A New Species of Hoya (Asclepiadaceae) from Southern Thailand. BLUMEA, 52: 327-330.

ข้อมูล/ภาพ : ดร.มานิต คิดอยู่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย